เทคนิคการออกแบบงานเคลื่อนไหวในสถานการณ์โควิด

กรณีศึกษากิจกรรม “ยืนหยุดขัง” และ CAR MOB เชียงใหม่

เรียบเรียงโดย กนกวรรณ มีพรหม


ยืนหยุดขังและ CAR MOB นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการชุมนุมเคลื่อนไหวภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่รัฐไม่สามารถเอาผิดกับผู้จัดชุมนุมและมวลชนผู้เข้าร่วมได้


เป้าหมาย

ค้นหากลยุทธ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในสภาวะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลสะเทือนทางสังคม ถอดบทเรียนจากกรณียืนหยุดขังและ CAR MOB จังหวัดเชียงใหม่

แนวคิด

การเคลื่อนไหวทางการเมืองในสภาวะโรคระบาด มีโจทย์สำคัญคือจะเคลื่อนไหวทางการเมืองพร้อมกับสื่อสารข้อเรียกร้องและสร้างแรงสั่นสะเทือนไปสู่สาธารณะ โดยที่ยังคงไว้ซึ่งความระมัดระวัง ป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด เพื่อมิให้รัฐสามารถเอาผิดกับผู้จัดชุมนุมและประชาชนได้

หลักการคิดและออกแบบการชุมนุมเคลื่อนไหวในสถานการณ์โควิด

ภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด รูปแบบการชุมนุมประท้วงที่เป็นการนัดรวมตัวในที่สาธารณะเป็นไปได้ยากขึ้นเนื่องจากเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไวรัส ขณะเดียวกันยังเผชิญกับข้อกฎหมายทั้งประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นคราวที่ 13 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยในข้อ 4  จาก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงหรือมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดจำนวนบุคคลจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ มีการจำแนกพื้นที่ควบคุมสูงสุด, เข้มงวด ถึงเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ซึ่งกำหนดจำนวนบุคคลจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ โดยห้ามจัดกิจกรรมตั้งแต่จำนวนรวมกันมากกว่า 5 คนถึงมากกว่า 150 คน 

ขณะที่ พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น การออกแบบการชุมนุมการเคลื่อนไหวบนท้องถนนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในลักษณะของกิจกรรม ยืนหยุดขัง และ CAR MOB สามารถนำลักษณะรูปแบบของการจัดกิจกรรมที่ถูกออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดและการถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จนถึง พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ

ยืนหยุดขัง เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการยืนสงบเป็นเวลา 112 นาที เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยนักโทษการเมือง คืนสิทธิประกันตัว ส่งเสียงถึงความไม่เป็นธรรมในกลไกกระบวนการยุติธรรมไทย ริเริ่มโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับและต่อมาได้ขยายไปยังจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่จัดกิจกรรมยืนหยุดขังมาอย่างต่อเนื่อง (ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/wetheequalcitizen

ขณะที่ CAR MOB เป็นการแสดงออกถึงการรวมตัวบนท้องถนนด้วยพาหนะรถยนต์ สมบัติ บุญงามอนงค์  อธิบายถึงการออกแบบ CAR MOB ว่าเป็นไปเพื่อให้เกิดการสร้างแนวร่วมให้มากที่สุด โดยสามารถแผ่ขยายออกไปในหลากหลายพื้นที่และกลายเป็นม็อบในชีวิตประจำวันเพื่อขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ 

CAR MOB ถือเป็นวิธีการที่สร้างสรรค์บนพื้นฐานความปลอดภัยของผู้ชุมนุมในภาวะที่มีโรคระบาดโควิด-19 ให้สามารถร่วมกิจกรรมขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ได้โดยที่ยังรักษาระยะห่างทางสังคม และเปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจที่มีรถยนต์เข้ามาร่วมขบวนได้ง่าย โดยที่การเคลื่อนขบวนไปบนท้องถนนนั้นเป็นไปอย่างเรียบร้อย สนุกสนานและยืนยันการต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธี ทำให้ภาพที่ออกมากระตุ้นให้มีผู้สนใจเข้าร่วมและขยายไปยังหลายพื้้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เกิดขบวนคาร์ม็อบขึ้นมากมายหลายแห่งทั่วประเทศ

เทคนิคการจัดชุมนุมหรือเคลื่อนไหวการเมืองในสถานการณ์โควิด
กรณียืนหยุดขัง

ก่อนจัดชุมนุม

  1. เลือกสถานที่เป็นพื้นที่เปิดโล่งแจ้ง ควรเป็นพื้นที่ขนาดกว้างไม่แออัดในการจัดชุมนุม ปราศรัย หรือแสดงข้อเรียกร้อง 
  2. ประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดผ่านสื่อออนไลน์
  3. กำหนดจำนวนคนผู้เข้าร่วมในพื้นที่ที่มีขนาดจำกัด พร้อมกับประกาศผ่านสื่อและมีป้ายแจ้งบอก เช่น เข้าร่วมกิจกรรมได้ไม่เกินรอบละ 15 คน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ตามคำสั่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในการกำหนดคนผู้เข้าร่วมในแต่ละครั้ง 
  4. แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขภายในพื้นที่ที่มีการจัดชุมนุม/กิจกรรม ขอความร่วมมือให้ช่วยดูแลผู้เข้าร่วมตามมาตรการการป้องกันแพร่ระบาดของโควิด 19  หากไม่มี ให้จัดทีมอาสาดูแลมาตรการป้องกันโควิด 19 โดยมีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิด 19 อีกทั้งจะต้องมีการแสดงสัญลักษณ์ของทีมอาสาป้องกันโควิด 19 อย่างชัดเจน    

ระหว่างชุมนุม

  1. มีการสแกนวัดไข้และอาการเสี่ยงพร้อมกับวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วม
  2. จัดจุดล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ
  3. ให้ทุกคนสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 
  4. จัดระยะนั่งหรือยืนให้ห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร
  5. ในกรณีการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการใช้แก๊สน้ำตา ให้ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันโควิด 19 และแก๊สน้ำตาได้ เช่น 3M™ Particulate Respirator 9001V, 3M™ Particulate Respirator 8122, Sundström sr90-3, Sundström SR100, Sundström SR200[1]
  6. จัดทีมบันทึกภาพ วิดีโอ ที่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรการควบคุมโรคระบาด เช่น ผู้เข้าร่วมชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัย มีการเว้นระยะห่างของผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่แออัด ภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาดูแล เอื้ออำนวยผู้เข้าร่วมชุมนุมให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคระบาด ภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังฉีดสเปรย์/เจลแอลกอฮอล์กับผู้เข้าร่วมชุมนุม 
  7. ผู้จัดประกาศให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด 19 ผ่านเครื่องขยายเสียง รถเครื่องเสียง อยู่เป็นระยะ หรือมีป้ายแจ้งถึงมาตรการดังกล่าวภายในบริเวณพื้นที่จัดชุมนุม

หลังชุมนุม

  1. ในกรณีถูกแจ้งความหรือถูกดำเนินคดีให้ติดตามรายงานการติดเชื้อโควิด 19 ในท้องที่นั้นๆ เพื่อหาหลักฐานรองรับว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด 19 จากการเข้าร่วมชุมนุมครั้งนั้นๆ หรือไม่

ตัวอย่างการจัดชุมนุมทางการเมืองในช่วงสถานการณ์โควิด 19

ยืนหยุดขัง

เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด 19 ผู้เข้าร่วมทุกคนจะมีการใส่แมส แต่ละคนจะยืนห่างกันขั้นต่ำ 2 เมตร และในแต่ละพื้นที่จะมีการยืนรวมกันไม่เกิน 20 คน

ตัวอย่างวิธีการจัดกิจกรรมยืนหยุดขัง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม  2564 จังหวัดเชียงใหม่ 

  1. ผู้จัดนัดหมายเวลาและสถานที่ เริ่มยืน 17.00 น. ทุกวัน จนกว่าจะมีการปล่อยกลุ่มแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตย
  2. ผู้เข้าร่วมจะมาเอาป้ายที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ 
  3. กำหนดจุดยืนให้กับผู้เข้าร่วม ได้แก่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์, จวนผู้ว่าเก่า, เส้นนินมานเหมินทร์
  4. มีการใช้มาตรการวัดอุณหภูมิ เช็ดโปสเตอร์ด้วยกระดาษแอลกอฮอล์ 75% ทุกแผ่น มีเจลล้างมือวางให้บริการ 
  5. แต่ละจุดต้องเว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 2 เมตร และไม่เกิน 20 คน/จุด
  6. มีทีมผู้จัดคอยนับจำนวนคนไม่ให้เกิน 20 คน/จุด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมโรคระบาด 
  7. ร่วมยืนถึง 18.00 น. จากนั้นมีการชูสามนิ้ว  ประกาศปล่อยเพื่อนเรา 
  8. ในทุกวันจะมีการโพสผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ We, The People ว่ามีผู้เข้าร่วมกี่คน และมีการใช้มาตรการป้องกันโควิดระหว่างการดำเนินกิจกรรม 

ภาพ: กิจกรรม ยืน หยุด ขัง เชียงใหม่ จะมีการวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมก่อนจัดกิจกรรมและมีการจำกัดจำนวนคนที่ยืนในแต่ละจุด และเว้นระยะห่างระหว่างผู้เข้าร่วมประมาณ 2 เมตร

CAR MOB

CAR MOB มีจุดเริ่มต้นจากไอเดียของสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมที่พยายามคิดค้นรูปแบบการชุมนุมทางการเมืองขณะที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 โดยสมบัติได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวน ให้เกิด Car Mob ไล่รัฐบาลประยุทธ์ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 เนื้อความว่า


Car Mob ชวนกันเปิดไฟขับรถสัก 500 คัน พอผ่านทำเนียบรัฐบาลก็กดแตรไล่ประยุทธ์
ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เสี่ยงโควิด ไล่แมร่งทุกวัน


CAR MOB นับเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งผู้เข้าร่วมและผู้จัดเนื่องจากต่างคนต่างอยู่ในรถตนเองโดยที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมยังคงสามารถแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองผ่านป้ายที่ติดรอบรถ การชูสามนิ้ว การบีบแตร เปิดไฟฉุกเฉิน

รูปแบบการจัดกิจกรรมดังกล่าวทำให้ผู้ชุมนุมคลายความกังวลเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสและยังสามารถเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองขับไล่รัฐบาลได้ ซึ่งทำให้ Car Mob ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฏาคมถึงเดือนสิงหาคมกระจายไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยที่จังหวัดเชียงใหม่มีการจัด CAR MOB ครั้งแรก ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีรถที่ร่วมขบวนยาวกว่า 3 กิโลเมตร 

ตัวอย่างวิธีการจัด  CAR MOB ด่วนนครพิงค์ เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2564 จังหวัดเชียงใหม่ 

  1. จัดประชุมระดมความคิด ของกลุ่มคน เครือข่าย ผู้สนใจในการขับไล่รัฐบาล จากนั้นแบ่งบทบาท หน้าที่การทำงาน
  2. สร้างกลุ่มประสานงานทางระบบออนไลน์ 
  3. จัดประชุมสรุปแผนงานเตรียมความพร้อมในการชุมนุมทางการเมืองในสถานการณ์โควิด-19 
  4. เกิดแผนงานเตรียมความพร้อม “CAR MOB”
  • ให้ผู้เข้าร่วมใช้ยานพาหนะในการแสดงออก ก่อกวน เพื่อขับไล่รัฐบาล
  • จัดเตรียมรถนำขบวน (รถโมบาย, รถตุ๊กตุ๊ก), รถเสบียง, รถเครื่องเสียง, รถแห่ แสดงสัญลักษณ์ พร้อมกับวางลำดับก่อน – หลัง ในการปล่อยรถออกจากศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ถึงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
  • กำหนดบทบาทหน้าที่ ระหว่างการจัดกิจกรรมตามความเหมาะสม เช่น ผู้ประกาศบนรถโมบาย,
    ผู้ปราศรัย, ผู้ดูแลขบวนรถ, กองเสบียง-สวัสดิการ 
  • ทำแผนที่ CAR MOB รอบคูเมืองด้านในจังหวัดเชียงใหม่
  • ประเมินความเสี่ยงในสถานการณ์ โควิด-19  นำไปสู่การเตรียมหน้ากากอนามัย, เจลล้างมือ, ประสานงานกับสาธารณสุขท้องถิ่น, กำหนดให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม นั่ง-ยืน กระจายตัวระหว่างชุมนุม

ภาพ: กิจกรรม CAR MOB ด่วนนครพิงค์ วันที่ 18 กรกฏาคม 2564 จังหวัดเชียงใหม่ มีการเว้นระยะห่างของผู้เข้าร่วมชุมนุมและมีการแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เข้ามาดูแลผู้เข้าร่วมชุมนุมตามมาตรการป้องกันโควิด-19

ภาพ: การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดผ่านสื่อออนไลน์
ที่มาภาพ: (ซ้าย) เพจ จอมทองปลดแอก จ๋อมตองบ่ทน, (ขวา) เพจ ลำพูนปลดแอก

ภาพ: ป้ายกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมชุมนุม 
ที่มาภาพ:  LPCM NEWS

ตัวอย่างการจัดการชุมนุมซึ่งถูกแจ้งความฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แต่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากมีลักษณะการชุมนุมเป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 

จากรายงานข่าวของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2564 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ วันที่ 26 กรกฎาคม 2563 ซึ่งจัดขึ้นบริเวณสวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 


“พิจารณาแล้ว จากพยานหลักฐานรูปถ่ายสถานที่เกิดเหตุบริเวณข่วงนคร ห้าแยกหอนาฬิกา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะ มีลักษณะเป็นลานกว้าง โล่งแจ้ง ไม่มีลักษณะเป็นสถานที่แออัด อันจะมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่กําลังระบาดอยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลาเกิดเหตุแต่อย่างใด

“อีกทั้งมีภาพถ่ายของผู้ที่มาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่มีการป้องกันโรคติดต่อ ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย ยืนและนั่งกระจายกันตามจุดต่างๆ ไม่มีลักษณะแออัด ที่เบียดเสียดใกล้ชิดกันแต่ประการใด และในการชุมนุมมีการประสานกับเจ้าหน้าที่จัดกิจกรรมในระยะเวลาที่ไม่นาน เนื้อหาปราศรัยส่วนใหญ่โจมตีการบริหารงานของรัฐบาล มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพ ที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดที่ชัดว่ามีการยุยงปลุกปั่น หรือกระทําการใดๆ เพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแต่อย่างใด

“เมื่อพิจารณาจาก รายงานหรือสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในท้องที่จังหวัดลําปาง ตามหนังสือของ ศาลากลางจังหวัดลําปางที่ ลป 0032/23631 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 (เหตุในคดีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563) ไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในท้องที่จังหวัดลําปางแต่อย่างใด”

(คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง)


ทั้งนี้ จากกรณีตัวอย่าง “ยืนหยุดขัง” และ “CAR MOB ด่วนนครพิงค์” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ค่อนข้างเคร่งครัด โดยปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ขณะเดียวกันการชุมนุมที่มีการแจ้งความฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุม “ลำปางรวมการเฉพาะกิจ” ซึ่งมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ เนื่องด้วยพยานหลักฐานที่เข้าข่ายการชุมนุมที่ไม่มี/มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งมีหลักฐานแสดงถึงผู้เข้าร่วมชุมนุมมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 

จากทั้ง 3 กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนี้จะพบว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องบนท้องถนนยังคงเป็นไปได้แม้จะเผชิญข้อจำกัดต่างๆ แต่ก็ยังคงรักษาความปลอดภัยในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังลดความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ได้อีกด้วย 

อ้างอิง 

  • Karoonp Chetpayark. ยืนหยุดขัง 112 นาที เหตุผลของการยืนเพื่อให้ปล่อยเพื่อนเรา และทวงความยุติธรรมหน้าศาลฎีกา. 6 เมษายน 2564. https://thematter.co/social/stand-for-112-minutes/139983. ค้นเมื่อ 5 กันยายน 2564
  • ‘บก.ลายจุด’ เดินหน้าปลุกคาร์ม็อบ 15 สิงหา ชี้อย่าติดกับดักความรุนแรง. สำนักข่าวสยามรัฐ. 11 สิงหาคม 2564. https://siamrath.co.th/n/270550
  • บก.ลายจุดผุดไอเดียทัวร์ยุคโควิด จัดคาร์ม็อบ ขับรถชมทำเนียบ-บีบแตรไล่ประยุทธ์. Brightttv. 29 มิถุนายน 2564. https://www.brighttv.co.th/news/politics/organize-carmob. ค้นเมื่อ 16 กันยายน 2564
  • 5 หน้ากากสุดปัง ป้องกันทั้งโควิด-19 ฝุ่น pm2.5 แก๊สน้ำตา. ข่าวสดออนไลน์. 15 ตุลาคม 2563. https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_5118002. ค้นเมื่อ 7 กันยายน 2564.
  • ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน. เปิดคำสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ลำปาง ชี้ชุมนุมพื้นที่โล่งแจ้ง ผู้ชุมนุมสวมหน้ากาก ไม่พบการติดเชื้อไวรัส. 2564. https://tlhr2014.com/archives/28755?fbclid=IwAR05X94OByFiunZ-gmR77gYpyUIrZckbkUzCBcTW4krnkZ5sLU44p0BjvS0. ค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2564. 
  • “สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ชี้ ‘คาร์ม็อบ’ เป็นเสรีภาพ ไม่ขัด รธน.-ร้องรัฐเลิกใช้ กม.ปิดปากประชาชน”. ประชาไท, 28 กันยายน 2564. https://prachatai.com/journal/2021/09/95202 

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์:นพพล อาชามาส และ พิฆเนศ ประวัง เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

หมายเหตุ: งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานจากโครงการสกัดความรู้การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย จัดโดย Act Lab เมื่อ ส.ค.-ก.ย. 2564 โดยมุ่งหวังว่าผลงานชุดนี้จะเป็นฐานข้อมูลให้กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยต่อไป

[1] ข่าวสดออนไลน์. 5 หน้ากากสุดปัง ป้องกันทั้งโควิด-19 ฝุ่น pm2.5 แก๊สน้ำตา. 15 ตุลาคม 2563. [ระบบออนไลน์] https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_5118002. ค้นเมื่อ 7 กันยายน 2564.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมให้เก็บข้อมูลสถิติ

    เราเก็บข้อมูลสถิติซึ่งประกอบด้วย IP Address และอื่นๆ ตามที่ Google analytic เรียกดู

บันทึกการตั้งค่า