คำว่า “กลุ่มจัดตั้ง” กินความกว้างกว่ากลุ่มปฏิบัติการเฉพาะกิจหรือกลุ่มศึกษาเฉพาะด้าน ในที่นี้กลุ่มจัดตั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในคำจำกัดความของ ActLab หมายถึงกลุ่มที่ทำงานทั้ง 3 ส่วนควบคู่กัน นั่นคือ งานจัดการศึกษา งานจัดองค์กร และลงมือปฏิบัติการ
กลุ่มจะยกระดับเติบโตและเข้มแข็งขึ้นก็ด้วยกระบวนการทำงานทั้ง 3 ส่วนนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น ขาดขาใดขาหนึ่งไปไม่ได้ เช่นถ้าทำแต่งานจัดการศึกษากลุ่มก็จะกลายสภาพเป็นกลุ่มศึกษา ถ้ามุ่งงานจัดองค์กรก็จะไปสู่การเป็นชมรม ชุมนุม สโมสร องค์การ พรรค ขณะที่ถ้าทำแต่งานเคลื่อนไหวก็จะเป็นกลุ่มปฏิบัติการในประเด็นนั้นๆ
ไม่ว่ากลุ่มศึกษา ชมรม/องค์การ หรือกลุ่มปฏิบัติการ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่สิ่งที่เรากำลังนำเสนอในที่นี้คือการเป็น “กลุ่มจัดตั้งที่มีปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม”
งานจัดการศึกษาถือเป็นขาหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการจัดตั้งกลุ่ม เมื่อพูดถึงงานจัดการศึกษาบางคนอาจนึกถึงหนังสือเอกสารเป็นตั้งๆ ทฤษฎีความรู้ชวนหนักอึ้ง นักปรัชญานักคิดนักดีเบตมาเต็ม เครียดปวดหัวไม่สนุกจนขอโบกมือลาเลยก็มี
อันที่จริงงานจัดการศึกษามีหลายรูปแบบแล้วแต่กลุ่มจะออกแบบ เท่าที่ประมวลได้มี 6 รูปแบบดังนี้
1. วงจัดการศึกษา
มีเป้าหมายเพื่อเปิดมุมมองใหม่ ทำให้เข้าใจชุดภาษาเดียวกัน เติบโตทางความคิดไปด้วยกัน
เมื่อสมาชิกกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันว่าอยากเรียนรู้เรื่องนี้ก็อาจเชิญวิทยากรมาจัดเวิร์กชอป จัดอบรม เสวนา ตั้งวงศึกษา เพื่อนสอนเพื่อน ดูหนังฟังเพลง อ่านหนังสือหรือเอกสารแล้วมาอภิปรายร่วมกันโดยอาจใช้ชุดคำถามดังนี้ งานชิ้นนี้เสนออะไร? / เราเห็นด้วยเรื่อง… เพราะ…? / เราไม่เห็นด้วยเรื่อง…เพราะ…? / เรายังไม่เข้าใจเรื่อง…? เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างทั่วถึงและทุกคนได้เรียนรู้และเติบโตทางความคิดจากวงจัดการศึกษาแต่ละครั้ง
2. ค่าย
ค่ายคือการสร้างสังคมจำลองอุดมคติที่มีความเท่าเทียม มีเสรีภาพ มีการทำงานร่วมกัน มีบรรยากาศของการมีส่วนร่วม มีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น มีการสร้างข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน ค่ายในแบบของเราจึงแตกต่างจากค่ายทหาร ค่ายลูกเสือ ค่ายคุณธรรม หรือค่ายที่ใช้ระบบโซตัสอำนาจนิยมเป็นศูนย์กลาง
การทำค่ายคือเครื่องมือหนึ่งของงานจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นค่ายอาสา ค่ายสร้าง ค่ายศึกษา ค่ายอบรมฝึกทักษะ ค่ายสัมมนา สมัชชา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม สมาชิกได้ใช้ชีวิตรวมหมู่ ณ ชั่วขณะหนึ่ง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เติบโตทางความคิดไปด้วยกัน
3. ลงพื้นที่
การลงพื้นที่มีหลายเป้าหมาย เช่น ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ต้องเข้าไปในพื้นที่เพื่อรู้ข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย หรือลงพื้นที่เพื่อจัดตั้งกลุ่มชาวบ้าน ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมประวัติศาสตร์หรือเชื่อมสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ ตลอดจนลงพื้นที่เพื่อไปปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย
การลงพื้นที่เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้ได้เห็นได้สัมผัสได้รับรู้ประเด็นปัญหาในโลกความเป็นจริงที่ไม่ใช่อุดมคติหรือจำลองขึ้นมา
4. บ้านกลาง
“บ้านกลาง” หรือพื้นที่ส่วนรวม หรือคอมมูน เป็นการใช้ชีวิตรวมหมู่ที่มีการสร้างข้อตกลงร่วมกัน สมาชิกจะเผชิญกับภาวะโกลาหลเมื่อแต่ละคนแสดงความเป็นตัวเองออกมา ถ้ากลุ่มสามารถจัดการผ่านภาวะนี้ไปสู่ชุมชนจริงได้กลุ่มจะเติบโตร่วมกัน ดังได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อ “พัฒนาการกลุ่ม 3 ขั้น”
บ้านกลางยังเป็นพื้นที่ปลอดภัย ดูแลเยียวยา และพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของสมาชิก
5. วงธรรมชาติ
มักเข้าใจกันว่าวงธรรมชาติก็คือวงเหล้าวงไพ่หรือวงเยียวยา ความจริงแล้ววงธรรมชาติมีเป้าหมายเพื่อยกระดับเรียนรู้เติบโตผ่านความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ ขณะที่วงเหล้าหรือวงไพ่ไม่ได้มีเป้าหมายดังกล่าว
วงธรรมชาติคือวงพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในบรรยากาศที่เอื้อให้สมาชิกได้ทำความรู้จักตัวตน ชีวิต ความฝันของเพื่อน อาจเป็นในรูปแบบของการผลัดกันอ่านบทกวี ร้องเพลงร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ อย่างอิสระ นอกจากสร้างความสัมพันธ์ในหมู่สมาชิกแล้วและยังสามารถขยายสมาชิกให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมได้อีกด้วย
เนื่องจากวงธรรมชาติไม่ได้มีการกำหนดข้อตกลงกติการ่วมกันอย่างชัดเจนจึงอาจทำให้มีใครบางคนผูกขาดวงโดยใช้ความอาวุโสรุ่นพี่ สมาชิกควรช่วยกันทำให้วงธรรมชาติมีบรรยากาศที่ทุกคนได้สนทนากันอย่างเท่าเทียม
6. ถอดบทเรียน
การถอดบทเรียนทุกครั้งหลังจากกลุ่มผ่านประสบการณ์หรือทำกิจกรรมร่วมกันจะช่วยนำพากลุ่มให้เติบโตทางความคิดและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงแข็งแรง
Act Lab
Activist Laboratory Thailand
ห้องทดลองนักกิจกรรม
พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม