คู่มือรับมือแก๊สน้ำตาเบื้องต้น

เรียบเรียงโดย ยา

แก๊สน้ำตาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้สลายการชุมนุมของประชาชนผู้ประท้วงรัฐ และทุกวันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธที่เสี่ยงน้อยกว่าที่จะทำให้เสียชีวิตที่กองกำลังความมั่นคงหลายแห่งนำมาใช้เป็นทางเลือกนอกจากอาวุธปืน เราเรียกอาวุธเหล่านี้ว่าอาวุธที่เสี่ยงน้อยกว่าที่จะทำให้เสียชีวิต แทนที่จะเรียกว่าอาวุธที่ไม่ทำให้เสียชีวิต เพราะแม้ว่าเป็นอาวุธที่ไม่ถูกออกแบบมาเพื่อการสังหารแต่ก็ยังอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้

แก๊สน้ำตาเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ตำรวจหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธที่มีอันตรายกว่า แต่ในทางปฏิบัติตำรวจกลับใช้แก๊สน้ำตาในลักษณะที่ไม่ตรงกับเป้าประสงค์เดิมของมัน โดยมักนำมาใช้ในปริมาณมากและใช้กับผู้ประท้วงอย่างสงบเป็นส่วนใหญ่ มีการเล็งกระบอกแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนโดยตรง

การปฏิบัติโดยมิชอบอย่างกว้างขวางเช่นนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงการขาดการควบคุมให้มีการใช้อย่างเหมาะสม ขาดการควบคุมในการใช้สารพิษอย่างมีมาตรฐาน การตัดสินใจที่น่ากังขาของผู้บังคับบัญชาระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชา และการขาดการฝึกอบรมการนำแก๊สน้ำตามาใช้อย่างเหมาะสม แม้สหประชาชาติจะแสดงข้อกังวลร้ายแรงด้านมนุษยธรรมและได้ออกแนวปฏิบัติเมื่อเร็วๆ นี้ แต่การออกแบบ ผลิตและซื้อขายแก๊สน้ำตายังคงขาดการควบคุมเป็นส่วนใหญ่ งานชิ้นนี้พยายามหาแนวทางการรับมือกับแก๊สน้ำตาท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว

รู้จักแก๊สน้ำตา

แก๊สน้ำตาถูกใช้ครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยใช้สารที่มีชื่อว่า CN gas แต่ในภายหลังมีการคิดค้นสารอีกชนิดหนึ่งที่มีความรุนแรงกว่า CN gas แต่เป็นพิษน้อยกว่า มีชื่อว่า CS gas ถูกใช้ครั้งแรกในสงครามเวียดนามโดยกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งในเวลาต่อมา CS gas ที่เป็นพิษน้อยกว่านี้ถูกนำไปใช้ปราบเหตุจลาจลภายในประเทศ

แก๊สน้ำตาจัดเป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มีลักษณะเป็นผง แต่เหตุที่หลายคนเรียกว่าแก๊ส เป็นเพราะเมื่อมันอยู่ภายใต้แรงดันที่เหมาะสมจะสามารถฟุ้งกระจายในอากาศได้เหมือนแก๊ส นอกจากนี้อาจถูกนำไปผสมให้กลายเป็นของเหลวได้อีกด้วย

แก๊สน้ำตาเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มสารเคมีมากกว่า 12 ชนิด แต่ที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิดได้แก่           

  1. Chloroacetophenone: CN gas มีการนำมาใช้ปราบจลาจลและในกิจการของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านความมั่นคงและความปลอดภัย โดยการใช้งานจะอยู่ในรูปละอองลอยที่บรรจุในภาชนะอัดความดัน ต่อมาถูกใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวแต่ก็ลดน้อยลงมากแล้วในปัจจุบันเนื่องจากระยะเวลาออกฤทธิ์ค่อนข้างนาน
  2. Chlorobenzylidenemalonitrile: CS gas เป็นผงผลึกสีขาว เมื่อไหม้ไฟจะได้ก๊าซไม่มีสี           
  3. Dibenzoxazepine: CR gas มีลักษณะเป็นผลึกสีเหลืองซีดมีกลิ่นคล้ายพริกไทย ในสหรัฐอเมริกาไม่ใช้สารตัวนี้ในการควบคุมการจลาจลเนื่องจากมีสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง

แก๊สน้ำตาเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ตำรวจควบคุมฝูงชนนำมาใช้สลายการชุมนุม เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ไม่ทำให้เสียชีวิตโดยทันทีจึงทำให้คนมองว่าไม่รุนแรง แต่หากได้รับแก๊สน้ำตาเป็นเวลานานหรือไม่รู้วิธีการรับมือที่ถูกต้องก็อาจนำไปสู่อันตรายอย่างมาก ดังนั้นการรู้จักวิธีการรับมือกับแก๊สน้ำตาจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเสียหายต่างๆ รวมทั้งรักษามวลชนไว้เพื่อให้การชุมนุมดำเนินต่อไปได้ ผู้จัดม็อบและมวลชนจึงควรรู้วิธีรับมือและแนวทางป้องกันเบื้องต้นหากเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา 

ข้อควรรู้ในการป้องกันเมื่อต้องเผชิญแแก๊สน้ำตา

การสัมผัสกับแก๊สน้ำตาจะทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนแผลไฟไหม้ น้ำตาไหล จาม แน่นหน้าอก และหายใจลำบาก รวมทั้งระคายเคืองที่ผิวหนัง ในกรณีส่วนใหญ่อาการเช่นนี้จะหายไปภายใน 10-20 นาที 

อย่างไรก็ดี แก๊สน้ำตาส่งผลกระทบต่อบุคคลแตกต่างกันไป โดยเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงวัย มักเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากกว่า ระดับสารพิษก็แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ ปริมาณที่ใช้ และสภาพแวดล้อมที่ใช้ การสัมผัสเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงด้านสุขภาพ

กลไกการออกฤทธิ์ต่อร่างกายของแก๊สน้ำตายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สารเคมีชนิดนี้มุ่งเน้นให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุชั้นนอก ไม่ว่าจะเป็นดวงตาหรือผิวหนัง ผู้ที่ได้รับแก๊สน้ำตาเข้าไปจะมีอาการในแต่ละระบบอวัยวะดังนี้

  • ดวงตา : เป็นอวัยวะเป้าหมายของแก๊สชนิดนี้ เมื่อแก๊สกระทบดวงตาจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าอวัยวะอื่น อาการเหล่านั้น ได้แก่ แสบตา นํ้าตาไหล เยื่อบุตาบวมแดง หนังตาบวม หรือมองไม่เห็นชั่วคราว จึงเป็นที่มาของชื่อ “แก๊สน้ำตา”
  • ระบบทางเดินหายใจ : ร่างกายอาจได้รับแก๊สน้ำตาจากการสูดดมจึงก่อให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ น้ำมูกไหล จาม แน่นหน้าอก หรือหายใจหอบลําบาก
  • ผิวหนัง : ระบบอวัยวะที่จะได้รับอันตรายอย่างรวดเร็วถัดจากดวงตา เนื่องจากเป็นส่วนนอกสุดของร่างกายและกระทบกับสารเคมีได้โดยตรง ผู้ที่ได้รับแก๊สน้ำตาอาจมีอาการผิวหนังแดง แสบร้อน หรือคัน แต่ในกรณีที่มีอาการแพ้หรือร่างกายได้รับสารเคมีมากอาจเกิดผิวหนังพุพองได้
  • ระบบทางเดินอาหาร : พบในบางราย ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายและปริมาณที่ได้รับ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียร่วมด้วยได้

การเตรียมตัวรับมือ

ควรปกปิดร่างกายให้มิดชิดโดยเฉพาะบริเวณเยื่อบุต่างๆ ด้วยการแต่งกายเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว (เพื่อปกปิดผิวหนังให้มากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ แต่ต้องสวมใส่สบายไม่รัดแน่นจนเกินไป) รวมถึงการสวมหมวก สวมหน้ากากอนามัย และสวมแว่นตาป้องกัน หากเป็นแว่นตาแบบครอบติด เช่น Safety goggles หรือแว่นตาสำหรับว่ายน้ำได้ยิ่งดี

เนื่องจากแก๊สน้ำตาเป็นสารเคมีที่ละลายในไขมันได้ดี ก่อนการเข้าชุมนุมหรือเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ไม่ควรทาโลชัน ครีม หรือวาสลีนซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมัน เพราะอาจทำให้แก๊สน้ำตาออกฤทธิ์ได้เร็วและรุนแรงขึ้นด้วย

อุปกรณ์เตรียมรับมือแก๊สน้ำตา

  • เสื้อกันฝน
  • แว่นกันแก๊ส
  • หน้ากากกันแก๊ส หน้ากากอนามัย (สำหรับกรณีที่ไม่สามารถหาหน้ากากกันแก๊สได้)
  • หมวกนิรภัย
  • ผ้าเช็ดหน้า กระดาษซับน้ำ (แบบใช้แล้วทิ้งเนื่องจากหากใช้ซ้ำอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองจากสารเคมีที่ติดอยู่)
  • น้ำดื่ม น้ำเกลือสำหรับล้างแผล นม น้ำยาลดกรดในกระเพาะ (ที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ หรือแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์  เช่น Maalox)
  • ชุดสำหรับเปลี่ยน
  • ถุงมือกันความร้อน
  • กระสอบป่าน
  • ยา (สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว)

วิธีการรับมือแก๊สน้ำตา

อันดับแรกคือป้องกัน

  • ในส่วนที่เป็นทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากกันแก๊สหนาๆ แว่นตาที่ไม่มีช่องระบายอากาศ
  • ในส่วนที่เป็นร่างกาย ควรสวมใส่ถุงมือยาง เสื้อผ้าหนาๆ กางเกงยีนส์ รองเท้าคอมแบต (ความรุนแรงต่างกันถ้าใส่เสื้อยืดธรรมดาอาจรู้สึกเจ็บร้าวถึงกระดูกแต่ถ้าใส่เสื้อหนาๆ อย่างเสื้อยีนส์อาจรู้สึกจุกและช้ำเล็กน้อย)

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องแยกระหว่างแก๊สน้ำตาชนิดกระป๋องกับจากรถฉีดน้ำแรงดันสูงเนื่องจากกายภาพที่ต่างกันความรุนแรงก็ต่างกันด้วย ความรุนแรงของแก๊สน้ำตากระป๋องมีความแรงและสร้างความเจ็บปวดได้เยอะมาก เนื่องจากเป็นแก๊สน้ำตาชนิดที่ยิงมาจากปืน m79 ซึ่งเป็นโลหะ หนักประมาณครึ่งกิโลที่มาด้วยความแรงทำให้จุกได้ ซึ่งถ้ายิงจากทำเลที่มีองศาสูงๆ ก็จะช้าหน่อย แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ยิงในแนวดิ่งหรือแนวตรงก็จะทำให้รู้สึกจุกได้ ถ้าโดนหน้าหรือผิวโดยตรงก็พร้อมที่เผาไหม้ได้ สังเกตได้จากการที่เราจะเก็บหรือกอบกู้นั้นจะต้องสวมถุงมือ ส่วนในเรื่องของงความรุนแรงก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละไทป์ว่าใช้ของอะไร อาจจะเป็นของมาซิน แสบเล็กน้อยไม่ถึงกับเผาไหม้แต่ทำให้ระบบหายใจทำงานไม่ได้ไปสักพัก มีอาการแสบตา ระคายเคือง ทำให้มองไม่เห็นชั่วขณะ เมื่อหายใจเข้าไปก็ทำให้ระบบหายใจติดขัดจนต้องหายใจทางปากซึ่งนั่นทำให้ยิ่งสูดแก๊สมากขึ้นจนเกิดอาการโคม่า

กรณีแก๊สน้ำตาชนิดกระป๋อง ให้ดูทิศทางลม ถ้าเป็นไปได้ควรอยู่เหนือลม ซึ่งทิศทางของลมสามารถดูได้จากธง ต้นไม้ ตัวควัน อาจจะควันจากแก๊สน้ำตาหรือควันบุหรี่ และกรณีที่มีไฟแช็กสามารถดูได้จากทิศทางของไฟก็ได้ 

  • การเก็บแก๊สกระป๋อง ผู้ที่อยู่แนวหน้าสามารถใช้ไม้ตีเพื่อให้กระป๋องแก๊สกลับไปที่ฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่มีข้อควรระวังคืออาจจะโดนหน้าเราได้
  • กรณีที่มีถุงกระสอบสามารถใช้ถุงกระสอบที่เปียกน้ำครอบกระป๋องแก๊สเพื่อไม่ให้ควันกระจายแล้วใช้น้ำราดเพื่อดับแก๊สน้ำตาได้
  • กรณีที่มีถุงมือกันความร้อน สามารถหยิบกระป๋องแก๊สแล้วขว้างไปในแหล่งน้ำใกล้เคียงได้ ในกรณีที่ไม่มีแหล่งน้ำใกล้เคียงควรจะขว้างไปให้พ้นแนวไกลจากผู้คนที่สุด

กรณีแก๊สน้ำตาจากรถฉีดน้ำแรงดันสูง เสื้อกันฝนสามารถได้ในระดับหนึ่ง ไม่ควรหาสิ่งของมากั้นเนื่องจากรถฉีดน้ำมีแรงดันสูงทำให้ไม่อาจต้านทานได้ จึงควรหลบหลังกำแพงหรือแนวกั้นขนาดใหญ่ กรณีไม่สามารถวิ่งหนีได้ควรยืนหันหลัง

แบบที่เป็นรถน้ำนี้น่าจะมีสาร 3-5 ตัว มีทั้งแบบที่เป็นกรดอ่อนๆ จนถึงขั้นรุนแรง และขึ้นอยู่การเติมน้ำด้วยว่าน้ำในรถนั้นมีปริมาณน้อยหรือมาก ความเข้มข้นของสารเคมีขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำ ยกตัวอย่างเหตุการณ์การชุมนุมหน้ารัฐสภาหลังจากฉีดล็อตแรกเจ้าหน้าที่เติมน้ำยังไม่ได้ครึ่งคันก็เติมแก๊สเลยเพราะรีบฉีด  คนที่เผชิญแก๊สน้ำตาในครั้งนั้นบอกเล่าประสบการณ์ว่า

ตอนนั้นโดนหลายรอบตั้งแต่แก๊สน้ำตาแบบกระป๋องและโดนตัวกระป๋องด้วย รู้สึกจุกจนเพื่อนต้องลากออกมาจากตรงนั้น ส่วนรถน้ำก็โดนทั้งแบบธรรมดาครั้งแรก และแบบที่ผสมแบบเข้มข้น เวอร์ชั่นแบบธรรมดาทำให้รู้สึกแค่แสบๆ แต่ความแรงของมันทำให้รู้สึกปลิวได้ง่าย ลอยแบบเท้าไม่ถึงพื้น ส่วนที่เข้มข้นแสบมันกัดผิวจนทำให้ผิวไหม้

“เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่โดนแก๊สน้ำตาก็ยังไม่มีความรู้หรือประสบการณ์มากพอ พยายามทดลองไปเรื่อยๆ อยู่ในช่วงลองผิดลองถูกอยู่ จึงใช้ยาสีฟันตามคำแนะนำ ยาสีฟันจะใช้เยอะมาก ทำให้เย็นๆ ทำให้ลืมความเจ็บปวดเฉยๆ แต่ไม่ได้ช่วยรักษาแผล แล้วก็มีนมผสมน้ำยาลดกรด น้ำเกลือ จากการทดลองรู้สึกว่าน้ำเปล่าดีที่สุด ส่วนน้ำเกลือการใช้หลายๆ ครั้งติดต่อกันทำให้รู้สึกระคายเคืองซึ่งต่างจากน้ำเปล่าที่บรรเทาได้ช้ากว่าแต่การใช้ติดต่อกันไม่ได้ทำให้รู้สึกระคายเคือง เมื่อโดนหลายๆ ครั้งมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้รู้สึกชิน เพราะหลังๆ ไม่ค่อยรู้สึกอะไร แทบจะไม่ค่อยใช้อุปกรณ์ป้องกันเท่าไหร่ เช่น หน้ากากกันแก๊ส หรือแว่นตาจะไม่ค่อยใช้แล้ว ใช้เพียงหน้ากากอนามัยสองชั้น เราเรียนรู้ว่าควรจะหายใจยังไง ควรจับจังหวะหายใจช่วงไหนควรเปิดปากช่วงไหน”

กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยุ่บริเวณด้านหน้าตู้คอนเทนเนอร์ที่กั้นถนนวิภาวดีมุ่งหน้าไปกรมทหารราบที่ 1
(ที่มาภาพ: ประชาไท)

การรู้จังหวะหายใจของตนเองก็ช่วยได้ในกรณีเผชิญแก๊สน้ำตา โดยคงระดับจังหวะการหายใจไว้ให้คงที่ ไม่สูดหายใจแรงเกินไปเพราะจะทำให้แก๊สเข้ามาก และควรปิดปาก (ไม่หายใจทางปาก) เพราะทางช่องปากจะทำให้แก๊สเข้าในร่างกายง่ายที่สุดและปริมาณมาก ควรหายใจเข้าทีละนิดไม่ควรหายใจรัวทีเดียว เพราะกลไลของร่างกายพยายามจะหาอากาศบริสุทธิ์เข้าสู่ร่างกายอยู่แล้ว

ในกรณีที่เป็นแก๊สถ้ามีอุปกรณ์เก็บกู้ก็สามารถรับมือได้ดี แต่กรณีที่เป็นแก๊สน้ำตาผสมน้ำแบบฉีดแม้จะมีอุปกรณ์กัน (ชุดโล่) ก็ไม่ได้ผลต้านไม่ไหว เพราะฉะนั้นควรใช้วิธีอื่น เช่น การใช้เลเซอร์ (มีทั้งสีแดง สีเขียว สีม่วง) เลเซอร์ที่เป็นแสงสีม่วงจะมีอุลตร้าไวโอเลตสูงกว่าสีอื่นๆ จะมีความเข้มข้นสูงกว่า 

การใช้งานเลเซอร์ เราจะต้องเข้าใจกลไลการทำงานของรถฉีดน้ำ คือจะมีคนคอยบังคับกระบอกฉีดน้ำซึ่งจะนั่งอยู่ในรถโดยจะใช้กล้องเหมือนเรือดำน้ำนั่งอยู่ด้านในแล้วส่องขึ้นไปด้านบนแล้วบังคับ ดังนั้นจึงต้องยิงแสงเลเซอร์ไปที่ตัวกล้องด้านบนเพื่อให้สะท้อนลงมายังคนมอง สร้างความเสียหายกับดวงตา ถ้าโดนเต็มๆ ก็อาจจะทำให้ตาพร่ามัวได้ เนื่องจากตัวกล้องที่เจ้าหน้าที่ใช้ดูมีลักษณะเหมือนแว่นขยาย แสงเลเซอร์ก็จะขยายไปตามขนาดแว่น อย่างไรก็ตามยากที่จะเล็งให้ตรงจุดเพราะเลนส์กล้องด้านบนมีขนาดเล็กมาก

วิธีการดูแลเพื่อน และดูแลตัวเองในระหว่างโดนแก๊สน้ำตา

เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาเราควรประเมินความพร้อมของร่างกายตัวเอง ถ้าหากรู้สึกว่าไม่ไหวควรออกจากพื้นที่โดยเร็ว สังเกตลักษณะอาการและสีหน้าเพื่อนรอบตัวด้วย ในกรณีที่ตัวเราเองก็ไม่ไหวแล้วควรส่งสัญญาณให้เพื่อนมาช่วย

  การดูแลเพื่อนข้างๆ เมื่อโดนฉีดน้ำแรงดันสูง: เราจะต้องประเมินเพื่อนก่อนว่าโดนยังไง แล้วดูระยะว่าเพื่อนอยู่ไกลกับเราแค่ไกล เราพอจะช่วยเพื่อนได้ไหม ถ้าเราไม่สามารถช่วยเพื่อนได้เราก็ต้องส่งสัญญาณไปยังเพื่อนอีกคนให้ช่วยลากเพื่อนไปให้เร็วที่สุด มีทั้งภาษามือหรือจะใช้วิธีการหลอกล่อ เช่น ผู้บาดเจ็บอยู่ฝั่งซ้าย ส่วนเราอยู่ฝั่งขวาก็จะให้เพื่อนที่อยู่ฝั่งด้านหลังมาเติมฝั่งขวา เพื่อล่อให้เข้าใจว่าจะบุกฝั่งขวา รถก็จะฉีดฝั่งขวาเพื่อที่จะกันเราบุกแล้วเพื่อนที่เหลือก็จะเข้าช่วยผู้บาดเจ็บได้

(ที่มาภาพ: ประชาไท)

การปฐมพยาบาลในที่เกิดเหตุ 

เมื่อมีอาการแสบตา น้ำมูกน้ำตาไหล หรือแสบคันตามผิวหนังให้รีบล้างออก โดยมีวิธีการดังนี้

  • ใช้น้ำสะอาดล้างตา วิธีการตะแคงข้างให้น้ำไหลผ่านเรื่อยๆ ให้ได้มากที่สุด 
  • ห้ามใช้เบกกิ้งโซดาล้างตา หลายคนเชื่อว่าแก็สน้ำตาเป็นกรดดังนั้นเพื่อให้กรดคายความร้อจึงใช้เบกกิ้งโซดาที่เป็นด่างมาล้าง การทำแบบนี้ทำให้ตาได้รับความเสียหายอาจตาบอดได้ อาจใช้น้ำยาลดกรดผสมกับน้ำเปล่าในอัตราส่วน 1:1
  • กรณีแก๊สน้ำตาติดเสื้อผ้าให้รีบล้างน้ำแล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เร็วที่สุดเนื่องจากสารเคมีที่ติดเสื้ออาจปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้
  • หากโดนผิวหนังแล้วแสบร้อนให้รีบล้างน้ำ ดูแลเหมือนแผลไฟไหม้ คือล้างด้วยสบู่ (ห้ามถู) และใช้น้ำไหลผ่านให้ได้มากที่สุด
  • การดูแลรักษาแผล ขึ้นอยู่กับลักษณะของแผลที่แตกต่างกัน สามารถดูแลแผลไปตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น แผลพุพองจากความร้อนใช้วิธีการทาด้วย silver cream หรือหากมีอาการปวดแสบ สามารถทานยาแก้ปวดได้ (ควรกินยาในกรณีที่แผลอักเสบ)

การเตรียมความพร้อมของผู้จัดชุมนุม

ควรฝึกปฐมพยาบาล ฝึกการเข้าปะทะ การป้องกัน การพาเพื่อนหนี การอ่านแผนที่ การสื่อสารต่างๆ ภาษากาย การอ่านวอร์ การใช้งานวิทยุ การฟังวิทยุ

การสื่อสารขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น สถานการณ์ปกติก็จะใช้วิทยุสื่อสาร แต่หากอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น โดนแก๊สน้ำตาอยู่หรือโดนระดมยิงจนไม่สามารถที่จะใช้วิทยุได้ เมื่อวิทยุโดนน้ำก็ไม่สามารถใช้การได้ จึงมีวิธีอื่นที่ใช้สื่อสารกันซึ่งเป็นโค้ดลับ หรืออาจจะเป็นภาษามือที่ใช้ฝึกสำหรับภารกิจนั้นๆ 

สำหรับการประเมินสถานการณ์ว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตาหรือไม่นั้น 

เจ้าหน้าที่มีการเตรียมการไว้ทุกรอบเพราะอยู่ในยุทธวิธีของเขา ซึ่งก็มีตั้งแต่การเตือน เตือนครั้งที่ 1 เตือนครั้งที่ 2 จะมีการใช้แก๊สน้ำตาอย่างเด็ดขาดถ้ายังไม่สลายอีก ถ้ามีการต่อสู้ใช้กำลังตอบโต้เจ้าหน้าที่จะมีการใช้ชุดโล่ เจ้าหน้าที่ก็จะมีขั้นตอนที่ประกาศไปเรื่อยๆ (แม้ช่วงหลังมานี้ไม่ค่อยเป็นไปตามขั้นตอนเท่าไร) 

เราสามารถประเมินได้จากความตึงเครียดของขบวนและอุปกรณ์ที่ตำรวจควบคุมฝูงชนนำมาใช้  อย่างเช่น รถฉีดน้ำแรงดันสูง (จีโน่) ซึ่งเป็นรถฉีดน้ำระยะไกลโดยน้ำในรถนั้นอาจผสมแก๊สน้ำตาแล้ว แต่สำหรับกรณีที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้แก๊สน้ำตาชนิดกระป๋อง ทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตาหรือไม่จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา 

วิธีการสังเกตการใช้แก๊สน้ำตาของตำรวจควบคุมฝูงชน โดยหลักๆ มี 3 วิธี คือ

  1. แก๊สน้ำตาชนิดกระป๋อง สำหรับใช้ขว้าง 
  2. แก๊สน้ำตาชนิดที่ใช้ปืนยิง (ปืน M 79)
  3. แก๊สน้ำตาชนิดผงผสมน้ำ สำหรับใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง
  4. เครื่องฉีดละอองแก๊สน้ำตา Protectojet’ Modle5  (เจ้าหน้าที่นำออกมาในม็อบแล้ว แต่ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการใช้งานจริง)

การใช้แก๊สน้ำตาในแต่ละครั้ง โดยหลักการแล้วเจ้าหน้าที่จะประกาศเตือนก่อนที่จะมีการใช้จริง กรณีที่ไม่ได้ยินประกาศจากเจ้าหน้าที่สามารถฟังได้จากเสียงการยิงปืน หรือดูจากการเตรียมอุปกรณ์ต่อท่อกับรถฉีดน้ำแรงดันสูง กรณีนี้ไม่สามารถรู้ได้ว่าน้ำภายในรถฉีนน้ำแรงดันนั้นเป็นน้ำธรรมดาหรือแก๊สน้ำตา (ในบางครั้งเจ้าหน้าที่อาจจะผสมก่อนที่จะเข้ามาในจุดที่จะสลายม็อบ) 

วิธีการประสานไปยังมวลชน:

เมื่อตำรวจควบคุมฝูงชนเริ่มมีการใช้แก๊สน้ำตา สิ่งที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องทำให้เร็วที่สุดนั้นคือการประสานไปยังมวลชนที่อยู่ด้านหลังให้เตรียมอุปกรณ์ และรวมไปถึงฝ่ายปฐมพยาบาลอีกด้วยในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผู้บาดเจ็บจากการปะทะ 

กรณีที่มีเครื่องขยายเสียงก็จะใช้วิธีการส่งสัญญาณไปยังผู้ที่อยู่บนรถเครื่องขยายเสียง (หรือแกนหลักในการส่งสัญญาณไปยังมวลชน) ให้ประกาศว่ามีการใช้แก๊สน้ำตาแล้ว โดยให้มวลชนเตรียมตัวรับมือให้พร้อม และเป็นการประกาศเตือนให้มวลชนตรวจสอบความพร้อมของตนเองด้วย ดังนั้นคนที่ไม่พร้อมที่จะปะทะจะได้เตรียมหาวิธีป้องกัน หรือถอยออกจากพื้นที่เสี่ยงไปอยู่ในแนวปลอดภัย แต่สำหรับกรณีที่ไม่มีรถขยายเสียงหรือเครื่องเสียงใดๆ อาจจะใช้วิธีการตะโกนเสียงโดยขอความร่วมมือจากมวลชนให้ช่วยกันตะโกนจากด้านหน้าไปจนถึงด้านหลังไปเรื่อยๆ    

เครื่องมือที่ใช้สื่อสารในการทำงานของทีมผู้จัด:

การสื่อสารไปยังมวลชนผ่านรถปราศรัยหรือแพลตฟอร์ม Telegram ซึ่งมีความปลอดภัยกว่า ในกรณีที่โดนตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตอาจจะต้องกลับมาใช้ระบบพื้นฐานภาษามือ แต่ก็ยังไม่เคยเกิดเคสที่ต้องใช้ภาษามือ

การควบคุมมวลชนเมื่อโดนแก๊สน้ำตาจะมีวิธีการจัดการแนวมวลชน เนื่องจากเมื่อเจ้าหน้าที่มีคำสั่ง ‘ม้าเร็ว’ เจ้าหน้าที่จะมีการยิงแก๊สน้ำตามาแน่นอน ผู้จัดชุมนุมควรเคลียร์มวลชนออกจากตรงนั้นก่อนให้ไปตั้งแนวด้านหลังทีมงาน แล้วซ้อนด้วยแนวของทีมงานอีกสองแนว และให้สองชุดแนวหน้าไปถ่วงสถานการณ์ ถ้าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น เจ้าหน้าที่มีท่าทีจะใช้ความรุนแรงมากขึ้นจะมีทีมเคลียร์มวลชนออกจากพื้นที่ปะทะนั้น

การประเมินเมื่อโดนสลายการชุมนุม

การประเมินสถานการณ์ฉุกเฉินมี 5 ระดับ

  1. ระดับปกติ การชุมนุมยังคงดำเนินไปได้
  2. ระดับการมีปากเสียง ไม่ว่าจะเป็นมวลชนด้วยกันเอง หรือมวลชนกับเจ้าหน้าที่
  3. ระดับการปาสิ่งของ (มีการใช้อุปกรณ์) ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเราปาใส่เจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่กระทำต่อมวลชน
  4. ระดับการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ถึงขั้นรุนแรง เช่น การใช้กระบอง ใช้โล่ การยิงกระสุนยาง
  5. ระดับที่ไม่สามารถควบคุมได้แล้ว ต่างกับสถานการณ์ระดับที่ 4 เนื่องจากสถานการณ์ในระดับ 4 แม้จะเกิดความวุ่นวาย แต่สามารถควบคุมได้อยู่ แต่สถานการณ์ระดับ 5 ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์อะไรได้เลย ดังนั้นเมื่อมีวอร์บอกว่าเกิดสถานการณ์ระดับ 5 แล้ว เราต้องอพยพมวลชนให้ออกจากพื้นที่เร็วที่สุด และสิ่งสำคัญคือจะต้องให้มวลชนกลับอย่างปลอดภัยให้หมดก่อนทีมงานจึงจะกลับเป็นลำดับสุดท้าย

โดยหลักแล้วการฉีดแก๊สน้ำตาเป็นหนึ่งในขั้นตอนการสลายการชุมนุม และภายหลังจากเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาแล้ว สิ่งที่เจ้าหน้าที่จะใช้ในลำดับถัดไปคือกระสุนยางโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสลายการชุมนุมนำไปสู่การควบคุมตัวผู้ชุมนุม สถานการณ์ที่ชุลมุนนั้นผู้จัดชุมนุมควรสื่อสารกับมวลชน อาจบอกเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุมที่ไม่พร้อมเผชิญหน้าหรือต้องการเลี่ยงการปะทะ ซึ่งเส้นทางที่ใช้ในการออกจากพื้นที่ชุมนุนนั้นผู้จัดต้องสำรวจหรือแน่ใจว่าสามารถใช้เส้นทางนั้นได้อย่างปลอดภัย เช่น เส้นทางนั้นไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมไว้ หรือเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ใช้รวมกองกำลัง หรือเป็นเส้นทางที่สามารถใช้สัญจรไปมาได้

อ้างอิง

“รู้จัก แก๊สน้ำตา สารเคมีปราบจลาจล และวิธีการป้องกันเบื้องต้น,” TNN ONLINE. แก้ไขครั้งล่าสุด  18 ตุลาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2563.  https://www.tnnthailand.com/news/tech/58992

“แก๊สน้ำตา และสเปรย์พริกไทย วิธีรับมือเบื้องต้นในที่ชุมนุม,” AMNESTY INTERNATIONAL THAILAND. แก้ไขครั้งล่าสุด 14 กันยายน 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563. https://www.amnesty.or.th/latest/blog/826/

ขอบคุณภาพประกอบจากประชาไท

หมายเหตุ: งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานจากโครงการสกัดความรู้การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย จัดโดย Act Lab เมื่อ ส.ค.-ก.ย. 2564 โดยมุ่งหวังว่าผลงานชุดนี้จะเป็นฐานข้อมูลให้กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมให้เก็บข้อมูลสถิติ

    เราเก็บข้อมูลสถิติซึ่งประกอบด้วย IP Address และอื่นๆ ตามที่ Google analytic เรียกดู

บันทึกการตั้งค่า