Act Lab สนทนากับเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่ง ช่วงเดือน มิ.ย. 2564
หลายต่อหลายครั้งที่ประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงอย่างไม่ได้สัดส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่กระบอง คอมแบต รถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง อาวุธที่ คฝ. กระหน่ำใช้กับผู้ชุมนุมประท้วงในช่วงปีที่ผ่านมาที่ละเมิดหลักสากลในทุกกรณีและยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นกับม็อบทะลุแก๊สดังปรากฏในคลิปหรือ LIVE ของสื่อหลายสำนัก
อคติที่ตำรวจมีต่อผู้ชุมนุมประท้วง ความกร่างที่แฝงฝังมากับเครื่องแบบ สิ่งเหล่านี้มีรากเหง้ามาจากอะไร บทสนทนานี้ชวนถอดวิธีคิดของตำรวจและค้นหาหนทางที่ประชาชนผู้ประท้วงจะรับมือกับยุทธวิธีต่างๆ ที่ตำรวจใช้
– 1 –
มีคนมองว่าตำรวจได้เงินเป็นสีเทา ทั้งเบี้ยเลี้ยง เงินนอกเงินบ่อน เงินสีเทานี้ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น หลายคนมาเป็นตำรวจเพื่อจะสร้างฐานะ แน่นอนว่าพอหลังรัฐประหาร 57 ทหารเข้ามาคุมตำรวจก็เริ่มเสียรายได้ แต่ด้วยความที่ตำรวจก็เป็นพี่น้องกับทหาร ถ้าเปรียบ 4 เหล่า คือทหารบก เรือ อากาศ และตำรวจ มันคือพี่น้องกันอยู่แล้วเพราะโรงเรียนเตรียมทหารก็เอาตำรวจไปอยู่กับทหาร เป็นการรวมกันเบ็ดเสร็จ ตำรวจกับทหารจึงเป็นเหมือนพี่น้องกัน
ตำรวจอาจไม่มีแนวคิดทางการเมืองเท่าไรมันขึ้นอยู่กับขั้วอำนาจ คนเก่าล้มคนใหม่ก็มา การจะโตในสายอาชีพตำรวจใครขึ้นมามีอำนาจก็ไปอยู่ฝั่งนั้น ตำแหน่งในองค์กรตำรวจเป็นฐานปิระมิด คนที่อยากขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดก็ต้องเข้าหาผู้มีอำนาจ
ตำรวจแบ่งออกเป็น ชั้นประทวนคือสิบตรีถึงนายดาบ กับนายตำรวจคือร้อยตรีถึงพลเอกขึ้นไป ถ้าเป็นนายดาบก็ไม่มีทางเป็นนายร้อยได้โดยไม่ต้องสอบ ความคาดหวังในการเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานก็ไม่มี เป็นนายดาบก็ตันอยู่แค่นั้นทำไปเช้าชามเย็นชาม แต่ถ้านายร้อยจะมีเรื่องของอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่ระดับนายร้อยก็จะแบ่งเจนอีก มีทั้ง gen X gen Y ยุคก่อนกับยุคใหม่ก็คิดต่างกันมุมมองต่างกัน ถ้า gen Y ก็จะเข้าใจม็อบ คำนึงถึงหลักการความถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่เจนวายจะไม่มีอำนาจ ขณะที่ gen X จะครองอำนาจ คนเจนนี้จะกลัวมากว่าถ้าไม่ทำตามคำสั่งจะโดนลงโทษ ถ้าทำดีก็เสมอตัว ดังนั้นกรณีม็อบ ถ้าผู้มีอำนาจสั่งเขาก็ไม่รีรอที่จะทำตามเพราะไม่ว่าใครก็อยากเป็นผู้บัญชาการ เก้าอี้นี้มันสวยมันน่านั่งทุกคนก็พยายามพรีเซนต์ตัวเองมีผลงานโดดเด่นเพื่ออำนาจ ตำรวจพอเป็นระดับนั้นทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว ส่วนผู้ปฏิบัติก็จะมี ผบ.ร้อย ก็ประมาณพันโทเป็นรองผู้กำกับ พันเอกพิเศษ รองผู้การ จะมาจากทั่วประเทศ จะมีทั้งควบคุมฝูงชน มีทั้งตำรวจโรงพักในนครบาลและภูธร อย่างตำรวจจากบึงกาฬถูกดึงให้มาคุมม็อบในกรุงเทพฯ นอนวัดห่างลูกห่างเมียกินข้าวกล่องหมูไม่กี่ชิ้น
เราอาจจะเห็นตัวอย่างจากพม่าที่ตำรวจหันหลังให้เผด็จการมาอยู่ข้างประชาชน แต่สำหรับบ้านเรา ถ้ามีตำรวจที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเขาจะโดนย้าย เงินต่อเดือนเบี้ยเลี้ยงก็จะหาย โดนแบล็กลิสต์ไม่ได้เติบโตในหน้าที่การงาน ตำรวจที่เฉยจึงมีเยอะมาก เพราะโดนปลูกฝังกันมาแบบนี้ มันเป็นวัฒนธรรมของประเทศไปแล้ว เป็นตาอยู่อยู่รอด ยิ่งตำรวจชั้นผู้น้อยก็จะมีภาระอยู่ข้างหลัง บ้านเราการที่เป็นตำรวจได้ต้องเลี้ยงฉลองทั้งหมู่บ้าน เป็นความหวังของครอบครัว ดังนั้นน้อยมากที่จะกล้าขัดขืนผู้บังคับบัญชาแม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม
– 2 –
กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน หรือ อคฝ. จัดตั้งขึ้นเมื่อ 7 ก.ย. 2552 มีภารกิจในการถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ และมีภารกิจควบคุมฝูงชน
อคฝ. เป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการในสังกัดของกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ประกอบด้วย 5 กองกำกับการ (https://web.facebook.com/141335926477566/posts/167360737208418/?_rdc=1&_rdr)
ชุด คฝ. จะเป็นสีน้ำเงินกรมท่า แต่ตำรวจภูธรตอนหลังก็มาใส่สีน้ำเงินกันหมด ยศอยู่ทางขวา สังกัดอยู่ซ้าย แต่ดูยาก กองกำกับจะเขียนเลยว่ามาจากไหนแต่ช่วงหลังเขาดึงชื่อดึงกองกำกับออกก็ยิ่งดูยาก เอาง่ายๆ ถ้ามีอาร์มชมพูๆ ถ้าตำรวจเด็กๆ พวกนี้จะหัวรุนแรง ส่วนหมวก ผ้าพันคอคือสัญลักษณ์บอกสังกัดว่าขึ้นตรงกับใคร
ตำรวจที่ถูกสั่งมาคุมม็อบจะมาจากหลายแหล่ง อย่างชุดสีเขียวขี้ม้าคือ ตชด. เป็นตำรวจที่เป็นทหาร ก็จะดูก้าวร้าวหน่อย แต่ถ้าตำรวจตามสี่แยกก็จะต่างกัน ส่วนตำรวจวัยรุ่นพวกนี้พึ่งเรียนจบนายสิบแล้วยังต้องมานอนโรงนอนอีก ผู้บังคับบัญชาสั่งอะไรมาก็กลัวไปหมด นายสิบพวกนี้มักไม่รู้เรื่องกฎหมายเพราะถ้าจะเรียนกฎหมายต้องไปเป็นนายร้อย ถ้านายสิบเจอคนรู้กฎหมายจะเริ่มถอย
– 3 –
ในหลายกรณีตำรวจที่ใช้ความรุนแรงได้รับคำสั่งให้ใช้ความรุนแรงหรือว่าเป็นอารมณ์ส่วนตัว?
ก่อนหน้าที่ ผบ.ตร. จะไฟเขียว ตำรวจจะไม่กล้าทำอะไรก่อนแน่นอน นายสิบจะถูกฝังหัวว่าถ้าชักปืนยังไงก็ได้อย่าไปยิงเขาติดคุกแน่ ซึ่งในหลักนิติศาสตร์หลักกฎหมายมันละเอียดอ่อน ถ้าเกิดเคสที่รู้ว่าตำรวจคนไหนทำ มีใบหน้าชัดเจน ถ้าเป็นยุคก่อนก็จะพยายามบีบบังคับตำรวจ สิบตรีที่โดนดำเนินคดีนายจะบอกไม่เกี่ยวด้วย แต่ยุคนี้พอรู้หน้าว่าเป็นใครก็ช่วยกันป้อง จึงเกิดเหตการณ์ว่ากูก็กล้าทำ
ตำรวจที่กระทำรุนแรงมักจะไม่ใช่ตำรวจภูธรไม่ใช่ตำรวจโรงพัก สมมติหนึ่งกองกำลังหนึ่งหมวดมี 50 คนจะรวมตำรวจจาก 9-10 โรงพักมาซึ่งไม่ได้สนิทกัน แต่พวกรุนแรงมักอยู่ คฝ. อยู่กองกำกับเดียวกันกินนอนด้วยกันวัยรุ่น อารมณ์ก็จะต่างกัน ตำรวจเด็กๆ พวกนี้จะหัวรุนแรง มึงทำเพื่อนกูกูก็ทำมึงคืน จากตำรวจกลายเป็นนักเลงตีกัน การข่มขู่เป็นสันดานดิบติดตัว ยิ่งพอใส่เครื่องแบบตำรวจก็จะรู้สึกมีอำนาจ พอได้อำนาจหน้าที่มาก็รู้สึกว่าเราเหนือกว่าเขา แล้วคนสั่งการก็จะทำทุกอย่างในการพิสูจน์ตัวเองเพื่อขึ้นสู่อำนาจ
– 4 –
ในตำรานายสิบตำรวจมีหลักสูตรว่าด้วยหลักการใช้กำลัง ฝึกกันสองอาทิตย์ แต่สิ่งที่ทำมันกลับกัน อย่างกระบองมีเรียนตั้งแต่สมัยโรงเรียนนายร้อย เวลาตีกระบองจะมีท่าถือกระบอง ต้องสองมือไม่ใช่ตีมือเดียว ซึ่งที่ปรากฏออกมามันผิดหลักแต่นายก็ป้อง พอผู้ปฏิบัติโดนนายเซฟมันก็ทำอะไรไม่ได้
หลักการใช้กำลัง
ขั้นแรก ปรากฏกาย ทำให้คนเห็นตำรวจ ควบคุมฝูงชนก็จะมีเรื่องเครื่องแบบนอกจากชุดน้ำเงินกรมท่า เขียวขี้ม้าแล้วยังมีชุดเครื่องแบบด้วย เครื่องแบบธรรมดานั่นคือตัวซอฟต์ที่สุด มันคือขั้นแรกปรากฏกาย วางกำลังในเครื่องแบบ
ขั้นที่สอง ออกคำสั่ง ถ้าปรากฏกายแล้วยังไม่หยุดก็สั่งให้หยุด ถ้าสั่งให้หยุดแล้วไม่หยุดก็กระชาก
ขั้นที่สาม จะเริ่มใช้กำลังควบคุมตัว ใช้กำลังปราม แต่ปรากฏว่าถ้าอีกฝ่ายต่อยกลับมาตำรวจก็จะมีกระบองใช้กระบองฟาด ถ้ากำลังจะฟาดแล้วอีกฝ่ายชักปืนขึ้นมาจะยิง พอเจออาวุธไม่ถึงตายตำรวจก็จะต้องใช้อาวุธที่ถึงตาย
กระสุนยางทำให้ตายได้ กระสุนยางเข้าตาก็ตาบอด ถ้าทะลุตาโดนสมองก็ตาย ต้องยิงตั้งแต่ลำตัวลงไป สำหรับปืนไฟฟ้าคิดว่าไม่น่าเอามาใช้กับม็อบเพราะมันแพงยิงทียิงได้ครั้งเดียวมันไม่คุ้ม ส่วนใหญ่เขาใช้ในการจับตัวประกัน คนที่ถูกยิงด้วยปืนไฟฟ้าจะเหมือนโดนไฟดูดทำให้ชาหมดแรงหนีไปไหนไม่ได้ ถ้าโดนก็ต้องให้เพื่อนช่วยหากรรไกรตัดเอ็นออกโดยไม่แตะต้องเนื้อตัวเพราะจะโดนดูดไปด้วย
