ตัวชี้วัดหนึ่งของการเป็นกลุ่มจัดตั้งที่เข้มแข็งจากภายในนั่นคือ กลุ่มเรามีวัฒนธรรมการใช้อำนาจร่วมหรือไม่ และมีโครงสร้างกลุ่มที่เกื้อหนุนให้สมาชิกได้พัฒนาอำนาจภายในและอำนาจกระทำการหรือไม่
ใน #howtoจัดตั้งกลุ่ม เราพูดถึงการตั้งเป้าหมายกลุ่ม กระบวนการแสวงหาฉันทามติ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกลุ่มมีวิธีคิดและเชื่อมั่นในการใช้อำนาจร่วมทำไมต้องใช้อำนาจร่วม?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่า “อำนาจ” มี 4 ประเภท
- อำนาจเหนือ (power-over) หมายถึง การที่บุคคล/กลุ่ม ใช้แหล่งอำนาจที่ตนมีอยู่ในการควบคุม แสวงประโยชน์ นิยามประสบการณ์ หรือตัดสินใจให้บุคคล/กลุ่มอื่น
- อำนาจร่วม (power-sharing) หมายถึง การที่บุคคล/กลุ่ม ใช้แหล่งอำนาจที่ตนมีอยู่เพื่อตัดสินใจร่วมกับบุคคลหรือกลุ่มอื่น หรือสนับสนุนอีกบุคคล/กลุ่ม
- อำนาจกระทำการ (power-to) หมายถึง อำนาจที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ เป็นความสามารถในการลงมือทำเพื่อตนเองและผู้อื่น
- อำนาจภายใน (power-within) หมายถึง ความรู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง การเคารพตนเอง การรู้จักตนเอง การตระหนักรู้และยอมรับถึงศักยภาพ ขีดจำกัด ความฝันความปรารถนาของตนเอง
สังคมของเราอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอำนาจเหนือมาเป็นเวลายาวนาน ผู้ปกครองใช้อำนาจเหนือกดขี่บีฑาผู้ใต้ปกครองให้สยบยอมไม่หือไม่อือเพื่อจะได้ปกครองง่ายโดยใช้แหล่งอำนาจที่มีอยู่ในมือคือ อาวุธ กฎหมาย ยศตำแหน่ง ฐานะการเงิน บารมี ความอาวุโส ชนชั้นวรรณะ ฯลฯ อำนาจเหนือนำไปสู่การกดขี่เบียดขับผู้คนไปอยู่ชายขอบ ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกไร้อำนาจที่จะลุกขึ้นมากระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง
นั่นคือภาพสังคมใหญ่ ถ้าสโคปเฉพาะในกลุ่ม องค์กร หรือชุมชน จะพบว่าลักษณะของกลุ่ม/องค์กร/ชุมชนที่มีการจัดตั้งแบบใช้วัฒนธรรมอำนาจเหนือคือ มีระบบสั่งการจากบนลงล่าง มีผู้นำ แกนนำ หรือบอร์ดที่มีเอกสิทธิ์ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ แล้วมอบหมายให้สมาชิกดำเนินการตามคำสั่ง มีระบบระเบียบกฎเกณฑ์ข้อห้ามข้อปฏิบัติที่ชัดเจนโดยสมาชิกมีหน้าที่ปฏิบัติตามไม่อาจโต้แย้ง
เรามักพบลักษณะดังกล่าวในกลุ่มองค์กรทางการ สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง บริษัทใหญ่ๆ หรือโรงงานที่มุ่งผลผลิตเป็นที่ตั้ง
แต่ในการเป็นกลุ่มจัดตั้งที่มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเท่าเทียมเป็นธรรม เราจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมการใช้อำนาจร่วมให้เกิดขึ้นในกลุ่ม เพื่อท้าทายสังคมอำนาจเหนือที่กดทับศักยภาพของผู้คนไว้
วัฒนธรรมอำนาจร่วมจะนำไปสู่การเสริมพลังอำนาจกระทำการและอำนาจภายในให้สมาชิกได้ตระหนักในศักยภาพของตนที่จะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
อำนาจร่วมสร้างอย่างไร?
- พัฒนาอำนาจภายในเพื่อใช้อำนาจร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าฐานอำนาจภายในเราไม่เข้มแข็งพอเราจะกลับสู่การใช้อำนาจเหนือ
- มีทักษะการใช้อำนาจร่วม ได้แก่ การฟัง การตั้งคำถาม การฟา การจับประเด็น
- ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานหรือโครงสร้างของกลุ่มให้กลุ่มสามารถรับฟังกันและกัน มองเห็นกันและกันอันจะนำไปสู่การใช้อำนาจร่วมได้
มักมีความสับสนว่าการใช้อำนาจร่วมแปลว่าต้องตัดสินใจร่วมกันทุกครั้งทุกเรื่อง อันที่จริงมีอำนาจอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า อำนาจหน้าที่ (authority) เป็นมติที่ประชุมที่มอบหมายให้บุคคลนั้นๆ ใช้อำนาจหน้าที่ของตนตามขอบเขตที่มี แต่อำนาจหน้าที่ของบุคคลแต่ละคนนั้นต้องเกิดจากการใช้อำนาจร่วมของกลุ่ม
อ่านเพิ่มเติม
Starhawk, Dreaming in the Dark: Magic, Sex and Politics (Beacon Press, 1997)
กิตติชัย งามชัยพิสิฐ, ฟาสามัญ (มูลนิธิความร่วมมือสันติภาพ, 2566)
Act Lab
Activist Laboratory Thailand
ห้องทดลองนักกิจกรรม
พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม