“กรองข่าวแกง”
กับบทบาทมอนิเตอร์ข่าวในที่ชุมนุม

เรียบเรียงโดย วัชรพล นาคเกษม

กรองข่าวแกงถูกตั้งขึ้นมาเนื่องจากเราเคารพผู้มาร่วมชุมนุมทุกคน จึงพยายามหาช่องทางและวิธีการสื่อสารให้ผู้ชุมนุมได้รับข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้าน โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก”

หลังจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่ได้จุดกระแสการเคลื่อนไหวไล่รัฐบาลประยุทธ์กันอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศไปจนถึงการประกาศนัดชุมนุมใหญ่เคลื่อนขบวนสู่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ก่อนที่จะถูกสลายในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวนักกิจกรรมที่เป็นแกนนำเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะตัดวงจรการเคลื่อนไหวทั้งหมด

แต่รูปการณ์ของการเคลื่อนไหวได้เปลี่ยนไปเป็นแบบไร้หัวไร้แกน การจัดชุมนุมในช่วงเวลาต่อมาเป็นการนัดหมายล่วงหน้าไม่กี่ชั่วโมงแล้วเคลื่อนขบวนไปสถานที่ต่างๆ ที่เรียกว่าการเคลื่อนไหวแบบออร์แกนิก ซึ่งการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ผู้ชุมนุมจะต้องสื่อสารกันเองเช็กข่าวสารกันเองผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละวันจะมีการชุมนุมที่ไหนบ้าง จึงมักจะมีข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวลือเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เช่น ข่าวการเคลื่อนตัวของรถฉีดน้ำแรงดันสูง (จีโน่) ที่วิ่งไปตามถนนเส้นต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนตั้งแนวเคลื่อนพลมาแล้ว รวมถึงข่าวลือต่างๆ จากฝั่งผู้ชุมนุมเองเช่นจะมีการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำ ซึ่งหลายครั้งข่าวเหล่านี้ไม่มีที่มาที่ไปสร้างความสับสนให้กับผู้ชุมนุมจนบ่อยครั้งนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดเนื่องจากไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน

ในช่วงนั้นยังไม่มีการมอนิเตอร์หรือสังเกตการณ์การชุมนุมเพื่อนำไปสู่การเช็กข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหว การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้ชุมนุมเป็นไปอย่างจำกัด ต้องเช็กข่าวกันเองอย่างไม่เป็นระบบ ไม่รู้ที่มาที่ไป ซ้ำร้ายกว่านั้นกลายเป็นโหมกระพือข่าวลวงเข้าไปอีก โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงในรูปแบบต่างๆ ทั้งนอกเครื่องแบบที่ปะปนเข้ามากระจายอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อรายงานสถานการณ์และเฝ้าติดตามแกนนำ มีการการวางกำลังตรึงกำลังโดยรอบม็อบ ขณะที่บนโลกโซเชียลปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอก็คอยสร้างข่าวเท็จข่าวลวงต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

การมอนิเตอร์การชุมนุมจึงมีความสำคัญในแง่ของการเช็กข้อมูลข่าวสาร ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับการชุมนุมได้เมื่อผู้ชุมนุมรู้เท่าทันกลยุทธ์ของรัฐและถืออำนาจของข้อมูลข่าวสารมากขึ้น

กรองข่าวแกง จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อมอนิเตอร์ข่าวสารการชุมนุมโดยมีเป้าหมายสร้างความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมเป็นอันดับแรก

วศิน พงษ์เก่า หนึ่งในสมาชิกทีมกรองข่าวแกงเล่าว่ากรองข่าวแกง คือกลุ่มเพื่อนๆ นักกิจกรรม คนทำงานทางสังคมที่มารวมตัวกันทำเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่การชุมนุมโดยเริ่มเซ็ตและพัฒนาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 การเคลื่อนไหวตอนนั้นเป็นม็อบออร์แกนิก ผู้ชุมนุมจะต้องสื่อสารกันเองเช็กข่าวสารกันเองผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละวันจะมีการชุมนุมที่ไหนบ้าง ซึ่งการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้มักจะมีข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวลืออยู่บ่อยครั้ง  เช่น ข่าวการเคลื่อนตัวของรถฉีดน้ำที่วิ่งไปตามถนนเส้นต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมฝูงชนเคลื่อนมาตามเส้นทางโน่นนี่นั่น รวมถึงข่าวลือจากฝั่งผู้ชุมนุมเองด้วยเช่นกัน

“กรองข่าวแกง จึงเกิดขึ้นมาเพื่อกรองข่าวลือ ส่งข่าวจริงด้วยความรวดเร็ว เพราะเราตระหนักว่า ข้อเท็จจริงในเวลาที่รวดเร็ว จะทำให้ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ดูแลการชุมนุม ตัดสินใจเลือกบางอย่าง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมอนิเตอร์เช็กข่าวลือที่เกิดขึ้นว่ามันมีมูลความจริงหรือไม่ ถ้าเกิดข่าวลือแล้วสิ่งที่ทีมกรองข่าวแกงจะต้องทำก็คือการไปเช็กว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องลวง โดยวิธีการที่ใช้คือการลงไปพื้นที่ชุมนุมเพื่อเช็กด้วยตัวเอง กับการเช็กจากกล้องวงจรปิดในเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้อาจรวมไปถึงการเช็กจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น องค์กรสังเกตการณ์การชุมนุมต่างๆ เป็นต้น

“ช่องทางในการสื่อสารของกรองข่าวแกงกับประชาชนคือ Telegram โดยใช้ฟังก์ชั่น channel ที่ประชาชนสมารถกด join เข้ามารับรู้ข้อมูลข่าวสารในการชุมนุมที่ถูกกรองแล้ว เพื่อเท่าทันกับสถานการณ์และประเมินความปลอดภัยในพื้นที่ชุมนุม

“กรองข่าวแกงถูกตั้งขึ้นมาเนื่องจากเราเคารพผู้มาร่วมชุมนุมทุกคน จึงพยายามหาช่องทางและวิธีการสื่อสารให้ผู้ชุมนุมได้รับข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้าน โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก”

จุดประสงค์ของกรองข่าวแกง 

  1. รายงานข้อเท็จจริงเพื่อให้ผู้ชุมนุมได้ประเมินความพร้อมของตนเอง เช่น รู้ว่ารถน้ำเข้ามาทางนี้ ผู้ชุมนุมที่พร้อมทั้งอุปกรณ์และอยากเข้าไปเผชิญหน้าก็จะรู้จุด หรือใครไม่พร้อมก็จะได้หลีกเลี่ยงจุดปะทะ
  2. รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงให้แกนนำหรือผู้จัดชุมนุมใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อปรับแผน หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะหากได้ข้อมูลคลาดเคลื่อนการตัดสินใจก็จะผิดพลาด ซึ่งแต่ละครั้งล้วนเป็นการเดิมพันที่สูง
  3. ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงจะช่วยลดการตื่นตระหนกหรือความชุลมุนวุ่นวายหรือภาวะที่นำไปสู่อุปาทานหมู่ ซึ่งจะทำให้การชุมนุมครั้งนั้นไม่สามารถควบคุมทิศทางได้

หลักการของกรองข่าวแกง

  • ความปลอดภัยมาก่อนเรื่องอื่นเสมอ ทั้งทางกาย จิตใจและสุขภาพของทีมงาน สามารถถอนตัวหรือพักได้ทุกเมื่อ
  • ข้อมูลสถานการณ์สำหรับให้ผู้มาชุมนุมรับทราบและประเมินความปลอดภัยด้วยตัวเอง + อาจส่งให้ทีมจัดชุมนุมในกรณีถูกร้องขอ
  • ทีมกรองข่าวแกงมีข้อมูลพื้นฐาน แน่นอนว่าทุกกรณีและทุกสถานการณ์ ผู้ชุมนุมจะกำหนดและออกแบบความพร้อมของตัวเอง กรองข่าวแกงไม่ได้มีหน้าที่ชี้นำว่าทุกคนจะต้องเชื่อ ทั้งนี้กรองข่าวแกงเคยทำนามบัตรความปลอดภัย ในกรณีที่ว่าหากมาชุมนุมแล้วถูกจับจะต้องทำยังไงบ้าง เพื่อให้ผู้ชุมนุมสามารถรับมือความปลอดภัยขั้นพื้นฐานได้

ลักษณะการชุมนุมที่กรองข่าวแกงช่วยเช็กข่าวและความปลอดภัย

  • ม็อบที่ไม่มีแกนนำ ซึ่งระบบรักษาความปลอดภัยอาจไม่รัดกุมพอ
  • กรณีทีมผู้จัดชุมนุมขอให้ไปช่วยมอนิเตอร์
  • การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่มาชุมนุมปักหลักค้างคืน เช่น ชาวบ้านจะนะ บางกลอยที่มาตั้งหมู่บ้านบริเวณทำเนียบรัฐบาล

ตำแหน่งหน้าที่ในกรองข่าวแกง

  • เซ็นเตอร์ เป็นผู้รับข้อมูลจากทีมภาคสนาม รวมรวบข้อมูล ประเมินสถานการณ์ ตัดสินใจ สื่อสาร ทำภาพรวม
  • ภาคสนาม ทีมลงพื้นที่ แบ่งกันตามจุด ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์จริง และส่งข้อมูลลงกลุ่มให้เซ็นเตอร์เอาไปจัดเรียง

ทั้งนี้กรองข่าวแกงยังมีระบบอาสาสมัครเข้ามาช่วยให้การทำงานภาคสนามเพื่อประสิทธิภาพเรื่องความปลอดภัยในที่ชุมนุม โดยอาสาสมัครจะมาจากการชักชวนแบบปิด เป็นคนรู้จักเป็นเพื่อนของเพื่อน ยังไม่มีการเปิดรับอาสาอย่างเป็นทางการ

วิธีการส่งข้อมูลจากภาคสนาม

  1. ภาพถ่าย เห็นสถานที่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น เนื้อหาที่บนเวทีปราศรัย หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมนุม
  2. ข้อมูลแนบ ประกอบด้วย เวลา สถานที่ เหตุการณ์ ใคร ทำอะไร อย่างไร เช่น 10.00 น. ที่สะพานผ่านฟ้า พบตำรวจตั้งแถวประมาณ 50 คน ถือโล่ มีรถเครื่องเสียงด้านหลัง + แนบภาพ
ตัวอย่างการรายงาน 16.58 เชิงสะพานชมัย ฉีดน้ำอีกครั้ง ฉีดเรื่อยๆ ฉีดต่อเนื่อง #ม็อบ18กรกฎา
ตัวอย่างการรายงาน 14.50 ราษสติ๊ก & ราษสเปรย์ แสดงออกทางการเมืองบนถนนราชดำเนินกลาง #ม็อบ18กรกฎา
ตัวอย่างการรายงาน 15.31 แนว carmob อยู่บริเวณแยกมหากาฬ #ม็อบ18กรกฎา
ตัวอย่างการรายงาน 18.12 แยกนางเลิ้ง ตั้งหุ่นเตรียมทำกิจกรรม  #ม็อบ18กรกฎา

ช่องทางการสื่อสารของกรองข่าวแกง

Telegram

เป็นช่องทางในการสื่อสารหลักที่กรองข่าวแกงใช้ เน้นการสื่อสารรวดเร็ว ทันสถานการณ์

Twitter

เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะฟีดข่าวมาจาก Telegram ของกรองข่าวแกงอีกที เน้นการสื่อสารรวดเร็ว ทันสถานการณ์ เล่นกับเทรนด์ใน Twitter เช่น #ม็อบ18กรกฎา #ม็อบ1สิงหา

Facebook

เป็นช่องทางที่ไม่ได้ใช้สื่อสารข่าวสารเหมือน Telegram และ Twitter เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่เน้นความเร็วแต่เน้นเนื้อหา จึงใช้สำหรับประชาสัมพันธ์และสรุปสถานการณ์มากกว่า

ตัวอย่างการรายงานของกรองข่าวแกง ในการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2564

10.12 สะพานมัฆวาน พบมีการตั้งกรวย มีรถบัสตำรวจจอดอยู่ 4 คัน ยังเปิดถนนให้รถวิ่งได้ปกติ

11.11 พบรถฉีดน้ำ 2 คัน รถเติมน้ำ 2 คันจอดบริเวณข้างทำเนียบ ฝั่งราชดำเนิน ตรงข้ามกระทรวงศึกษา

11.13 แยกจปร. หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ คอนเทนเนอร์ 4 ตู้ กำลังติดตั้ง

13.40 แยกมัฆวานตำรวจกำลังวางลวดหนามบนตู้คอนเทนเนอร์ 2 ชั้น

13.55 การ์ด wevo ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อก่อนลงทำงานให้ความปลอดภัย บริเวณถนนราชดำเนินกลาง

14.09 ถนนราชดำเนินมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย พบแท็กซี่ไล่ประยุทธ์

14.23 หัวขบวนมุ่งหน้าผ่านฟ้า การ์ดกางเชือก เพื่อใช้ในการตั้งแนวระหว่างเดินขบวน

15.22 แยกผ่านฟ้า ผู้ชุมนุมที่ทำหน้ามาก่อนนำหุ่นศพวางบนลวดหนาม

15.40 รถน้ำ ยังฉีดน้ำอย่างต่อเนื่อง

15.44 น. ถนนราชดำเนินนอก ด้านหน้ามีการเผาหุ่นศพ

15.54 น. ผ่านฟ้ามีนักข่าวโดนกระสุนยาง

16.22 ภาพกระสุนยางในพื้นที่แยกผ่านฟ้า 16.45 บริเวณสะพานชมัย ยิงละอองน้ำไม่ทราบชนิด

16.50 น ผ่านฟ้า มีรถหกล้อมาจอดขวางถนนราชดำเนินหน้าแนวตำรวจ

16.58 เชิงสะพานชมัย ฯ ฉีดน้ำอีกครั้ง ฉีดเรื่อยๆ ฉีดต่อเนื่อง

16.59 น. แยกผ่านฟ้า เลนกลางมีรถหกล้อจอดพร้อมยกดั๊ม 6 คัน เลนขวารถดั๊มเล็กมาจอดพร้อมยกดั๊ม 3 คัน

16.59 สะพานชมัย ฯ มีการใช้แก๊สน้ำตาครั้งแรก

17.16 เชิงสะพานชมัย ฯ หกล้ออย่างน้อย 6 คัน มุ่งหน้าเชิงสะพานชมัย ฯ

17.18 สะพานชมัย ฯ รถหกล้อ กำลังทยอยมาตั้งแนวป้องกัน

17.23 ฝั่งสะพานชมัย ฯ คฝ. ใช้แก๊สน้ำตาสามลูกยิงออกมาจากโรงเรียน ตกลงมาทางแยกนางเลิ้ง

17.47 น. แยกผ่านฟ้า ฉีดน้ำ

17.48 น. แยกผ่านฟ้า ผชน. เริ่มขยับเข้ามาใกล้แนว คฝ. มากขึ้น

17.49 น. รถปราศรัยเคลื่อนกลับมามาถึงแยกผ่านฟ้า

17.49 สะพานชมัย ฯ เริ่มยิงลูกแก๊สน้ำตาอีกรอบ กระสุนมาตกที่แยกนางเลิ้ง

18.00 แยกผ่านฟ้า รถเครื่องเสียงประกาศบอกมวลชนให้ไปรวมตัวกันที่แยกนางเลิ้ง

18.12 แยกนางเลิ้ง ตั้งหุ่นเตรียมทำกิจกรรม

18.13 แยกนางเลิ้ง แก๊สมาอีกรอบ

18:16 ท้ายขบวน car mob อยู่ถนนนครสวรรค์

18.17 กิจกรรมเผาหุ่น และกิโยติน

18.19 ผู้ชุมนุมยืนชูสามนิ้ว แยกนางเลิ้ง

18.49 แยกเทวกรรม คฝ. ใช้กระป๋องควัน

18.49 แยกเทวกรรม คฝ.ขยับแนว และประกาศเตรียมจับกุมหากผู้ชุมนุมไม่แยกย้าย

18.52 หน้าร้านกาแฟอินทนิล สาขาเทวกรรม มีการยิงแก๊สน้ำตา

18.56 กระป๋องควันถูกยิงข้ามสะพานเทวกรรม ตกมายังถนนนครสวรรค์

20.13 จนท.ยึดพื้นที่ถึงแยกยมราช

20.25 จนท.ปักหลักตั้งโล่แยกยมราช สั่งเตรียมจับกุม

การทำแผนที่เส้นทางหนี เส้นทางเดินทางกลับบ้านของกรองข่าวแกง

ตัวอย่างแผนที่ กรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564
  • ในองค์ประกอบของแผนที่จะประกอบไปด้วยถนนเส้นทางต่างๆ จุดที่เจ้าหน้าที่รัฐสกัด (รถน้ำ, คฝ., หีบเพลง) เส้นทางหนี เส้นทางรอง เส้นทางเดินทางกลับ 
  • พยายามดูจากถนนเส้นหลัก
  • ประเมินทางหนีจากเส้นหลักว่ามีเส้นทางไหนบ้าง เช่น ซอยต่างๆ
  • พยายามหาทางแยกที่มีทางเลือก เพื่อให้รู้ถนนเส้นรองจากเส้นหลัก
  • ต้องมีการสื่อสารชี้แจงเส้นทางการเดินทางกลับด้วย

จากกรณีศึกษา “กรองข่าวแกง” จะพบว่าผู้จัดชุมนุมจำเป็นต้องมีทีมมอนิเตอร์ที่มีประสิทธิภาพเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการจัดการชุมนุมแต่ละครั้ง โดยมีหลักการ องค์ประกอบดังนี้

หลักการของทีม monitor

  • เราต้องถือข้อมูลข่าวสารให้ได้มากที่สุด และข้อมูลข่าวสารนั้นต้อง “ชัวร์” มีหลักฐานมีอ้างอิงให้ชัดที่สุด
  • ห้ามสร้างข่าวเท็จข่าวลวงโดยเด็ดขาด เพราะปฏิบัติการข่าวลวงนั้นสามารถนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้ชุมนุมได้โดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
  • ต้องทำให้การ monitor เป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นเรื่องจำเป็นต่อการชุมนุมทุกครั้ง

องค์ประกอบ บทบาทหน้าที่ของทีม monitor

  • center ดูภาพรวมคอยตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ตัดสินใจ และสื่อสารภายในทีม
  • ทีมสื่อสาร เป็นทีมที่นำข้อมูลข่าวสารที่ถูกตรวจสอบแล้วนำไปสื่อสารต่อเพื่อการเท่าทัน
  • ทีมภาคสนาม มีหน้าที่เช็คข้อมูลภาคพื้นการชุมนุมกระจายจุดอยู่ในพื้นที่การชุมนุม เพื่อเช็คข้อมูลข่าวสาร เรื่องจริงเรื่องลวงต่างๆ
  • ทีม online คอย monitor สนาม online เช่น ใน Live สด ในเพจต่างๆ หรือเช็กข่าวใน twitter
  • ทีมแผนที่ เป็นทีมที่ทำแผนที่ที่คอยอัพเดตว่าจะมีเส้นทางไหนบ้างที่ปลอดภัย รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนเส้นทางของการเคลื่อนขบวนด้วย

ทั้งนี้ในหลายๆ หน้าที่นั้นสามารถทำได้หลายหน้าที่ในคนคนเดียว ขึ้นอยู่กับความพร้อม จำนวนสมาชิก และสถานการณ์

กระบวนการทำงานของทีม monitor

  • ทีม monitor จะต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดของการชุมนุมในครั้งนั้นๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะมันจะสัมพันธ์กับการ monitor ที่มีประสิทธิภาพ
  • ทีม monitor จะต้องอัพเดทสถานการณ์ต่างๆ ก่อนการชุมนุม ทั้งข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม เช่น ท่าทีของเจ้าหน้าที่ต่อการชุมนุมในครั้งนี้ หรือท่าทีของรัฐบาลด้วย เพื่อความรอบด้านทางข้อมูลข่าวสารที่สุด
  • center จะเป็นคนกำหนดบทบาทของสมาชิกในทีม monitor รวมไปถึงตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย
  • ทีม monitor ต้องไม่อยู่ในลักษณะที่ปรากฏตัว เพื่อการปฏิบัติการที่สะดวกมีประสิทธิภาพ
  • ต้องมี channel ในการสื่อสารข้อมูลให้กับผู้ชุมนุมอย่างมีประสิทธิภาพ ในที่นี้แนะนำ Telegram เนื่องจากมีความปลอดภัยมากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ

วิธีการส่งข้อมูลจากภาคสนามให้ center ของทีม moniter

  • ภาพถ่าย เห็นสถานที่ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น เนื้อหาที่บนเวทีปราศัย หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่การชุมนุม
  • ข้อมูลแนบ ประกอบด้วย เวลา สถานที่ เหตุการณ์ ใคร ทำอะไร อย่างไร

ข้อพึงระวัง

  • ถ้าข้อมูลข่าวสารยังไม่นิ่ง และอ้างอิงไม่ได้อย่าเพิ่งส่งต่อให้ผู้ชุมนุมต้องเช็คชัวร์ก่อน เช่นที่มาที่ไปของแหล่งข่าว ถ้ามาจากใน internet ให้เช็คแหล่งที่มาของข่าวสารนั้นๆ เช่น มาจากการแถลงข่าวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มาจากสื่อมวลชน มาจากทนายความหรือนักสิทธิมนุษยชน เพราะมีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน มีข้อมูลและเหตุผลรองรับ ถ้าข่าวมูลข่าวสารยังไม่นิ่งอย่าสื่อสารหรือตีความทันทีทันใด เพราะเราอาจจะเป็นผู้ปล่อยข่าวลวงเสียเอง ถ้าอยู่ในภาคสนามการชุมนุมก็ต้องไปพิสูจน์เพื่อชี้ชัดว่าข่าวสารนี้เป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องลวง ข้อมูลข่าวสารที่ต้องเช็คก่อนไม่ควรเชื่อในทันทีคือ คำบอกเล่าที่ไม่มีเหตุที่ไปที่มาจากคำปากต่อปากในภาคสนาม ฉะนั้นต้องเช็กชัวร์ หรือใน facebook และ twiter เองก็ต้องเช็กให้เห็นถึงที่มาที่ไปของข่าวสาร
  • บทบาทของทีม monitor คือการเช็กข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความปลอดภัย ไม่ใช่การชี้นำผู้ชุมนุม
  • เนื้อหาที่ทีม monitor ส่งต่อให้ผู้ชุมนุมจะต้องมีความเป็นกลาง และไม่พุ่งเป้าชี้นำ ไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไป
  • ต้องเชื่อเสมอว่าผู้ชุมนุมมีเจตจำนงของตัวเองและไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เช่น เรื่องความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการขัดขวางการชุมนุมนั้น ผู้ชุมนุมบางส่วนอาจจะพร้อมทะลวงเข้าไปเพื่อรื้อสิ่งกีดขวาง หรือผู้ชุมนุมบางส่วนอาจจะรอตั้งหลัก ดูเชิง และบางส่วนอาจจะต้องการเช็คทางกลับบ้าน ทุกคนมีเจตจำนงและความพร้อมไม่เหมือนกัน

ข้อเสนอต่อผู้จัดชุมนุม

  • ต้องคิดว่าการ monitor ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญและทีม monitor ก็มีความสำคัญไม่แพ้ทีมอื่นๆ
  • ในทุกการชุมนุมต้องมีทีม monitor
  • ต้องสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมไปด้วยกัน
  • ถ้าผู้จัดการชุมนุมไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลยก็สามารถปรึกษากับทีมที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะได้ เพื่อศึกษาประสบการณ์และปฏิบัติการไปพร้อมกัน

ขอขอบคุณ ทีมงานกรองข่าวแกง

อ้างอิง

หมายเหตุ: งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานจากโครงการสกัดความรู้การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย จัดโดย Act Lab เมื่อ ส.ค.-ก.ย. 2564 โดยมุ่งหวังว่าผลงานชุดนี้จะเป็นฐานข้อมูลให้กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมให้เก็บข้อมูลสถิติ

    เราเก็บข้อมูลสถิติซึ่งประกอบด้วย IP Address และอื่นๆ ตามที่ Google analytic เรียกดู

บันทึกการตั้งค่า