งานรณรงค์ของเราคิดจากความอยากของเราหรือความต้องการของสังคม?
คิดแคมเปญแต่ละครั้งไม่ปังเสียทีชักเริ่มท้อ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนต้องรีบแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่คนในสังคมกลับไม่สนใจเหลียวแล นักกิจกรรมมักตกอยู่ในสภาวะอารมณ์นี้จนเป็นสาเหตุต้นๆ ของอาการหมดไฟในการทำงานเลยทีเดียว
บางทีเราอาจต้องกลับมาตั้งคำถามก่อนว่าแคมเปญของเราคิดจากความอยากของเราหรือความต้องการของสังคมกันแน่
✦ ทางแรก คิดจากอัตวิสัย เอาตัวเองเป็นหลัก
– มองจากมุมตัวเอง คิดจากตัวเรา/กลุ่มเรา เอาตัวเราเป็นศูนย์กลาง ฉันอยากทำอะไร อยากเห็นอะไรอยากได้อะไร อยากให้เกิดอะไรขึ้น
ตัวอย่างเช่น เราอยากแก้ปัญหายาเสพติด อยากให้คนเลิกเสพยา เราจึงรณรงค์ให้คนตระหนักรู้โทษของยาเสพติดและหวังว่าเขาจะเลิกยาเสพติดได้
– วิธีคิดนี้มาจากความเชื่อว่าฉันมีของดีอยากให้คนอื่น เราเชื่อว่าสิ่งนี้ดีและจะดีต่อคนอื่นต่อสังคมเราจึงสรรหาวิธีต่างๆ นานาเพื่อให้คนอื่นมาเห็นด้วยกับเรา ไม่ว่าจะด้วยวิธีหลอกล่อชักชวนโน้มน้าวให้คนเข้ามาหาเราเพื่อรับของดีๆ จากเราหรือต่อต้านบางอย่างร่วมกันกับเรา
✦ อีกทางหนึ่ง คิดจากภววิสัย สถานการณ์กำหนด
– มองบริบทสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สังคมมีปัญหาอะไร ชุมชนเรามีปัญหาอะไร วิเคราะห์ว่าผู้คนต้องการอะไร สถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้วเราทำอะไรได้บ้าง หาวิธีแก้ หา solution จากความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เราจะทำงานด้วยเป็นหลัก
ตัวอย่างเช่น สถิติผู้ใช้ยาเสพติดเพิ่มมากขึ้นสัมพันธ์กับปัจจัยโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมที่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น เราจะไปฟังผู้ใช้ยาเสพติดก่อนว่าทำไมเขาถึงเสพยา อะไรเป็นปัจจัยให้เขาหันเข้าสู่การใช้ยาเสพติด จากนั้นจึงมาคิดออกแบบงานว่าเราน่าจะทำอะไรได้บ้างที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายด้วย
วิธีคิดแบบภววิสัยเป็นการคิดสองทาง คือวิเคราะห์สถานการณ์และดูความต้องการของสังคมจากนั้นจึงมาดูว่าเรามีอะไรที่จะสนองตอบได้
แน่นอนว่าการคิดงานรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมเริ่มต้นจากเราอยากทำอะไร อยากเห็นอะไร เป็นแพสชั่นให้เราลงมือทำสิ่งนั้นเพื่อไปถึงเป้าหมายปลายทางการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่พึงระมัดระวังว่าวิธีคิดแบบอัตวิสัยสุดโต่งเกินไปจะกลายเป็น “คิดแทน” กลุ่มคนที่เราจะไปทำงานด้วย ไม่ฟังผู้อื่น หรือยัดเยียดความเชื่อของเราให้ผู้อื่นในนามของความหวังดีเจตนาดี ไม่ต่างจากที่รัฐบาลคิดแทนประชาชน แกนนำคิดแทนผู้ชุมนุม ผู้รณรงค์คิดแทนกลุ่มเป้าหมาย หนักกว่านั้นคือมองว่าคนอื่นโง่ถูกหลอกตกอยู่ภายใต้มายาคติครอบงำ เราจึงต้องทำให้เขาตาสว่างหลุดพ้นจากมายาคตินั้น ซึ่งเป็นวิธีคิดที่อันตรายอย่างยิ่ง
ในทำนองเดียวกันวิธีคิดแบบภววิสัยสุดโต่งเกินไปก็อาจกลายเป็นไล่ตามสถานการณ์ลูกเดียว ขาดแรงบันดาลใจหมดแพสชั่นหรือมัวแต่วิเคราะห์แล้ววิเคราะห์อีกจนไม่ได้ลงมือทำเสียที
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาสมดุลระหว่างการคิดแบบอัตวิสัยกับภววิสัย คิดกลับไปกลับมาทั้งสองทางว่าเราอยากได้อะไรและสังคมอยากได้ด้วยหรือไม่
ลองสำรวจว่าที่ผ่านมากลุ่มเราคิดงานจากอัตวิสัยหรือภววิสัยและให้น้ำหนักกับทางไหนมากกว่ากัน…
Act Lab
Activist Laboratory Thailand
ห้องทดลองนักกิจกรรม
พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม