“จากจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ สู่ภาพฝันสังคมใหม่”
องค์ประกอบของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
“ขบวนการ” ดูเป็นคำที่คลุมเครือยากที่จะนิยามหรือมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม หลายครั้งที่เราอาจเห็นกลุ่มที่ตั้งชื่อองค์กรของตนเป็นขบวนการ แต่ลำพังเพียงการเรียกว่าเป็นขบวนการก็อาจไม่ได้แปลว่าจะเป็นขบวนการได้จริงๆ
ในที่นี้เราจะมาลองพิจารณาองค์ประกอบของการเคลื่อนไหวทางสังคม แน่นอนว่านี่เป็นเพียงการพยายามอธิบายจากมุมมองหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจการทำงานของเราที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมจากเดิมเป็นสังคมที่เราปรารถนาเท่านั้น
เริ่มจากองค์ประกอบแรกคือ บุคคลหรือนักกิจกรรม คำว่านักกิจกรรมมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Activist ซึ่งฟังดูแล้วสามารถมองในสองแง่มุม แง่มุมแรกคือแปลว่าคนที่ทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง เช่น จัดงานนิทรรศการ จัดชุมนุม ทำรณรงค์ ทำค่าย ปลูกป่า เก็บขยะ ประท้วง ฯลฯ อีกแง่มุมคือความเป็นผู้กระทำการ หรือ Active ซึ่งตรงข้ามกับ Passive หรือ Passivist ซึ่งหมายถึงผู้รับผล เป็นผู้โอนอ่อนตามสถานการณ์
นักกิจกรรมมีหลายแบบ ถ้ามองแบบที่ บิลล์ โมเยอร์ส (Bill Moyers) พยายามแบ่งประเภทไว้ จะมี 4 แบบ คือ ขบถ พลเมือง นักปฏิรูป และนักจัดตั้ง แต่ละแบบมีจุดแข็งจุดอ่อนต่างกันไป (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://actlab.protestista.com/wp-content/uploads/2022/05/organize01_both.pdf)
นักกิจกรรมจะเรียนรู้และปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองเลือก ถนัดและเชี่ยวชาญ โดยมีความเชื่อ เป้าหมาย วิธีการและบทบาทแตกต่างกันไปในแต่ละคน
องค์ประกอบที่สองคือ กลุ่ม/องค์กร
เมื่อนักกิจกรรมรวมตัวกันเพื่อทำงานบางอย่างร่วมกัน มีเป้าหมาย ระยะเวลา พื้นที่ทำงาน กลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านการเห็นพ้องกันก็จะกลายเป็นกลุ่มหรือองค์กร เช่น กลุ่มที่ทำงานด้านเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเมือง โดยมีพื้นที่ทำงานหรือกลุ่มเป้าหมายต่างกันไป
กลุ่มอาจจะมีลักษณะหลวมๆ เริ่มจากความสัมพันธ์ในแวดวงเดียวกันก็ได้ เช่น กลุ่มเพื่อน กลุ่มละแวกบ้าน กลุ่มในที่ทำงาน แล้วมีการพูดคุยตกลงเพื่อทำงานในพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะร่วมกัน
องค์กรจะมีลักษณะเป็นทางการมากกว่ากลุ่ม มีการตกลงกันอย่างเป็นทางการ มีพันธะสัญญาที่เป็นทางการ มีการระดมและจัดการทรัพยากร และดำรงอยู่ระยะยาวกว่ากลุ่ม อาจจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ และมีพื้นที่สำหรับสมาชิกที่มาจากเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกซับซ้อนขึ้น มีนักกิจกรรมหลากหลายประเภท มีการแบ่งบทบาทและวัฒนธรรมร่วมกัน
กลุ่ม/องค์กรจะช่วยเสริมพลังการทำงานของนักกิจกรรมให้สามารถทำงานร่วมกันเพื่อภารกิจที่ใหญ่ขึ้นกว่าทำคนเดียวได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเป้าหมายและกฎระเบียบข้อตกลงร่วมกันที่บางคนอาจจะรู้สึกอึดอัด
การทำงานกลุ่ม เรามักจะเรียกว่างานจัดตั้งหรืองานจัดองค์กร
องค์ประกอบที่สาม คือเครือข่าย
เครือข่าย เป็นการเชื่อมโยงของคนหรือกลุ่ม/องค์กรที่มีความสนใจคล้ายกัน เช่น
- เครือข่ายเชิงความสัมพันธ์ เช่น กลุ่มเพื่อน กลุ่มอาชีพ กลุ่มความชอบ
- เครือข่ายเชิงประเด็น เช่น สิทธิเด็ก สิทธิคนไร้สัญชาติ เครือข่ายต้านเขื่อน
- เครือข่ายเชิงพื้นที่ เช่น พื้นที่จังหวัด ภูมิภาค พื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
- เครือข่ายเชิงกิจกรรม เช่น การชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้า การแสดงศิลปะ การประท้วงรัฐบาล
- เครือข่ายเชิงความคิด เช่น แนวสังคมนิยม แนวเสรีนิยม
การรวมตัวเป็นเครือข่ายจะมีลักษณะหลวมๆ ไม่ผูกมัดกันอย่างเป็นทางการ แต่ละคนหรือกลุ่มจะมีอิสระในการทำงานตามความคิดความเชื่อความถนัดของตน การรวมกันเป็นเครือข่ายจะช่วยให้แต่ละกลุ่มมีพลังมากขึ้นในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน เช่น แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ทรัพยากร กำลังคน เมื่อจบภารกิจหรือเป้าหมายก็จะแยกย้ายกันไปจนกว่าจะมีภารกิจหรือเป้าหมายร่วมกันอีกครั้ง
เครือข่ายจะช่วยยกระดับการทำงานของกลุ่มที่ทำงานเชิงพื้นที่หรือรายกรณี ให้รวมกันเป็นประเด็นสาธารณะที่มีผู้เข้าร่วมหลากหลายขึ้น สร้างผลกระทบต่อสังคมได้มากขึ้น เช่น ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายหลายๆ กรณี ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายร่างกาย การปิดโอกาสเรียนหนังสือ การกีดกันการทำงาน ห้ามทำแท้ง มารวมกันและยกระดับเป็นประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิง เพื่อเสนอต่อสังคมเป็นวัฒนธรรมหรือมุมมองใหม่ต่อผู้หญิง เสนอต่อองค์กรสถาบันต่างๆ เป็นระเบียบปฏิบัติ หรือเสนอต่อรัฐบาลเป็นนโยบายรัฐ
การบริหารเครือข่ายจะแตกต่างจากกลุ่ม เพราะจะหลวมกว่า มีเป้าหมายของผู้คน กลุ่มองค์กรเป็นอิสระจากกัน มีวัฒนธรรมและวินัยต่างกัน ความถนัดเชี่ยวชาญต่างกัน มีเพียงสิ่งยึดโยงบางอย่างภายใต้ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เช่น เป้าหมาย วัฒนธรรม กิจกรรม
งานบริหารจัดการเครือข่าย จะมีคนที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง ประสานงาน สร้างพื้นที่ กระจายข้อมูลข่าวสาร ตามแต่ลักษณะของเครือข่ายนั้น คนที่ทำหน้าที่นี้บางครั้งเราเรียกว่า Node หรือช่างเชื่อม
องค์ประกอบที่สี่คือ ขบวนการ
ขบวนการประกอบไปด้วยคน กลุ่ม องค์กร เครือข่าย ที่หลากหลาย อาจจะรู้จักหรือไม่รู้จักกัน ร่วมมือหรือแยกจากกัน เราเรียกว่าเป็นขบวนการเพราะมันมีขนาดใหญ่ เป็นกลุ่มก้อนของการยึดโยงกันด้วยอุดมการณ์ ความเชื่อ คู่กรณีหลัก และทิศทางใหญ่เดียวกัน ด้วยความที่มีขนาดใหญ่ กลุ่มต่างๆ ในขบวนการจึงมีความขัดแย้งกันในเรื่องแนวทาง วัฒนธรรมการทำงาน จังหวะการเคลื่อนไหว และอื่นๆ อีกมากมาย อาจมีความพยายามรวมตัวกันของคนและกลุ่มเพื่อสร้างเครือข่ายในขบวนการเพื่อจัดการการเคลื่อนไหวเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่สามารถทำให้ขบวนการเป็นหนึ่งเดียวกันได้ตลอดเวลา
ขบวนการเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครควบคุมเบ็ดเสร็จได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่บ่มเพาะให้คน กลุ่ม องค์กร เครือข่ายเติบโตและล้มหายได้ตลอดเวลา
ขบวนการจะรวมตัวกันอย่างแนบแน่นและแตกตัวแบบหลวมๆ เติบโตและซบเซา รวมศูนย์และกระจายอำนาจ หลอมรวมและขัดแย้ง ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายในและภายนอก
ปัจจัยภายในคือ ความเข้มแข็งของการจัดตั้งกลุ่มย่อย อุดมการณ์ความเชื่อที่ยึดโยงกัน ทรัพยากรที่มี การประสานงานระหว่างเครือข่ายและกลุ่ม ความหลากหลายขององค์ประกอบในขบวน
ปัจจัยภายนอกคือ สถานการณ์ทางสังคมที่เอื้อหรือเป็นอุปสรรค แหล่งทรัพยากร การปราบปรามหรือผ่อนปรนจากรัฐ การสนับสนุนหรือต่อต้านจากคนในสังคม
การทำงานขบวนจะเป็นการบริหารความหลากหลายขององค์ประกอบต่างๆ เชื่อมโยงคน กลุ่ม เครือข่ายเข้าด้วยกันตามสถานการณ์ จะมีการรวมตัวและแยกตัวกันเป็นปกติ สิ่งที่จะต้องทำคือการรักษากลุ่มและเครือข่ายที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของขบวนเอาไว้ ทบทวนและยกระดับการเคลื่อนไหวเป็นระยะ รักษาอุดมการณ์แนวคิดความเชื่อและสร้างพื้นที่ให้เป็นเนื้อดินที่จะทำให้องค์ประกอบพื้นฐานได้อยู่รอดและเติบโต
คนทำงานขบวนจะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง บริหารความขัดแย้งและความร่วมมือกันเหมือนคนไต่เส้นลวด จับกลุ่มคนที่ทำงานด้วยกันได้มาร่วมมือกัน แปรเปลี่ยนความขัดแย้งเป็นเครื่องมือช่วยในการพัฒนาขบวนการ เช่น สร้างแนวคิดใหม่ๆ วิธีการเคลื่อนใหม่ๆ ภารกิจใหม่ๆ เพื่อเอาพลังที่เกิดจากความขัดแย้งมาใช้
ทั้ง 4 องค์ประกอบนี้เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อกันไปสู่ภาพฝันสังคมใหม่ จะขาดองค์ประกอบใดไปไม่ได้เป็นอันขาด และเราทุกคนล้วนเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งในการขับเคลื่อนสู่สังคมที่พึงปรารถนาด้วยกัน
Act Lab
Activist Laboratory Thailand
ห้องทดลองนักกิจกรรม
พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม