แนวทางรับมือการถูกคุกคามในที่ชุมนุม

เรียบเรียงโดย เตอร์

งานชิ้นนี้มุ่งหวังให้นักกิจกรรมหรือประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมรู้ทักษะเบื้องต้นในการรับมือการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐในรูปแบบต่างๆ โดยยกตัวอย่างกรณีนักกิจกรรมในภาคอีสานถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามจากเหตุการณ์ดังนี้

  1. กลุ่มดาวดิน นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวนกว่า 10 คนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูป้ายคัดค้านรัฐประหารในวันครบรอบ 1 ปีที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ฝ่ายความมั่นคงและทหารจังหวัดขอนแก่นได้นำกำลังเข้าเจรจาเพื่อให้ยุติกิจกรรมดังกล่าว แต่การเจรจาไม่เป็นผล ทำให้ทหารควบคุมตัวนักศึกษาทั้งหมดไปยังมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์ และต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนักศึกษาทั้ง 13 คนไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นเพื่อรับทราบข้อหาความผิดตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวโดยกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ (อ่านเพิ่มเติม https://prachatai.com/journal/2015/05/59412)
  2. เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 กลุ่มราษฎรโขงชีมูล กลุ่มขอนแก่นพอกันที กลุ่มคณะราษฎรขอนแก่น กลุ่มดาวดิน กลุ่มภาคีเครือข่ายนักเรียนขอนแก่น kkc รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมจากเครือข่ายต่างๆ เตรียมการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลประยุทธ์ แต่ในระหว่างการเตรียมการนั้นเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนกับการ์ด wevo เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามที่จะเดินขบวนเต็มทุกช่องทางการจราจร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เจรจากับแกนนำผู้ชุมนุมให้สามารถเดินขบวนได้หนึ่งช่องทางเท่านั้น ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจเกิดการปะทะกัน โดยผู้ชุมนุมแย่งโล่ตำรวจและใช้สีสเปรย์พ่นใส่โล่ตำรวจเพื่อหวังเปิดทาง (อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/27321)
  3. การจัดกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ: รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” ที่อาคารจตุรมุข อุทยานเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโดยกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ภาคอีสาน ทีมผู้จัดงานและวิทยากรจำนวนกว่า 10 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนและร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558  ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงรณรงค์โหวตโนรัฐธรรมนูญ 60 (ดู live กิจกรรมได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=10153790716271699)

รูปแบบการคุกคามจากเจ้าหน้ารัฐและการรับมือที่เกิดขึ้นในที่ชุมนุม

ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ติดตามบันทึกภาพและวิดีโอในขณะที่เข้าร่วมการชุมนุม  

โดยปกติในการชุมนุม เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบจะกำลังกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณที่ชุมนุม ซึ่งมักมีพฤติกรรมแอบบันทึกภาพและวิดีโอในที่ชุมนุม โดยจะมีลักษณะของการยกกล้องวิดีโอหรือโทรศัพท์มือถือขึ้นถ่าย อาจจะถ่ายภายมุมกว้างเพื่อให้เห็นบรรยากาศโดยรอบของการชุมนุม หรืออาจจะถ่ายเฉพาะเจาะจงไปที่ใบหน้าของบุคคล โดยเฉพาะกับทีมผู้จัดชุมนุม แกนนำ บุคคลสาธารณะ หรือบุคคลที่ทางเจ้าหน้าที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษ รวมทั้งผู้ร่วมชุมนุมหน้าใหม่ๆ ด้วย

การรับมือ

เมื่อเราสังเกตเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่กำลังทำการบันทึกภาพหรือวิดีโอเราอยู่ หรืออาจจะเป็นการบันทึกภาพหรือวิดีโอบุคคลอื่นที่มาร่วมชุมนุม เราสามารถเข้าไปถามหรือแจ้งรายละเอียดได้ว่า 

  • บุคคลดังกล่าวเป็นใคร มาจากหน่วยงานไหน?  กำลังทำการบันทึกรูปหรือวิดีโออยู่หรือไม่?
  • แจ้งว่าการบันทึกภาพและวิดีโอโดยไม่ได้รับความยินยอมถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะการถ่ายภาพเจาะจงใบหน้า
  • แจ้งว่าต้องการให้ลบรูปและวิดีโอที่ทำการบันทึกไว้
  • ถ่ายภาพหรือคลิปบันทึกใบหน้าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกลับเพื่อใช้เป็นหลักฐานในภายหลัง

ในหลายกรณีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมักจะอ้างว่าตนเองเป็นสื่อมวลชน นักข่าวหรือเจ้าหน้าที่ภาคสนามของสำนักข่าวต่างๆ ในกรณีนี้เราสามารถที่จะขอชื่อสำนักข่าว ขอชื่อ-นามสกุล ขอดูบัตรประจำตัวสื่อได้  ในกรณีที่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวไม่สามารถมีหลักฐานยืนยันตัวตนว่าเป็นนักข่าว หรืออาจมีบัตรประจำตัวนักข่าวจริง  แต่ถ้าเราไม่สะดวกใจเราก็สามารถที่จะไม่อนุญาตให้บันทึกภาพและวิดีโอและขอให้ลบรูปและวิดีโอที่ทำการบันทึกไปแล้วได้

ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้ามาพูดคุย สอบถามข้อมูลส่วนตัว ข่มขู่ว่าทำผิดกฎหมาย ขอดูและถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นๆ

ในบางครั้งเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบมักจะเข้ามาพูดคุยสอบถามผู้ชุมนุมว่ามาจากไหน ทำไมมาร่วมชุมนุม รู้ไหมว่าการชุมนุมอาจมีการทำผิดกฎหมาย หรืออาจจะเป็นการถามแบบหยั่งเชิงเพื่อขอข้อมูลส่วนตัว เช่น เป็นนักศึกษาจริงไหม เป็นคนในพื้นที่จริงไหม เป็นคนไทยจริงหรือเปล่า เพื่อให้เราให้ข้อมูลหรือแสดงหลักฐานยืนยันตัวตน เช่น บัตรประจำตัวต่างๆ  เมื่อมีการแสดงบัตรยืนยันตัวตนเจ้าหน้าที่ก็จะขอถ่ายรูปบัตรเอาไว้

ส่วนเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมักจะใช้วิธีเข้าไปตีสนิทกับผู้ร่วมชุมนุมหน้าใหม่ ให้รู้สึกว่าเป็นผู้ที่มาร่วมชุมนุมเหมือนกัน แล้วมักจะสอบถามข้อมูลต่างๆ เช่น เป็นใคร มาจากไหน มาด้วยกันกี่คน คิดเห็นอย่างไรกับการชุมนุมหรือกับข้อเรียกร้อง

การรับมือ

ในกรณีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเข้ามาพูดคุย สอบถามข้อมูล ขอข้อมูลส่วนตัวต่างๆ เรามีสิทธิที่จะไม่ตอบคำถามหรือให้ข้อมูลใดๆ พร้อมกับแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า

  • การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน คนที่สนใจหรือสนับสนุนข้อเรียกร้องของการชุมนุมสามารถเข้าร่วมได้  
  • ยืนยันว่าเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูล หรือแสดงหลักฐานยืนยันตัวตน

ในกรณีบุคคลที่เราสงสัยว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปตีสนิท พูดคุย สอบถามข้อมูล  เราอาจจะต้องประเมินจากลักษณะรูปลักษณ์ภายนอกก่อนเป็นอันดับแรก

วิธีสังเกต เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมักจะมีลักษณะการแต่งตัวเฉพาะตัว เช่น หัวเกรียนสามด้าน  ใส่หมวกแก๊ป  ใส่แว่นตาดำ ชายเสื้อเหน็บในกางเกง  ใส่รองเท้าผ้าใบ ชาร์ตมือถือกับแบตสำรองตลอดเวลา ถ้ามีองค์ประกอบสี่อย่างขึ้นไปให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าอาจเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ

ลักษณะการพูดคุยหรือสอบถามจะเป็นลักษณะคำถามเพื่อเก็บข้อมูล  เช่น มาจากไหน มากี่คน คิดเห็นอย่างไรกับแกนนำ คิดเห็นอย่างไรกับข้อเรียกร้อง  คิดเห็นอย่างไรกับรัฐบาล เป็นต้น

  • เราสามารถหลีกเลี่ยงการพูดคุย ไม่ตอบคำถามได้ เมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย
  • อาจจะสอบถามหรือแจ้งทีมผู้จัดชุมนุมหรือคนคนรอบข้างว่าบุคคลดังกล่าวมีลักษณะไม่น่าไว้วางใจ มีพฤติกรรมน่าสงสัยว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ
  • ถ่ายภาพหรือคลิปบันทึกใบหน้าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกลับ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในภายหลัง

ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจยึดวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมในที่ชุมนุม เช่น ป้ายข้อความ  ธงสัญลักษณ์ เครื่องขยายเสียง ฯลฯ

ปัจจุบันผู้ชุมนุมมักจะเตรียมป้ายข้อความต่างๆ ไปเองเพื่อไปชูหรือตั้งไว้ที่ชุมนุมอันเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางความคิด ในการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากจนกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ผู้ชุมนุมจากหลากหลายกลุ่มมักจะนำเอาอุปกรณ์ไปร่วมจัดงานในลักษณะของกลุ่มย่อย เวทีย่อย หรือเวทีเชิงประเด็นในบริเวณที่ห่างไกลจากเวทีใหญ่ เจ้าหน้าที่มักจะเดินตรวจดูข้อความในป้าย ถ้าพบข้อความใดที่มีลักษณะเข้าข่ายในการวิจารณ์นายกรัฐมนตรี วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาล วิจารณ์สถาบันกษัตริย์  เจ้าหน้าที่มักจะขอความร่วมมือให้เก็บป้ายดังกล่าว โดยอ้างว่าป้ายดังกล่าวมีข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย  และมักจะอ้างว่านายไม่สบายใจหรือข้างบนสั่งมา  เมื่อเจ้าของป้ายไม่ยินยอมเก็บ เจ้าหน้าที่ก็มักจะยึดเก็บป้ายดังกล่าวไป ในบางกรณีก็จะมีการยื้อยุดกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับเจ้าของป้าย ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ยื้อกันขึ้นเจ้าหน้าที่ก็มักอ้างว่าผู้ชุมนมกำลังขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

การรับมือ

เมื่อเจ้าหน้าที่ข่มขู่ว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการชุมนุมเข้าข่ายผิดกฎหมายและจะทำการยึดอุปกรณ์ไป เราสามารถที่จะเจรจาต่อรองและรับมือเบื้องต้นดังนี้

  • เราสามารถยืนยันได้ว่า ข้อความในป้ายเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเป็นข้อเท็จจริงก็ไม่ผิดกฎหมาย
  • เราสามารถยืนยันได้ว่าเราวิจารณ์โดยสุจริต  โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะหรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องสามารถวิจารณ์และตรวจสอบได้ หรือแม้แต่สถาบันกษัตริย์ก็ต้องวิจารณ์ได้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่รักของประชาชน
  • ถ้าเจ้าหน้าที่จะยึดเอาป้ายข้อความไป ก็อาจจะต้องถามว่าป้ายหรือข้อความดังกล่าวผิดกฎหมายอย่างไร มีเอกสารหรือหมายสำหรับการตรวจยึดหรือไม่  เป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยไหน
  • อีกวิธีคือยอมเก็บป้ายดังกล่าว รอให้เจ้าหน้าที่ไปค่อยนำออกมาชูใหม่ 

การถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ หรือถูกควบคุมตัว กักขังหน่วงเหนี่ยว ปกปิดที่อยู่

แม้จะเป็นการชุมนุมโดยสันติ ปราศจากความรุนแรง เป็นกิจกรรมที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มีเพียงการชูป้ายผ้า การชูสามนิ้ว ผู้เข้าร่วมจำนวนไม่มาก แต่ในหลายครั้งเจ้าหน้าที่ก็ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวแกนนำหรือผู้จัด กรณีที่ขอนแก่น การควบคุมตัวผู้จัดกิจกรรมในวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหารจำนวน  7 คน  เป็นการควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับ และในช่วงแรกนำไปควบคุมตัวที่ค่ายทหาร หลังจากนั้นจึงนำมาดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ

การรับมือ

เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเราจะต้องทราบว่าการควบคุมตัวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และพยายามติดต่อองค์กรสิทธิหรือทนายความ ดังนี้

  • พูดคุยสอบถามกับเจ้าหน้าที่ว่าควบคุมตัวด้วยข้อกล่าวหาใด มีหมายเรียกหรือหมายจับหรือไม่  ชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่จากสังกัดไหน ใครเป็นหัวหน้าชุดจับกุม
  • ในกรณีที่มีการควบคุมตัวโดยเร็ว หรือใช้กำลังควบคุมตัว โดยไม่มีโอกาสได้เจรจาพูดคุย ให้เราตะโกนแจ้งชื่อนามสกุล แจ้งกลุ่มหรือสังกัดของผู้ถูกควบคุมตัวให้กับผู้ชุมนุมที่อยู่รอบข้าง
  • ในระหว่างการถูกควบคุมตัวให้ยืนยันสิทธิในการขอทนายความ แจ้งญาติ แจ้งเพื่อน แจ้งองค์กรสิทธิมนุษยชน แจ้งสำนักข่าว
  • ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิที่จะไม่ตอบคำถาม ไม่ให้การใดๆ และไม่ต้องลงนามในเอกสารต่างๆ ในระหว่างรอทนายความ ไม่ลงนามในเอกสารใดๆ จนกว่าทนายจะมาถึง

การถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในที่ชุมนุม

การชุมนุมในบางกรณีสถานการณ์อาจจะนำไปสู่การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ เช่น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่มีการกระชับพื้นที่หรือสกัดการเคลื่อนที่ของการชุมนุม เจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมมักจะมีการตั้งแถวตั้งแนวเผชิญหน้าระยะประชิดตัว  บางครั้งในช่วงจังหวะชุลมุน ผู้ชุมนุมอาจได้รับบาดเจ็บจากอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ เช่น โล่ กระบอง รองเท้า เป็นต้น ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

การรับมือ

เมื่อผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการชุมนุม ผู้ได้รับบาดเจ็บสามารถรับมือเบื้องต้นกับสถานการณ์ดังนี้

  • เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง มีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ให้พยายามสื่อสารกับเพื่อนหรือคนรอบข้างได้รับรู้ เช่นตะโกนว่า “ได้รับบาดเจ็บ” หรือ “โดนเจ้าหน้าที่ทำร้าย”
  • พยายามบันทึกภาพและวิดีโอไว้ หรือร้องขอให้คนรอบข้างช่วยบันทึกทั้งในมุมเจาะและกว้างเพื่อไว้ใช้เป็นหลักฐาน
  • ในกรณีที่มีการทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ ให้ผู้บาดเจ็บไปตรวจร่างกายเพื่อขอใบรับรองแพทย์  พร้อมทั้งไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจไว้เป็นหลักฐาน 

แนวคิดหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) เสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) และการชุมนุมสาธารณะ

แนวคิดหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

รายละเอียด

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) หรือ UDHR

ข้อ 19 ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกรวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน”

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2540

ข้อที่ 21 ระบุว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

มาตรา 44 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

มาตรา 4 ระบุว่า “การชุมนุมสาธารณะ หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่”

มาตรา 10 ระบุว่า “ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่ หรือเครื่องขยายเสียง หรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง”

มาตรา 19 ระบุว่า “ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอำนาจหน้าที่ (1) อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุมรักษาความปลอดภัย (2) อำนวยความสะดวก หรือบรรเทาเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุม (3) รักษาความปลอดภัยหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุม (4) อำนวยความสะดวกในการจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุมและบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด และ(5) กำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งให้ผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม หรือผู้อยู่ภายในสถานที่ชุมนุมต้องปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่”

รูปแบบการคุกคามและการรับมือเบื้องต้น

รูปแบบการคุกคาม

การรับมือเบื้องต้น

  1. เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ติดตามบันทึกภาพและวิดีโอในขณะที่เข้าร่วมการชุมนุม

เราสามารถเข้าไปสอบถามหรือแจ้งรายละเอียดได้ว่า

  • บุคคลดังกล่าวเป็นใคร? มาจากหน่วยงานไหน? กำลังทำการบันทึกรูปหรือวีดีโออยู่หรือไม่?
  • แจ้งว่าการบันทึกภาพและวีดีโอโดยไม่ได้รับความยินยอมถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะการถ่ายแบบเจาะจงใบหน้า
  • แจ้งว่าต้องการให้ลบรูปและวีดีโอที่ทำการบันทึกไว้
  • ถ่ายภาพหรือคลิปบันทึกใบหน้าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกลับ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในภายหลัง
  1. เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้ามาพูดคุย สอบถามข้อมูลส่วนตัว ข่มขู่ว่าทำผิดกฎหมาย ขอดูและถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นๆ

เรามีสิทธิที่จะไม่ตอบคำถามหรือให้ข้อมูลใดๆ พร้อมกับแจ้งเจ้าหน้าที่กลับไปว่า

  • แจ้งกลับไปว่าการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน คนที่สนใจหรือสนับสนุนข้อเรียกร้องของการชุมนุมสามารถเข้าร่วมได้
  • ยืนยันว่าเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูล หรือแสดงหลักฐานยืนยันตัว

และในกรณี บุคคลที่เราสงสัยว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เข้าไปตีสนิท พูดคุย สอบถามข้อมูล เราสามารถที่จะ

  • เราสามารถหลีกเลี่ยงการพูดคุย ไม่ตอบคำถามได้ เมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย
  • อาจจะสอบถามหรือแจ้งทีมผู้จัดการชุมนุมหรือคนคนรอบข้าง ว่าบุคคลดังกล่าวมีลักษณะไม่น่าไว้วางใจ มีพฤติกรรมน่าสงสัยว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ
  1. เจ้าหน้าที่ตรวจยึดวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมในที่ชุมนุม เช่น ป้ายข้อความ ธงสัญลักษณ์ เครื่องขยายเสียง ฯลฯ

เราสามารถที่จะเจราต่อรองและรับมือเบื้องต้นดังนี้เราสามารถยืนยันได้ว่า ข้อความในป้ายเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง

  • เมื่อเป็นข้อเท็จจริงก็ไม่ผิดกฎหมาย
  • เราสามารถยืนยันได้ว่า เราวิจารณ์โดยสุจริต โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะหรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องสามารถวิจารณ์และตรวจสอบได้ หรือแม้แต่สถาบันกษัตริย์ก็ต้องวิจารณ์ได้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่รักของประชาชน
  • ถ้าเจ้าหน้าที่จะยึดเอาป้ายข้อความไป ก็อาจจะต้องถามว่า ป้ายหรือข้อความดังกล่าว ผิดกฎหมายอย่างไร มีเอกสารหรือหมายสำหรับการตรวจยึดหรือไม่ เป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยไหน
  • อีกวิธีคือการยอมเก็บป้ายดังกล่าวไว้ก่อน รอให้เจ้าหน้าที่ไปแล้ว ค่อยนำออกมาชูใหม่
  1. เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ หรือถูกควบคุมตัว กักขังหน่วงเหนี่ยว ปกปิดที่อยู่

เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว เราจะต้องทราบว่าการควบคุมตัวนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และพยายามติดต่อองค์กรสิทธิหรือทนายความ ดังนี้

  • พูดคุยสอบถามกับเจ้าหน้าที่ว่า ควบคุมตัวด้วยข้อกล่าวหาใด มีหมายเรียกหรือหมายจับหรือไม่ ชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่จากสังกัดไหน ใครเป็นหัวหน้าชุดจับกุม
  • ในกรณีที่มีการควบคุมตัวโดยเร็ว หรือใช้กำลังควบคุมตัว โดยไม่มีโอกาสได้เจรจาพูดคุย ให้เราตะโกนแจ้งชื่อ นามสกุล แจ้งกลุ่มหรือสังกัด ของผู้ถูกควบคุมตัวให้กับผู้ชุมนุมที่อยู่รอบข้าง
  • ในระหว่างการถูกควบคุมตัว ให้ยืนยันสิทธิ์ในการขอทนายความ แจ้งญาติ แจ้งเพื่อน แจ้งองค์กรสิทธิมนุษยชน แจ้งสำนักข่าว
  • ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิ์ที่จะไม่ตอบคำถาม ไม่ให้การใดๆ และไม่ต้องลงนามในเอกสารต่างๆ ในระหว่างรอทนายความ
  1. เจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายขณะที่อยู่ในที่ชุมนุม

เมื่อผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการชุมนุม ผู้ได้รับบาดเจ็บสามารถรับมือเบื้องต้นกับสถานการณ์ดังนี้

  • เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง มีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ให้พยามยามสื่อสารกับเพื่อนหรือคนรอบข้างได้รับรู้ เช่น ตะโกนว่า… “ได้รับบาดเจ็บ” หรือ “โดนเจ้าหน้าที่ทำร้าย”
  • พยายามบันทึกภาพและวิดีโอไว้ หรือร้องขอให้คนรอบข้างช่วยบันทึก ทั้งในมุมเจาะและกว้าง เพื่อไว้ใช้เป็นหลักฐาน
  • ในกรณีที่มีการทำร้ายร่างกาย จนได้รับบาดเจ็บ ให้ผู้บาดเจ็บไปตรวจร่างกาย เพื่อขอใบรับรองแพทย์ พร้อมทั้งไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจไว้เป็นหลักฐาน

หมายเหตุ ในทุกรูปแบบการคุกคาม ให้ผู้ถูกคุกคาม บันทึกรายละเอียดสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งให้ละเอียด ระบุพฤติการณ์การคุกคาม วันเวลา สถานที่ เก็บหลักฐานที่น่าเชื่อถือ รูปภาพ วิดีโอและพยานในที่เกิดเหตุ

สิ่งที่ควรทำ:  

  • ผู้ชุมนุมต้องยืนยันสิทธิในการแสดงออกในที่ชุมนุม 
  • ปฏิเสธการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่มาคุกคาม เช่น ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว ปฏิเสธการถูกบันทึกภาพและวิดีโอ เลี่ยงที่จะตอบคำถามใดๆ
  • เรามีสิทธิในการขอทราบชื่อ ตำแหน่ง สังกัดของเจ้าหน้าที่ เพราะพวกเขาอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่
  • จดจำรายละเอียด ลักษณะบุคลิก การแต่งกาย ข้อความระหว่างสนทนา และถ้ามีโอกาสก็จดบันทึกไว้ทันที
  • เมื่อถูกข่มขู่หรือควบคุมตัวให้แจ้งองค์กรสิทธิมนุษยชน

สิ่งที่ไม่ควรทำ :

แสดงความหวาดกลัว ยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัว ให้บัตรประชาชน กระทั่งให้มือถือแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

หมายเหตุ: งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานจากโครงการสกัดความรู้การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย จัดโดย Act Lab เมื่อ ส.ค.-ก.ย. 2564 โดยมุ่งหวังว่าผลงานชุดนี้จะเป็นฐานข้อมูลให้กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยต่อไป

ขอบคุณภาพจาก ประชาไท

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมให้เก็บข้อมูลสถิติ

    เราเก็บข้อมูลสถิติซึ่งประกอบด้วย IP Address และอื่นๆ ตามที่ Google analytic เรียกดู

บันทึกการตั้งค่า