กฎทองของนักปฏิบัติการ

ภัควดี วีระภาสพงษ์เก็บความจาก
Saul Alinsky, Rules For Radicals 

ซอว์ อลินสกี้ นักจัดตั้งชุมชนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือ Rules for Radicals: A Pragmatic Primer for Realistic Radicals (1971) ว่าด้วยศิลปะของการเผชิญหน้าและการประนีประนอมในงานจัดตั้งชุมชนซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Saul_Alinsky)

“ถ้าประชาชนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง  ประชาชนก็จะไม่ครุ่นคิดถึงการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อไรที่ประชาชนมีการจัดตั้ง เมื่อพวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง ประชาชนจะเริ่มคิดและแสวงหาวิธีการเปลี่ยนแปลง”

ว่าด้วยเป้าหมายกับวิธีการ

  • “เป้าหมายตัดสินวิธีการหรือไม่?” เป็นคำถามที่ไร้ความหมาย  คำถามที่ถูกต้องคือ “เป้าหมายนี้ ตัดสินวิธีการนี้หรือเปล่า?”
  • นักปฏิบัติการมองเป้าหมายและวิธีการในมุมมองของภาคปฏิบัติและยุทธศาสตร์เท่านั้น
  • เกอเธ่กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “มโนธรรมคือคุณธรรมของผู้สังเกตการณ์ หาใช่คุณธรรมของผู้ปฏิบัติการไม่”
  • เราปฏิบัติการเพื่อความดีของส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อการหลุดพ้นส่วนบุคคล นักปฏิบัติการจึงต้องพร้อม “แปดเปื้อน” เพื่อส่วนรวม
  • นักศีลธรรมที่หมกมุ่นเรื่องเป้าหมายกับวิธีการ ลงท้ายแล้วก็มีแต่เป้าหมาย แต่ไม่เคยมีวิธีการ นักศีลธรรมที่เอาแต่วิจารณ์วิธีการที่ผู้ถูกกดขี่ใช้ต่อสู้กับผู้กดขี่  นักศีลธรรมผู้นั้นคือพันธมิตรของผู้กดขี่
  • กฎข้อที่ 1 ของเป้าหมายกับวิธีการ จริยธรรมของเป้าหมายกับวิธีการผกผันตามความสนใจส่วนตัวที่คนผู้นั้นมีต่อประเด็นนั้นๆ  กล่าวคือเมื่อเราไม่แยแสมัน เราก็มีศีลธรรมล้นปรี่
  • กฎข้อที่ 2 ของเป้าหมายกับวิธีการ การตัดสินจริยธรรมของวิธีการขึ้นอยู่กับจุดยืนทางการเมืองของผู้ตัดสิน  เช่น กรณีถกเถียงเกี่ยวกับการประท้วงด้วยการเทเลือดของคนเสื้อแดง 
  • กฎข้อที่ 3 ของเป้าหมายกับวิธีการ ในสงครามเป้าหมายทำให้เกือบทุกวิธีการมีความชอบธรรม
  • กฎข้อที่ 4 ของเป้าหมายกับวิธีการ การตัดสินต้องกระทำในบริบทของห้วงเวลานั้นๆที่การปฏิบัติการเกิดขึ้นไม่ใช่จากหอคอยงาช้างในห้วงเวลาอื่น  
  • กฎข้อที่ 5 ของเป้าหมายกับวิธีการ การคำนึงถึงจริยธรรมย่อมมีมากขึ้นในกรณีที่มีทางเลือกของวิธีการจำนวนมากและย่อมน้อยลงเมื่อมีทางเลือกน้อย  เราคำนึงถึงจริยธรรมเมื่อต้องเลือกระหว่างวิธีการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพเท่ากัน แต่หากเราไม่มีทางเลือกฟุ่มเฟือย การคำนึงถึงจริยธรรมย่อมไม่เกิดขึ้น  ประเด็นสำคัญคือทบทวนให้แน่ใจว่าเรามีทางเลือกทางเดียวจริงๆ หรือเปล่า
  • กฎข้อที่ 6 ของเป้าหมายกับวิธีการ ยิ่งเป้าหมายที่ต้องการมีความสำคัญน้อยเท่าไรเราก็สามารถคำนึงถึงจริยธรรมของวิธีการได้มากเท่านั้น
  • กฎข้อที่ 7 ของเป้าหมายกับวิธีการ โดยทั่วไปแล้วความสำเร็จหรือล้มเหลวคือตัวชี้วัดจริยธรรมขั้นเด็ดขาด  ประวัติศาสตร์มักตัดสินจากความสำเร็จหรือล้มเหลว และนี่คือเส้นแบ่งระหว่างคนทรยศกับวีรบุรุษ  ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่าคนทรยศที่ประสบความสำเร็จเพราะถ้าเขาประสบความสำเร็จเขาก็กลายเป็นวีรบุรุษ
