“พื้นที่ปลอดภัยในกลุ่มสร้างได้ไม่มีวันหยุด”

ตอนที่แล้วเราพูดถึงพัฒนาการสามขั้นของกลุ่มว่าถ้าเราสร้างพื้นที่ปลอดภัยในกลุ่มได้สำเร็จ สมาชิกในกลุ่มเริ่มกล้าขัดแย้งกันกลุ่มจะเคลื่อนตัวสู่ภาวะโกลาหล และในช่วงนี้ถ้ามีการจัดการความขัดแย้งได้กลุ่มก็จะเข้าสู่ช่วงชุมชนจริง การเคลื่อนตัวของกลุ่มหมายถึงการที่กลุ่มเติบโตและเข้มแข็งขึ้น

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กลุ่มเคลื่อนตัวไปได้ก็คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้น

พื้นที่ปลอดภัยคือพื้นที่ที่ทุกคนแสดงความเป็นตัวเองได้โดยไม่ถูกพิพากษาตัดสิน เป็นพื้นที่ที่คนได้เรียนรู้ เติบโต และพัฒนาตนเอง

พื้นที่ปลอดภัยไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติแต่เป็นพื้นที่ที่ต้องพยายามสร้างให้เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะขยายได้ไม่มีที่สิ้นสุด อาจจะปลอดภัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือปลอดภัยน้อยลงก็ได้ ในการทำงานที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมบางกลุ่มอาจใช้เวลาสร้างพื้นที่ปลอดภัยนานนับปี บางกลุ่มใช้เวลาหลายปี 

ลองมาดูกันว่าพื้นที่ปลอดภัยสร้างได้อย่างไร?

หลักการสร้างพื้นที่ปลอดภัย 5 ข้อ

1. มีพื้นที่ให้ทุกคนถูกมองเห็น เช่น การจัดที่นั่งประชุมเป็นวง

  • ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเขามีพื้นที่ที่นี่และคู่ควรจะอยู่ที่นี่ คนจะรู้สึกปลอดภัยต่อเมื่อถูกยอมรับ มีที่ยืนและถูกมองเห็น เทคนิคง่ายๆ เช่น การแนะนำตัว ให้แต่ละคนช่วยบอกความเป็นตัวเองออกมา ทำให้คนรู้สึกว่าเขามีพื้นที่ในกลุ่มนี้ หรือจัดรูปแบบการนั่งเป็นวงตอนประชุมกลุ่ม ทำให้เห็นกันและกันเพื่อจะสนทนาแลกเปลี่ยนกันได้ มีวงธรรมชาติที่ไม่เป็นทางการในการพูดคุยกันสม่ำเสมอ

2. ตั้งเป้าหมายร่วมกัน และให้ความสำคัญกับเป้าหมายส่วนบุคคล

  • ตั้งเป้าหมายร่วมกันให้รู้ว่ากลุ่มจะไปทางไหน ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายกลุ่มและเป้าหมายนั้นตอบสนองบุคคล รวมทั้งให้ความสำคัญกับเป้าหมายส่วนตัวของแต่ละคนด้วย

3. สร้างข้อตกลงร่วมของกลุ่ม เปลี่ยนได้เสมอ ตกลงกันใหม่ได้

  • สร้างข้อตกลงร่วมของกลุ่มขึ้นมา พูดคุยกันว่าเราควรปฏิบัติต่อกันอย่างไรเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างดีที่สุด คล้ายเป็นธรรมนูญร่วมของกลุ่ม ข้อตกลงที่สร้างขึ้นมาร่วมกันจะเปลี่ยนได้เสมอต่างจากกฎ ถ้าไม่เวิร์กก็มาตกลงกันใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์​ ทุกคนรับผิดชอบร่วมกัน ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้ข้อตกลง

4. ทำให้ทุกคนรู้สึกมีอำนาจ มีโอกาสได้พูด เช่น จับคู่ จับกลุ่มย่อย

  • ทำให้คนรู้สึกมีอำนาจ เปิดโอกาสให้คนไม่ค่อยพูดได้พูดแต่ไม่กดดันเขา เปิดพื้นที่ให้มีการทะเลาะกัน เทคนิคเช่น จับคู่ คุยกลุ่มย่อย สร้างโครงสร้างของการฟังกลุ่มขึ้นมา มีพื้นที่สำหรับความผิดพลาดและความไม่เก่ง อ่อนแอได้ มีจุดด้อยได้

5. สร้างวัฒนธรรมร่วมในการฟังกัน สะท้อนกันและกัน

  • สร้างวัฒนธรรมพื้นฐานร่วมกันในกลุ่มว่าเราฟังกัน เราจะได้ยินกัน เราจะฟังอีกคนพูดให้จบก่อนไม่พูดแทรกกัน และมีวัฒนธรรมการสะท้อนกันและกันของคนในกลุ่ม

วันนี้เราสร้างพื้นที่ปลอดภัยแล้วไม่ได้แปลว่ามันจะคงอยู่เหมือนเดิมตลอดไป มันอาจจะดีขึ้น รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ลงลึกมากขึ้น หรืออาจจะแย่ลง เช่นสมาชิกใหม่ที่เข้ามาไม่เข้าใจวัฒนธรรมกลุ่ม ไม่เข้าใจข้อตกลงเดิมของกลุ่มแล้วไม่มีเวลาอธิบายกัน ก็จะทำให้พื้นที่ปลอดภัยลดลง หรือถ้ามีคนทำผิดข้อตกลงก็อาจจะทำให้ความไว้วางใจของกลุ่มลดลง พื้นที่ปลอดภัยก็ถดถอยลง

การที่พื้นที่ปลอดภัยกว้างขึ้นลึกขึ้นจะทำให้เราพูดในสิ่งที่เราไม่กล้าพูดในที่อื่นได้มากขึ้น กล้าที่จะเสี่ยงที่จะทำเรื่องผิดพลาดได้มากขึ้น นั่นแปลว่าเราจะกล้าทำอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยกล้าทำมาก่อนได้ เรากล้าที่จะถกเถียงในเรื่องความขัดแย้งที่เราไม่สบายใจที่จะพูดในที่อื่น แต่เราไว้วางใจกัน เรารู้สึกปลอดภัยมากพอที่เราจะเปิดประเด็นความขัดแย้งในที่นี้และพูดคุยกันได้มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้จะทำให้กลุ่มโอบอุ้มทุกคนไว้

Act Lab 

Activist Laboratory Thailand

ห้องทดลองนักกิจกรรม

พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมให้เก็บข้อมูลสถิติ

    เราเก็บข้อมูลสถิติซึ่งประกอบด้วย IP Address และอื่นๆ ตามที่ Google analytic เรียกดู

บันทึกการตั้งค่า