“ไปต่อหรือแยกย้าย?” รู้จักพัฒนาการกลุ่มสามขั้น

การทำกลุ่มไม่ใช่เรื่องง่าย แรกๆ อะไรต่อมิอะไรอาจดูราบรื่นลงตัวไปเสียหมด ไปไหนไปกันลุยไหนลุยด้วย สมาชิกรักใคร่กลมเกลียวกันดี แต่พอเวลาผ่านไปจะพบว่าเร่ิมมีการแตกคอไม่ลงรอยกันบ้างก็เร่ิมจากคนสองคนจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ลุกลามบานปลายไปสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวกทะเลาะกันจนสุดท้ายกลุ่มแตกสานซ่านเซ็นกันไปก็มี

อันที่จริงเป็นเรื่องธรรมดาเพราะความสัมพันธ์ของผู้คนเป็นพลวัตไม่ได้สตัฟฟ์หยุดนิ่งอยู่ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง กลุ่มก็เช่นกัน กลุ่มมีชีวิตตั้งแต่เร่ิมตั้งไข่ ฟักตัว บ่มเพาะเติบโตและขยายตัวในที่สุด การเข้าใจธรรมชาติของกลุ่มจะช่วยให้เราตั้งหลักและตัดสินใจร่วมกันในกลุ่มได้ว่าจะไปต่อหรือแยกย้าย

กลุ่มจัดตั้งที่มีเป้าหมายมีภารกิจย่อมต้องเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนทั้งจากภายในและภายนอก เมื่อไรก็ตามที่เร่ิมมีสัญญาณว่ากลุ่มเรากำลังระส่ำระสายจากความระหองระแหงภายในบวกกับแรงกดดันภายนอก ลองกลับมาพิจารณาว่ากลุ่มเรากำลังอยู่ในขั้นไหนของพัฒนาการสามขั้นนี้

ขั้นแรก ชุมชนเทียม หรือช่วงฮันนีมูน

ช่วงแรกของการตั้งกลุ่มเป็นช่วงของการทำความรู้จักกันจึงมักจะมีบรรยากาศของความเป็นมิตร รับฟังกัน ถนอมน้ำใจ ชื่นชมกัน ในช่วงนี้คำถามในใจของแต่ละคนคือ “ฉันอยู่ตรงไหนในกลุ่ม” แต่ละคนจะถามหาผู้นำ เรียกร้องบทบาทผู้นำและคาดหวังอย่างสูงกับผู้นำกลุ่ม

ในช่วงนี้ถ้ากลุ่มช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาได้ สมาชิกมีความสัมพันธ์กันระดับหนึ่งจนถึงขั้นพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถกเถียงกันได้ภาวะกลุ่มจะเริ่มเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มมีเป้าหมายมีภารกิจร่วมกันความขัดแย้งจะเริ่มปรากฏ 

ยิ่งถ้าเราสร้างพื้นที่ปลอดภัยในกลุ่มได้สำเร็จ สมาชิกในกลุ่มจะเร่ิมกล้าขัดแย้งกัน ดูเหมือนกลุ่มจะวุ่นวายขึ้น ไม่ต้องตกใจเราเรียกช่วงนี้ว่าช่วงโกลาหล บางส่วนจะเริ่มอึดอัดและเรียกร้องกลับไปสู่วันคืนหวานชื่นช่วงแรกตั้งกลุ่ม

ขั้นที่สอง ช่วงโกลาหล

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงยากลำบากที่สุดของกลุ่ม เกิดการปฏิเสธกันและกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกในกลุ่ม มีบรรยากาศของการแยกตัว ตัดสินกัน ทะเลาะกัน แย่งกันนำ เพราะคนในกลุ่มรู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดเผยตัวเอง รู้ว่าสามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้ คำถามที่เรามักจะถามในช่วงนี้ก็คือ “จะทำอย่างไรให้คนอื่นยอมรับความคิดฉัน” เราจะเริ่มปฏิเสธคนที่มีบทบาทนำอยู่ ณ ปัจจุบัน 

ในช่วงนี้ถ้ากลุ่มมีการฟังกันอย่างลึกซึ้ง มีการแยกแยะความขัดแย้งและชักชวนหาทางออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่กดทับความขัดแย้งเอาไว้ ส่งเสริมการใช้อำนาจร่วม กลุ่มจะค่อยๆ เรียนรู้จนเกิดการปรับคุณค่าร่วมกัน หาคุณค่าร่วม มีข้อตกลงกติการ่วมกัน แต่ละคนรู้สึกได้เติบโต เมื่อนั้นกลุ่มจะเข้าสู่ภาวะชุมชนจริง

ขั้นสุดท้าย ชุมชนจริง

คือชุมชนที่มีการจัดการความขัดแย้ง ชุมชนที่เคารพความเป็นตัวเองของแต่ละคนภายใต้เป้าหมายร่วมกัน ชุมชนจริงเป็นภาวะที่กลุ่มจะมีพลัง พร้อมจะขัดแย้งกันโดยไม่ทะเลาะกัน คนในกลุ่มพร้อมจะยืนยันสิทธิตัวเอง ยืนยันความคิดเห็นของตน และพร้อมจะยืนยันเป้าหมายตัวเองและเป้าหมายกลุ่มได้ 

แต่ภาวะแบบนี้ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป กลุ่มอาจย้อนกลับไปชุมชนเทียมได้ทุกเมื่อหากมีสมาชิกใหม่เข้ามามากเกินกว่าที่จะโอบอุ้มไหว หรืออาจย้อนกลับไปช่วงโกลาหลก็ได้ถ้าไม่สามารถจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ หรือเกิดกรณีที่ทำให้ไม่ไว้วางใจกัน พื้นที่ปลอดภัยไม่พอสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่สื่อสารกัน กระทั่งมีบางคนใช้อำนาจเหนือเมื่อนั้นกลุ่มจะกลับไปสู่ช่วงชุมชนเทียมหรือโกลาหลได้ตลอดเวลา

ทั้ง 3 ช่วงนี้เป็นพัฒนาการของกลุ่ม ไม่มีจุดสิ้นสุดและหมุนวนกลับไปกลับมาได้ตลอด ถ้าเราเข้าใจพัฒนาการของมันเราก็จะมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มเราด้วยแว่นเลนส์ใหม่ และค้นหาหนทางเพื่อให้กลุ่มเราไปต่อและบรรลุเป้าหมายในที่สุด

Act Lab 

Activist Laboratory Thailand

ห้องทดลองนักกิจกรรม

พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม

ที่มาของพัฒนาการกลุ่ม 3 ขั้น อ่านเพิ่มเติม M. Scott Peck, The Different Drum: Community Making and Peace.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมให้เก็บข้อมูลสถิติ

    เราเก็บข้อมูลสถิติซึ่งประกอบด้วย IP Address และอื่นๆ ตามที่ Google analytic เรียกดู

บันทึกการตั้งค่า