  • กฎข้อที่ 8 ของเป้าหมายกับวิธีการ ศีลธรรมของวิธีการขึ้นอยู่กับว่าวิธีการนั้นถูกนำมาใช้ในห้วงเวลาที่ใกล้จะแพ้หรือใกล้จะชนะ  วิธีการเดียวกัน หากใช้ในยามที่เกือบจะชนะอยู่แล้ว อาจถูกตัดสินว่าไร้ศีลธรรม แต่หากนำมันมาใช้ในยามใกล้แพ้ คำถามเรื่องศีลธรรมก็จะไม่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มเมืองฮิโรชิมาในยามใกล้ชนะ เป็นต้น
  • กฎข้อที่ 9 ของเป้าหมายกับวิธีการ วิธีการที่มีประสิทธิภาพใดๆย่อมถูกฝ่ายตรงข้ามตัดสินว่าไร้จริยธรรมโดยอัตโนมัติ
  • กฎข้อที่ 10 ของเป้าหมายกับวิธีการจงทำสิ่งที่ทำได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่และปกคลุมมันด้วยอาภรณ์ของศีลธรรมยกตัวอย่างเช่น มหาตมะคานธีก็เคยใคร่ครวญเรื่องการใช้อาวุธต่อสู้กับอังกฤษ แต่เมื่อเขาเห็นแต่ทางแพ้ เขาก็หันมาใช้วิธีการไม่จับอาวุธและเรียกมันว่า “สัตยาเคราะห์”  แต่หากเปลี่ยนตัวศัตรู วิธีการแบบคานธีอาจใช้ไม่ได้ผลเลย เช่น หากต่อสู้กับนาซี เป็นต้น
  • ยอร์จ ออร์เวลล์เคยตั้งข้อสังเกตถึงคานธีว่า “…..เขาเชื่อใน “การปลุกโลกให้ตื่น” ซึ่งมันเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อโลกมีโอกาสได้ยินยลสิ่งที่คุณทำ  มันยากที่จะวาดภาพว่าวิธีการของคานธีสามารถเอามาประยุกต์ใช้ในประเทศที่ผู้ต่อต้านระบอบหายตัวไปกลางดึกและไม่มีใครได้ยินเสียงเขาอีกเลย  หากปราศจากเสรีภาพของสื่อและสิทธิในการชุมนุม มันย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เกิดขบวนการมวลชนขึ้นมา  ไม่ใช่แค่ส่งเสียงอุทธรณ์ต่อความคิดเห็นจากภายนอกเท่านั้น กระทั่งทำให้เจตนาของคุณเป็นที่รับรู้ของศัตรูก็ยังทำไม่ได้ด้วยซ้ำ”
  • สิ่งที่ทำให้คานธีประสบความสำเร็จคือใช้สิ่งที่มีอยู่ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เนื่องจากชาวอินเดียมีความเฉื่อยชาและยอมจำนนอยู่แล้ว คานธีจึงจัดตั้งจากความเฉื่อย เขาทำให้ความเฉื่อยมีเป้าหมาย เปรียบเสมือนคานธีบอกชาวอินเดียว่า “ในเมื่อก็นั่งกันเฉยๆ อยู่แล้ว แทนที่จะนั่งเฉยๆ ตรงนั้นทำไมไม่มานั่งตรงนี้และระหว่างที่นั่งเฉยๆ ก็พูดไปด้วยว่า “เอกราชเดี๋ยวนี้!”
  • การสร้างความชอบธรรมเชิงศีลธรรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกปฏิบัติการ  จุดอ่อนของมาคิอาเวลลีคือการที่เขามองไม่เห็นความจำเป็นของการห่อหุ้มศีลธรรมให้การเมือง  วรรคทองที่เขาบอกว่า “การเมืองไม่มีความเกี่ยวข้องกับศีลธรรม” คือจุดอ่อนที่สุดของเขา 
  • ทุกปฏิบัติการที่มีประสิทธิผลต้องมีพาสปอร์ตความดี ผู้ถูกกดขี่ต้องอ้างถึงกฎที่สูงส่งกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นเสมอ
  • กฎข้อที่ 11 ของเป้าหมายกับวิธีการ เป้าหมายต้องแปรเป็นคำขวัญใหญ่ๆ เช่นอิสรภาพเสมอภาคภราดรภาพ” “เพื่อความอยู่ดีกินดีถ้วนหน้า” “คืนความสุขหรือขนมปังและสันติภาพ
  • วอลท์ วิทแมนกล่าวไว้ว่า “เมื่อใดที่เป้าหมายมีชื่อ ก็ยกเลิกมันไม่ได้”  แต่ในระหว่างปฏิบัติการ มักมีเป้าหมายใหม่ที่ไม่ได้คาดหมายเกิดขึ้นเสมอ เช่น การเรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งนำไปสู่การต่อต้านระบอบอำมาตยาธิปไตย เป็นต้น
  • ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมาย เพราะเสียงข้างมากสามารถลงมติเลือกสิ่งที่ขัดกับคุณค่าที่เรายึดถือ เช่น หากเสียงข้างมากโหวตให้คนไม่เท่ากัน การละเมิดคุณค่าของความเท่าเทียมทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นโสเภณี  ประชาธิปไตยเป็นแค่วิธีการทางการเมืองที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในการบรรลุถึงคุณค่าของเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความยุติธรรม สันติภาพ และสิทธิในการขัดขืน

ว่าด้วยคำบางคำ

  • อำนาจเราไม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำบางคำด้วยการใช้คำอื่น การใช้คำอื่นคือการเปลี่ยนแปลงความหมายของสิ่งที่เรากำลังพูดถึง  มาร์ค ทเวนกล่าวไว้ว่า “ความแตกต่างระหว่างคำที่ถูกต้องกับคำที่เกือบถูกต้องก็คือความแตกต่างระหว่างสายฟ้ากับหิ่งห้อย”
  • อำนาจ ไม่ใช่คำน่ารังเกียจ เช่นเดียวกับคำว่าผลประโยชน์ การประนีประนอม ฯลฯ  การหน้าบางต่อคำเหล่านี้คือการเสียเวลาเปล่า
  • อำนาจหมายถึง “ความสามารถที่จะลงมือกระทำ ทั้งในเชิงกายภาพ ความคิดหรือศีลธรรม”
  • คนส่วนใหญ่มักอ้างถึงข้อความของลอร์ดแอคตันที่บอกว่า “อำนาจย่อมฉ้อฉลและอำนาจสมบูรณ์ย่อมฉ้อฉลอย่างสมบูรณ์”  อันที่จริง ข้อความที่ถูกต้องคือ “อำนาจมักฉ้อฉลและอำนาจสมบูรณ์ย่อมฉ้อฉลอย่างสมบูรณ์”
  • ความฉ้อฉลไม่ได้อยู่ในอำนาจ แต่อยู่ในตัวเรา
  • การรู้จักอำนาจและไม่กลัวอำนาจคือหัวใจสำคัญของการใช้และควบคุมอย่างสร้างสรรค์
  • ผลประโยชน์ส่วนตนเช่นเดียวกับอำนาจ มันไม่ใช่คำที่น่ารังเกียจ
  • การประนีประนอม สำหรับนักจัดตั้ง การประนีประนอมคือคำที่งดงาม มันคือความเป็นจริงของภาคปฏิบัติ มันหมายถึงชัยชนะ ถ้าเราเริ่มจากศูนย์และเรียกร้อง 100 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นประนีประนอมมาได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับเราคืบหน้าไปได้ตั้ง 30 เปอร์เซ็นต์
  • อีโก้คือความเชื่อมั่นในตัวเอง มันแตกต่างจากการหลงตัว อีโก้ของนักจัดตั้งเข้มแข็งและยิ่งใหญ่กว่าผู้นำ แรงขับดันของผู้นำคือความปรารถนาอำนาจ ส่วนแรงขับดันของนักจัดตั้งคือความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์
  • ความขัดแย้ง ความขัดแย้งคือแกนหลักของสังคมเสรี

คุณสมบัติของนักจัดตั้งในอุดมคติ

  • ความขี้สงสัยนักจัดตั้งเดินหน้าด้วยการตั้งคำถาม เขามองหาแบบแผนในความแตกต่างและมองหาความแตกต่างในแบบแผนที่คุ้นเคย  เขานำคำถามว่า “ทำไม” มาสู่ผู้คน การตั้งคำถามคือการเริ่มต้นของการเป็นขบถ  ในแง่นี้ โสกราติสคือนักจัดตั้ง
  • ความไม่เลื่อมใสความขี้สงสัยกับความไม่เลื่อมใสย่อมเป็นของคู่กัน  คนที่ชอบตั้งคำถามย่อมไม่เห็นว่าโลกนี้มีอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์
  • จินตนาการ
  • อารมณ์ขันชีวิตคือโศกนาฏกรรมและในมุมกลับมันคือความน่าขัน  อารมณ์ขันคือกุญแจสำคัญของนักยุทธิวิธีที่ประสบความสำเร็จ เพราะอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดคือการเสียดสีและเยาะหยัน
  • อารมณ์ขันช่วยรักษามุมมองที่ถูกต้องต่อตัวเราเอง นั่นคือ เราเป็นแค่ธุลีที่จะมอดมลายไปในพริบตา
  • วิสัยทัศน์เบลอๆถึงโลกที่ดีกว่าเมื่อมองโดยภาพรวม นักจัดตั้งคือคนที่ก้มหน้าก้มตาวาดภาพใบไม้เล็กๆ  บางครั้งเขาก็อดคิดไม่ได้ว่า “ฉันทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อวาดภาพใบไม้เล็กๆ ใบเดียวไปทำไม? บัดซบที่สุด เลิกดีกว่า”  แต่สิ่งที่ผลักดันให้เขาทำต่อไปคือภาพเบลอๆ ของภาพป่าผืนใหญ่ที่นักจัดตั้งคนอื่นกำลังช่วยกันวาดขึ้นมา
  • บุคลิกภาพแบบนักจัดตั้งนักจัดตั้งต้องจัดตั้งตัวเองได้ เขาต้องทำงานได้อย่างสบายในสถานการณ์ที่สับสน มีเหตุผลท่ามกลางความไร้เหตุผลที่โกลาหลอลหม่าน
  • การผสานประเด็นหลากหลายเข้ามารวมกันคนแต่ละคนมีลำดับความสำคัญของปัญหาไม่เหมือนกัน การจัดตั้งจากประเด็นเดียวไม่สามารถสร้างฐานสมาชิกที่กว้างขวางได้ (ในแง่นี้อลินสกี้กำลังพูดถึงการจัดตั้งชุมชนซึ่งแตกต่างจากการจัดตั้งแบบอื่นเช่นการจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นต้น)
  • ช่างสังเกตและไวต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวรวมทั้งฉกฉวยมาใช้เป็นประโยชน์ได้
  • ต้องรู้จักแยกตัวตนออกจากกันนักจัดตั้งที่ดีต้องมีสองบุคลิกเพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นพวกคลั่งลัทธิ  ก่อนที่มนุษย์จะสามารถปฏิบัติการในประเด็นอะไรก็ตาม ประเด็นนั้นต้องถูกแบ่งเป็นขั้ว มนุษย์สามารถปฏิบัติการได้ต่อเมื่อมั่นใจว่าเป้าหมายของตนดี 100% และเป้าหมายของอีกฝ่ายชั่ว 100%  ปฏิบัติการใด ๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้จนกว่าประเด็นนั้นจะถูกแบ่งขั้วถึงจุดนี้  นักจัดตั้งต้องสามารถแบ่งตัวตนออกเป็นสองส่วน ตัวตนหนึ่งอยู่บนเวทีปฏิบัติการที่เขาผลักประเด็นจนสุดขั้ว 100% ในขณะที่ตัวตนอีกส่วนหนึ่งรู้ดีว่าเมื่อถึงเวลาเจรจาต่อรอง ความแตกต่างระหว่างสองขั้วก็แค่ 10% เท่านั้น และทั้งสองฝ่ายต้องสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ฆ่ากัน  มีแต่นักจัดตั้งที่มีบุคลิกภาพแบบนักจัดตั้งเท่านั้นจึงสามารถแบ่งแยกตัวตนออกและยังรักษาสมดุลของตัวเองไว้ได้
  • อีโก้ความเชื่อมั่นในตัวเองและเชื่อว่าตัวเองทำได้ ชีวิตคือปฏิบัติการ
  • ความคิดจิตใจเสรีและเปิดกว้างรวมทั้งเข้าใจลักษณะสัมพัทธ์ทางการเมืองนักจัดตั้งต้องเป็นคนยืดหยุ่น ไม่ใช่คนยอมหักไม่ยอมงอ พร้อมรับความไม่แน่นอน เข้าใจว่าคุณค่าทุกอย่างมีลักษณะสัมพัทธ์ โดยเฉพาะในโลกของการเมือง
  • สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาจากสิ่งเก่านี่คือข้อแตกต่างระหว่างนักจัดตั้งกับผู้นำ ผู้นำสั่งสมอำนาจเพื่อตอบสนองความปรารถนา ยึดกุมและใช้อำนาจเพื่อเป้าประสงค์ทั้งส่วนรวมและส่วนตัว ผู้นำต้องการอำนาจเพื่อตัวเอง ส่วนนักจัดตั้งมีเป้าหมายในการสร้างสรรค์อำนาจเพื่อให้ผู้อื่นใช้

การสื่อสาร

  • นักจัดตั้งที่ประสบความสำเร็จอาจขาดคุณสมบัติประการใดประการหนึ่งข้างบนได้ ยกเว้นประการเดียวเท่านั้น นั่นคือ ศิลปะของการสื่อสาร
  • คนทั่วไปเข้าใจอะไรได้จากมุมมองของประสบการณ์ที่พวกเขามีอยู่ ดังนั้น นักจัดตั้งต้องมีความคุ้นเคยกับประสบการณ์ของผู้คนที่เขาจะสื่อสารด้วย
  • ถ้านักจัดตั้งจำเป็นต้องสื่อสารอะไรบางอย่างและไม่สามารถหาจุดร่วมในประสบการณ์ของผู้รับสาร สิ่งที่นักจัดตั้งต้องทำก็คือจำลองประสบการณ์ขึ้นมาให้ผู้รับสารประสบ
  • เมื่อต้องการโน้มน้าวหรือเจรจาต่อรอง อย่าก้าวออกไปนอกประสบการณ์จริงของอีกฝ่าย อย่าสื่อสารด้วยข้อมูล เหตุผลหรือจริยธรรมล้วน ๆ  แต่สื่อสารถึงเป้าหมายและผลประโยชน์ของอีกฝ่าย
  • ยกตัวอย่างเช่น หากนักกิจกรรมชนชั้นกลางพยายามสื่อสารให้คนจนฟังว่าค่านิยมในระบบทุนนิยม เช่น การมีรถ มีบ้าน มีเงินในธนาคาร ฯลฯ ไม่ทำให้คนเรามีความสุขอย่างแท้จริง  คนจนจะตอบว่ารอให้พวกเขามีประสบการณ์พวกนั้นก่อน แล้วค่อยบอกว่ามีความสุขหรือเปล่า
  • คนเรามักเต็มใจรับฟังเมื่อตัวเองวิตกหรือถูกคุกคาม
  • การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือเมื่อผู้รับสารตัดสินใจด้วยตัวเองหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ตัดสินใจ
  • นักจัดตั้งควรสื่อสารด้วยการตั้งคำถามมากกว่าให้คำตอบ ตั้งคำถามจนได้มาซึ่งคำตอบที่พอใจ
  • นี่เป็นการปั่นหัว/ชักใยหรือไม่? ใช่  เหมือนดังที่โสกราติสปั่นหัว/ชักใยลูกศิษย์ เมื่อเวลาผ่านไป นักจัดตั้งจะค่อยๆ ถอนตัวจากแกนนำในการตัดสินใจ เมื่อไรที่เขาถอนตัวได้สำเร็จ เมื่อไรที่กลุ่มเลิกพึ่งพิงเขา งานของนักจัดตั้งก็สำเร็จเรียบร้อย
  • ความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อนักจัดตั้งจะเป็นความรู้สึกทั้งรักทั้งชังเสมอ ประชาชนเชื่อมั่นในตัวนักจัดตั้ง เชื่อมั่นว่าเขารู้ยุทธวิธีที่ถูกต้อง แต่เมื่อไรที่นักจัดตั้งเริ่มออกคำสั่งและ “อธิบาย” ประชาชนจะเริ่มสั่งสมความรู้สึกชิงชังเขาในจิตใต้สำนึก เพราะประชาชนจะรู้สึกว่านักจัดตั้งไม่เคารพศักดิ์ศรีของพวกเขา  นักจัดตั้งต้องเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ว่า ผู้ขอความช่วยเหลือและได้รับความช่วยเหลือย่อมเกิดปฏิกิริยาในจิตใต้สำนึก เขาทั้งสำนึกตื้นตันและชิงชังต่อผู้ที่ช่วยเหลือเขาเสมอ
  • การสื่อสารในบางประเด็นมีความละเอียดอ่อน มันจะประสบความสำเร็จได้ต่อเมื่อสร้างความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่เหนียวแน่นขึ้นมาแล้วเท่านั้น  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องการสื่อสารเกี่ยวกับการคุมกำเนิดและการทำแท้งต่อผู้คนที่เคร่งศาสนาเป็นต้น

การเริ่มต้น

  • นักจัดตั้งต้องมีตัวตน หรืออีกนัยหนึ่งคือ มีเหตุผลที่ประชาชนยอมรับว่าเขาควรไปอยู่ที่นั่น
  • เหตุผลนั้นต้องมีรูปธรรมที่จับต้องได้
  • การยอมรับจะเกิดขึ้นเมื่อทำให้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า 1) นักจัดตั้งอยู่ฝ่ายพวกเขา 2) นักจัดตั้งมีแนวคิดและรู้วิธีต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง
  • หน้าที่ของนักจัดตั้งคือการหลอกล่อให้ผู้มีอำนาจเชื่อว่าเขาคือ “ตัวอันตราย”
  • หน้าที่ของนักจัดตั้งคือการยั่ว การยุ การทำให้ประชาชนเกิดความหวังและความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลง
  • นักจัดตั้งต้องไม่เข้าไปในชุมชนเอง เขาต้องได้รับเชิญเข้าไปหรือทำให้ตัวเองถูกเชิญเข้าไป
  • อย่าวาดภาพคนจนหรือคนไร้อำนาจให้สวยงามเกินไป 
  • ประชาชนมักไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร
  • ถ้านักจัดตั้งไปจี้หรือไปชี้ว่าประชาชนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เขาจะเกลียดคุณ
  • หัวใจของเรื่องนี้ก็คือถ้าประชาชนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง  ประชาชนก็จะไม่ครุ่นคิดถึงการเปลี่ยนแปลง  แต่เมื่อไรที่ประชาชนมีการจัดตั้งเมื่อพวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงประชาชนจะเริ่มคิดและแสวงหาวิธีการเปลี่ยนแปลง
  • เมื่อประชาชนมีการจัดตั้งแล้วคุณจะเกิดความเชื่อมั่นในประชาชน
  • การแก้ไขปัญหาหนึ่งย่อมนำมาซึ่งอีกปัญหาหนึ่ง นักจัดตั้งอาจรู้เรื่องนี้ดี แต่เขาจะไม่เอ่ยถึงมัน
  • นักจัดตั้งพึงรู้ว่า สิ่งที่เราต่อสู้จะเป็นจะตายในวันนี้ อีกไม่นานก็จะถูกลืมไป สภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปย่อมทำให้ความต้องการและประเด็นปัญหาเปลี่ยนไปด้วย
  • ในช่วงเริ่มต้น นักจัดตั้งต้องอยู่แถวหน้าคอยรับความเสี่ยง หากมีอะไรผิดพลาด มันเป็นความผิดของเขาคนเดียว เขาต้องรับผิดชอบ หากมันประสบความสำเร็จ เครดิตทั้งหมดล้วนเป็นของประชาชน
  • ในแง่นี้นักจัดตั้งจึงเปรียบเสมือนถังบำบัดของเสียเขาคือผู้รองรับขี้ทั้งหมด
  • เมื่ออำนาจของขบวนการประชาชนเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงก็ลดลง ประชาชนจะค่อยๆ ก้าวออกมารับความเสี่ยงเอง
  • อุปสรรคสำคัญที่สุดในช่วงแรกของการจัดตั้งก็คือการอ้างเหตุผลเข้าข้างตัวเอง  ทุกคนล้วนมีเหตุผลว่าทำไมตัวเองถึงทำหรือไม่ทำอะไร  ทันทีที่นักจัดตั้งเข้าไปในชุมชน ประชาชนจะหาเหตุผลมาอ้างทันทีว่าทำไมพวกเขาถึงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้และต้องรอจนนักจัดตั้งโผล่เข้ามา  มันเป็นความรู้สึกในจิตใต้สำนึกว่า นักจัดตั้งคงดูถูกพวกเขา  จากความรู้สึกนี้ พวกเขาจะหาข้ออ้างร้อยแปดมาคัดค้านการจัดตั้ง ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง มันแค่เป็นการพยายามแก้ตัวว่าทำไมพวกเขาถึงไม่เคลื่อนไหวหรือจัดตั้งมาก่อนหน้านี้  นักจัดตั้งจะต้องไม่ไล่ตามข้ออ้างเหล่านี้ ไม่ติดกับมันและไม่มองว่ามันเป็นปัญหาที่แท้จริง
  • นักจัดตั้งต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะให้ได้ว่าอะไรคือการอ้างเหตุผลแก้ตัวปฏิบัติต่อมันในฐานะที่เป็นแค่เหตุผลแก้ตัวและทะลวงผ่านมันไปให้ได้อย่าทำสิ่งที่ผิดพลาดมหันต์นั่นคืออย่าปล่อยให้ตัวเองติดกับกับการอ้างเหตุผลเหล่านั้นอย่าคิดว่ามันเป็นประเด็นหรือปัญหาที่คุณต้องพยายามจัดตั้งประชาชนมาแก้ไข

กระบวนการสู่อำนาจ

  • ความเปลี่ยนแปลงมาจากอำนาจและอำนาจมาจากการจัดตั้ง 
  • หน้าที่ของนักจัดตั้งคือการสร้างความเชื่อมั่นและความหวังของประชาชนที่มีต่อการจัดตั้งและต่อตัวประชาชนเอง
  • วิธีการหนึ่งในช่วงเริ่มต้นคือการสร้างแคมเปญรณรงค์ในประเด็นเล็ก ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าจะชนะแน่นอน
  • หมู่บ้าน สลัม หรือชุมชน ไม่ใช่ชุมนุมชนที่ไม่มีการจัดตั้ง เพียงแต่มันเป็นการจัดตั้งอีกรูปแบบหนึ่ง  มันอาจเป็นการจัดตั้งในเชิงลบที่ทำให้คนสิ้นหวังจนไม่ลงมือทำอะไร
  • ก้าวแรกในการจัดตั้งชุมชนคือสลายการจัดตั้งดั้งเดิมของชุมชนก่อนเพื่อแทนที่ด้วยการจัดตั้งแบบแผนใหม่ 
  • เพราะฉะนั้น นักจัดตั้งย่อมเผชิญหน้ากับความขัดแย้งเสมอ  นักจัดตั้งต้องกระตุ้นความไม่พอใจของผู้คนขึ้นมา พร้อมกับเสนอช่องทางใหม่ให้ประชาชนได้ระบายความอึดอัดคับข้อง นักจัดตั้งต้องสร้างกลไกเพื่อระบายความรู้สึกผิดในส่วนลึกของประชาชนที่พวกเขายอมจำนนต่อสภาพการณ์เดิม ๆ มานมนาน  จากกลไกนี้ การจัดตั้งชุมชนใหม่จะเกิดขึ้น
  • ดังนั้น การนิยามนักจัดตั้งว่าเป็น “นักปลุกปั่น” “ตัวก่อปัญหา” “ตัวแสบ” จึงเป็นคำนิยามที่ถูกต้อง
  • การจัดตั้งต้องวางพื้นฐานบนประเด็นปัญหาหลากหลาย การจัดตั้งต้องการการปฏิบัติการเฉกเช่นมนุษย์ต้องการออกซิเจน หากปราศจากปฏิบัติการ การจัดตั้งย่อมถึงแก่ความตายทันที
  • การจัดตั้งบนพื้นฐานประเด็นเดียวเปรียบเสมือนเสื้อรัดคนบ้า
  • การจัดตั้งบนพื้นฐานประเด็นหลากหลายจะช่วยดึงดูดสมาชิกที่หลากหลายเข้ามา 
  • เพื่อป้องกันความสับสน นักจัดตั้งต้องยึดกุมเข็มทิศสำคัญไว้ เข็มทิศนั้นก็คือ “ศักดิ์ศรีของปัจเจกบุคคล” ถ้าคุณเคารพศักดิ์ศรีของปัจเจกบุคคลที่คุณทำงานด้วย คุณก็จะเคารพความปรารถนาของเขา ไม่ใช่ของคุณ คุณค่าและความเชื่อของเขา ไม่ใช่ของคุณ  วิธีการทำงานและต่อสู้ของเขา ไม่ใช่ของคุณ การเลือกผู้นำของเขา ไม่ใช่ของคุณ โครงการของเขา ไม่ใช่ของคุณ ยกเว้นกรณีเดียวคือ หากโครงการหรือเป้าหมายของเขาละเมิดต่อคุณค่าของสังคมเสรีและเปิดกว้างเท่านั้น 
  • ยกตัวอย่างเช่น ลองตั้งคำถามว่า “ถ้าโครงการของชาวบ้านที่นี่ละเมิดสิทธิของคนกลุ่มอื่น ไม่ว่าด้วยเหตุผลของสีผิว ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจหรือการเมือง  เราควรยอมรับโครงการนี้เพราะมันเป็นโครงการของชาวบ้านหรือไม่?”  คำตอบคือ ไม่เด็ดขาด จำไว้เสมอว่าเข็มทิศคือ “ศักดิ์ศรีของปัจเจกบุคคล
  • การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยไม่ยอมให้เขามีส่วนร่วมสำคัญในปฏิบัติการ มันไม่ใช่การให้ แต่เป็นการเอาไป มันคือการปล้นศักดิ์ศรีของเขาไป 

ยุทธวิธี

  • ยุทธวิธีหมายถึง ทำในสิ่งที่ทำได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่
  • องค์ประกอบพื้นฐานของยุทธวิธีเปรียบเสมือนองคาพยพบนใบหน้า  ตา หู จมูก  
  • ตา ถ้าเรามีมวลชนมาก เราสามารถนำพามวลชนเดินพาเหรดให้ศัตรูเห็นและแสดงอำนาจของเรา
  • หู ถ้าเรามีมวลชนน้อย เราควรซ่อนจำนวนไว้ในเงามืด แต่ส่งเสียงเอะอะอึกทึกให้ฝ่ายตรงข้ามคิดว่าเรามีจำนวนมาก
  • จมูก ถ้ามวลชนของเราน้อยจนส่งเสียงไม่ได้ เราสามารถป้ายสีให้สถานที่ของศัตรูเน่าเหม็น(ทั้งในเชิงนามธรรมและรูปธรรม)
  • กฎข้อที่หนึ่งอำนาจไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณมีแต่คือสิ่งที่ศัตรูคิดว่าคุณมี
  • กฎข้อที่สองจงอย่าก้าวออกนอกประสบการณ์ของประชาชนเด็ดขาด  ถ้าปฏิบัติการหรือยุทธวิธีนั้นอยู่นอกเหนือประสบการณ์ของประชาชน ผลจะลงเอยกลายเป็นความสับสน หวาดกลัวและถอยหนี มันหมายถึงการสื่อสารที่ล้มเหลวด้วย
  • กฎข้อที่สามเมื่อไรที่ทำได้จงก้าวออกนอกประสบการณ์ของศัตรูทำให้พวกเขาสับสน หวาดกลัวและถอยหนี
  • กฎข้อที่สี่จงบีบให้ศัตรูจำใจทำตามกติกาที่พวกนั้นตั้งขึ้นมาเองเราฆ่าพวกเขาได้ด้วยวิธีนี้ เพราะศัตรูย่อมไม่สามารถปฏิบัติตามกฎกติกาของตัวเอง เช่นเดียวกับศาสนจักรไม่มีทางปฏิบัติตามหลักความเชื่อทางศาสนาของตน
  • กฎข้อที่ห้าการหัวเราะเยาะเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพที่สุดของมนุษย์มันเป็นอาวุธที่ไม่มีทางตอบโต้ มันทำให้ศัตรูโกรธเกรี้ยวและแสดงปฏิกิริยาที่ทำให้เราได้เปรียบ
  • กฎข้อที่หกยุทธวิธีที่ดีคือยุทธวิธีที่ประชาชนของคุณชอบถ้าประชาชนไม่สนุกกับมัน ยุทธวิธีนั้นต้องมีอะไรผิดพลาดแล้ว
  • กฎข้อที่เจ็ดยุทธวิธีที่ยืดเยื้อเกินไปย่อมกลายเป็นตัวถ่วงยุทธวิธีที่ยาวนานซ้ำซากจะกลายเป็นแค่พิธีกรรมเหมือนการไปวัด
  • กฎข้อที่แปดรักษาแรงกดดันต่อไปด้วยยุทธวิธีและปฏิบัติการใหม่ ๆ และฉกฉวยประโยชน์จากทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  • กฎข้อที่เก้าคำข่มขู่มักน่ากลัวกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
  • กฎข้อที่สิบหลักสำคัญของยุทธวิธีก็คือการผลักดันปฏิบัติการที่รักษาแรงกดดันต่อฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง
  • กฎข้อที่สิบเอ็ดในแง่ลบย่อมมีแง่บวกถ้าเรากดดันมากพอปฏิกิริยาตอบโต้ของฝ่ายตรงข้ามอาจกลายเป็นผลดีต่อเรา
  • กฎข้อที่สิบสองความสำเร็จของการโจมตีอยู่ที่การมีข้อเสนอทางออกที่สร้างสรรค์ถ้าคุณไม่มีข้อเสนอหนทางแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ศัตรูจะทำแต้มชนะคุณ
  • กฎข้อที่สิบสามจงเลือกเป้าแช่แข็งมันโจมตีที่ตัวบุคคลและผลักให้สุดขั้วพยายามตัดเครือข่ายสนับสนุนของศัตรู แยกเป้าออกมาไม่ให้คนเห็นใจ โจมตีที่ตัวบุคคล ไม่ใช่ที่สถาบันนามธรรม โดยเฉพาะในสังคมซับซ้อน คนมักจะโยนความผิดไปที่อื่นได้ง่าย เราจึงต้องแช่แข็งประเด็นไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่งให้ได้  ถ้าเป้าของคุณคือคนสำคัญจริง ๆ  คนอื่น ๆ จะโผล่หน้าออกมาเอง
  • ปฏิบัติการที่แท้จริงอยู่ในปฏิกิริยาของศัตรู
  • ศัตรูที่ถูกปั่นหัวและมีปฏิกิริยาตามที่คุณต้องการนั่นคือความเข้มแข็งที่สุดของคุณ
  • ยุทธวิธีก็เช่นเดียวกับการจัดตั้งและชีวิตมันต้องการการเคลื่อนไหวด้วยปฏิบัติการ
  • ตัวอย่างของการใช้กฎสิบสามข้อข้างบน เช่น ในการประท้วงที่โรเชสเตอร์ อลินสกี้ “ขู่” ว่าจะประท้วงด้วยการพาคนผิวดำเข้าไปในคอนเสิร์ตซิมโฟนี  ผู้ประท้วงจะกินถั่วต้มล่วงหน้าจำนวนมากเพื่อจะเข้าไปตดในงาน  การประท้วงแบบนี้อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของคนขาวฝ่ายตรงข้าม พวกเขาเคยชินกับการประท้วงด้วยการเดินขบวน การยื่นหนังสือ ฯลฯ พวกเขาไม่เคยนึกฝันถึงการประท้วงด้วยตดมาก่อน  การประท้วงแบบนี้เข้ากันได้ดีกับประสบการณ์ของสามัญชน  ประชาชนชอบมัน  มันสร้างเสียงหัวเราะ ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถหาข้อกฎหมายมาห้ามการตดในที่คอนเสิร์ตได้  การขู่ว่าจะประท้วงแบบนี้น่ากลัวกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง  (แต่หากนำไปปฏิบัติจริง ก็ไม่แน่ว่าคนผิวดำจะรู้สึกสนุกกับมัน)
  • อีกตัวอย่างของการทำในสิ่งที่ทำได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่  ในมหาวิทยาลัยที่อนุรักษ์นิยมและเคร่งศาสนามากแห่งหนึ่ง นักศึกษามาปรึกษาอลินสกี้ว่าพวกเขาถูกสั่งห้ามกิจกรรมรื่นเริงใด ๆ ไม่ว่าเต้นรำ สูบบุหรี่หรือดื่มเบียร์ อลินสกี้จึงถามว่านักศึกษาได้รับอนุญาตให้ทำอะไรได้บ้าง พวกเขาตอบว่าเคี้ยวหมากฝรั่ง  อลินสกี้จึงแนะนำให้ใช้หมากฝรั่งเป็นอาวุธ  จัดตั้งนักศึกษาสักสองสามร้อยคน แต่ละคนนำมาหมากฝรั่งมาคนละสองห่อ เคี้ยวแล้วทิ้งไว้ตามทางเดิน  นักศึกษานำยุทธวิธีนี้ไปใช้จริง ๆ จนมหาวิทยาลัยต้องยอมต่อรองให้นักศึกษาทำอะไรก็ได้ แต่เลิกเคี้ยวหมากฝรั่ง
  • การขู่เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพก็จริง แต่มันจะได้ผลต่อเมื่อเรามีการจัดตั้งจริง ๆ ที่ฝ่ายมีอำนาจรับรู้เท่านั้น  การบลัฟฟ์ไม่มีประโยชน์ ถ้าถูกจับได้ครั้งเดียว หลังจากนี้ก็จะใช้การขู่ไม่ได้อีกเลย
  • ในการขู่นั้น เราไม่จำเป็นต้องประกาศออกสื่อ เราสามารถใช้สายของตำรวจที่แฝงอยู่ในองค์กรของเราให้เป็นประโยชน์ ปล่อยให้สายพวกนี้รายงานกลับไป
  • พยายามใช้การแข่งขันและการชิงดีชิงเด่นในกลุ่มผู้มีอำนาจให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเรา  เช่น ถ้าเราจะประท้วงนโยบายบางอย่างของห้างสรรพสินค้า อย่าบอยคอตต์ทุกห้าง เพราะมันเป็นไปไม่ได้ เลือกบอยคอตต์บางห้าง เพื่อให้คนไปใช้บริการอีกห้างหนึ่ง แล้วห้างที่ถูกบอยคอตต์จะยอมเจรจากับเรา  แล้วเมื่อห้างนี้เปลี่ยนนโยบาย ห้างอื่นๆ จะต้องยอมเปลี่ยนตาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมให้เก็บข้อมูลสถิติ

    เราเก็บข้อมูลสถิติซึ่งประกอบด้วย IP Address และอื่นๆ ตามที่ Google analytic เรียกดู

บันทึกการตั้งค่า