ในกรณีที่ใช้อาวุธปรามแล้วเอาไม่อยู่ตำรวจก็จะจัดรูปขบวน
– 5 –
ถ้าฝูงชนกระจัดกระจายแล้วต้องการให้รวม ตำรวจก็จะจัดรูปขบวนไล่ต้อน สมมติจะต้อนไปทางซ้ายก็จะจัดรูปขบวนไล่ต้อนไปทางซ้าย ตั้งแถวหน้ากระดาน คนก็จะหนีตำรวจก็จะไล่ต้อนไป
ถ้าเป็นรูปลิ่มก็คือต้องการแทงมวลชนให้แยก พอลิ่มเสร็จเขาจะยืนข้างๆ ก็จะพลิกแยกออก การที่ต้องแยกมวลชนออกเพื่อจะตามจับ นี่คือรูปขบวนในการจำกัดพื้นที่
ในการจัดรูปขบวนต้องมีคนสั่ง ทุกครั้งจะมีคนตัดสินใจอยู่ตรงกลางคนหนึ่งเสมอตามหลักการป้องกัน สมมติเป็นหน้ากระดานคนตรงกลางจะคอยบอกและสั่งการ เวลาเดินเขาก็จะเดินทีละก้าวเดินก้าวต่อก้าว เพราะเดี๋ยวแถวแตกเป็นช่องจะเสียเปรียบ
การจัดรูปขบวนนี้ขึ้นกับสถานการณ์ว่าจะแยกหรือไล่ต้อน เขาดูพื้นที่ ถ้าพื้นที่กว้างตำรวจก็เสียเปรียบก็ดันๆ ไปเรื่อย ถ้าติดคลองก็ดันให้ติดคลองไปไหนไม่ได้ก็ต้องหนีไปทางนั้น ลองสังเกตดูเขาจะเหมือนเปิดทางออกให้เราตลอด เขาต้องการให้เราไปทางที่เขากำหนด นั่นคือจุดประสงค์ของรูปขบวนคือจำกัดพื้นที่ จำกัดทางหนีให้เรา ดังนั้นถ้าเจอรูปขบวนเมื่อไรให้หาทางหนีทีไล่ให้ดี
ในการชุมนุมแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะไล่ระดับ 1 ถึง 10 คำว่าม็อบมันเป็นขั้นระดับ 3 เริ่มจากคนมารวมกันก่อน สุดท้ายเป็น chaos
หลังจากจัดรูปขบวน วางกำลัง ก็เริ่มจะมีอาวุธ โล่ห์ กระบอง คฝ. ถ้ามีโล่ห์จะเริ่มแรงเพราะมองว่ามวลชนจะเริ่มขว้างปาสิ่งของ
เราอาจสังเกตจากเครื่องแบบก็ได้ ถ้าเครื่องแบบธรรมดาเบาสุด ถ้าเริ่มเป็นชุดน้ำเงิน เขียว เร่ิมแรงแล้ว แต่ถ้ามีโล่ห์คือเริ่มหนัก เวลาวางกำลังเขาจะวางเป็นชั้น
อุปกรณ์พิเศษก็จะไล่ไปตั้งแต่อุปกรณ์เคลื่อนไหวกดดันบีบออก มีโล่ห์ อุปกรณ์ส่งเสียงรบกวนระยะไกล LRAD แล้วจึงแก๊สน้ำตา มันต้องเป็นไปตามขั้นตอนก่อนจะทำอะไรจะต้องประกาศแจ้งเตือนก่อน เริ่มจากประกาศแจ้งเตือนว่าจะใช้เครื่องเสียงแล้วนะ เป็นขั้น 5 พอเครื่องเสียงเสร็จจะใช้แก๊สน้ำตาแล้วคือขั้น 6 จะควบคุมแล้วคือขั้น 7 ฉีดน้ำคือขั้น 8 แล้วก็ขั้น 9 คือกระสุนยาง กระสุนยางเฉพาะบุคคล ไม่ยิงสาด ไปจนถึงขั้นสุดท้าย 10. อาวุธปืนเฉพาะบุคคล จะใช้ก็ต่อเมื่อในฝูงชนมีปืนแบบสงครามกลางเมืองแต่บ้านเรายังไม่ถึงขั้นนั้น
หลักการของการควบคุมฝูงชน เจตนาคือต้องการให้เลิก ต้องการให้หยุด ไม่ใช่ว่าตำรวจต้องการไต่ระดับเพื่อไปฉีดน้ำเพื่อไปยิงกระสุน เพราะแต่ละขั้นตอนแต่ละการกระทำมันมีเรื่องงบประมาณ กระสุนยางเบิกได้เท่าไรต้องมีรายงาน แต่ทุกวันนี้มันบ้าคลั่งผิดหลักการไปหมด
– 6 –
ตอนนี้แทบทุกกลุ่มที่ออกมาชุมนุมตำรวจก็มองว่ามันคือม็อบทั้งนั้น พอม็อบไม่มีแกนนำจะรู้ได้ยังไงใครแรงไม่แรงเขาก็เลยกำหนดด้วยสถานที่ เขาจะเซ็นซิทีฟกับเรื่องพื้นที่ ถ้าสถานที่ที่จัดชุมนุมอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังเขาจะเซ็นซิทีฟมาก เขาจะไม่ยอมให้ไป ถ้าใกล้วังต้องจัดมาสิบกองร้อยยี่สิบกองร้อย อย่างการสลายการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงวันที่ผู้ชุมนุมดึงตู้คอนเทนเนอร์ลงมา (https://www.matichon.co.th/local/news_2633326) มันเป็นความเซ็นซิทีฟเหมือนกำแพงเมืองจีนกำลังล่มข้าศึกจะบุกเข้ามาแล้ว คอนเทนเนอร์ถึงขนาดล้มแสดงว่ามันต้องล้มกำแพงพระบรมมหาราชวังแน่เขาถึงต้องจัดหนัก
อย่างทุกวันนี้แยกดินแดงกลายเป็นสถานที่เซ็นซิทีฟ ในเมื่อขั้วอำนาจยังไม่เปลี่ยนฝั่ง ตำรวจก็จะต้องรักษาฐานที่มั่นไม่ยอมให้ผู้ชุมนุมย่างกรายเข้าใกล้บ้านพักประยุทธ์เป็นอันขาด เพราะประยุทธ์คือป้อมปราการด่านหน้าของสถาบันกษัตริย์
– 7 –
เรื่องข่าวสำคัญ ฝ่ายเสนาธิการจะแบ่งเป็น 5 ฝ่าย 1. กำลังพล 2. การข่าว 3. ยุทธศาสตร์ 4. ส่งกำลังบำรุง 5. ไอโอ เวลาเขาทำเขาจะทำข้อ 2 ก่อนก็คือข่าวนำ แผนตาม กำลังพล ส่งกำลังบำรุง แล้วก็ไอโอ
ข่าวก็คือการปั่นกระแส เหมือนหกตุลาที่ปั่นว่าธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ลับ ซ่องสุมคอมมิวนิสต์ เขาจะมีชุดกระบวนการความคิดนี้อยู่
นอกเครื่องแบบจะเข้ามาดูว่าในม็อบมีอะไร แทรกซึมอยู่ในม็อบไปเดินในม็อบ ถ่ายรูป ถ่ายคลิปวิดีโอ จดบันทึก ดูว่าคนมากี่คน บันทึกเหตุการณ์ รายงานใครพูดอะไร อัดเทป มีแผนกถอดเทป อันไหนเข้าข้อหา พยายามเก็บข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อไปวิเคราะห์ คือตำรวจเชื่อว่าทุกม็อบต้องมีแกนนำ ถ้าจัดการแกนนำได้คือจบ
ถ้านอกเครื่องแบบเข้ามาคือมาเก็บข้อมูล แต่ถ้ามาร่วมด้วยอาจจะเป็นทหาร จากที่มีคนสังเกตเห็นกลุ่มชายฉกรรจ์ใส่หมวกก่อสร้างในม็อบ คิดว่าอาจจะเป็นทหาร การใส่หมวกแบบนั้นคือเอาไว้กันก้อนหิน หลักการทำงานของทหารมีรูปแบบ แต่ถ้าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบจะไม่มีรูปแบบ
ส่วนเรื่องสายข่าว ในการคุมคนเยอะๆ สิ่งที่ตามมาก็คือเรื่องชั้นความลับ มันก็จะมีคนที่เป็นตัวอ่อน ตำรวจก็ต้องหาตัวอ่อนให้ได้ว่าใครคือตัวอ่อน พยายามหาเจาะ พอเราระแวงกันเขาก็ปั่นได้ง่าย เวลาหาสายก็ดูจากคนที่พยายามเด่นออกมาต้องการสร้างชื่อ
เรื่องการสืบสวน สมัยนี้มีกล้อง ยืนยันด้วยหน้า เอารูปไปเข้ากูเกิลไปเข้าเฟซโซเชียลเราก็รู้แล้วว่าเป็นใคร หลักการตามตัว ทะเบียนบ้าน พอมีชื่อจริงก็จะหาความเชื่อมโยงหาประวัติของคนคนนี้ได้ ใช้หลักความเชื่อมโยง
ตำรวจก็จะมีเทคนิคเรื่องการเข้าถึงความลับ ยึดมือถือ หรือขู่เอาเบอร์ขู่เอาพาสเวิร์ด พอมีเบอร์โทรก็รู้ทุกอย่าง ทุกสัญญาณก็จะมีเสาสัญญาณโทรศัพท์ 3 ช่อง ก็จะหาตำแหน่งหาพิกัดได้ ยิ่งเป็นสมาร์ตโฟนยิ่งง่าย ระยะหลังเร่ิมมีบางคนโดนยึดมือถือไปแล้วโดนติดตั้งแอพพิเศษติดตามตัว วิธีสังเกตคือลองดูมือถือเราว่ามีอะไรผิดปกติหรือเปล่า ทางที่ดีเราต้องไม่ให้มือถือกับตำรวจ เพราะมือถือทำให้เห็นว่าโยงไปถึงใคร เล่นเฟซบุ๊กมั้ยติดต่อใครคุยกับใคร ดังนั้นเวลาคุยก็ควรคุยวอตช์แอพ เทเลแกรมมันลบเอง เวลาโทรศัพท์ใช้โทรไลน์บ้างเทเลแกรมบ้างใช้โปรแกรมพิเศษ เพราะการโทรปกติตำรวจไปขอประวัติการโทรได้
มันเป็นวิธีการนอกกฎหมายมาก ตำรวจอาจมีเส้นสายกับบริษัทมือถือ ฝ่ายกฎหมายของบริษัทก็อาจดีลกับตำรวจ พอเข้าถึงชั้นความลับได้มากกว่าคนอื่นก็กลายเป็นผลงาน
– 8 –
ด่า
เวลาตำรวจเจอผู้ชุมนุมด่าก็มีรู้สึกแย่บ้าง หรือเอาอาหารหมาไปวางให้ หรือด่าว่าหมารับใช้ เหล่านี้ยังเบากว่าสมัยเสื้อเหลืองเยอะ เสื้อเหลืองหนักกว่านี้มายืนชี้หน้าด่าตำรวจเรียงตัวเลย ขณะที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยมักด่าผู้สั่งการด่าไปถึงข้างบน ไม่ได้ด่าตัวบุคคล การด่าสถาบันองค์กรตำรวจ เปอร์เซ็นต์น้อยมากที่ตำรวจจะโกรธ เพราะตำรวจหรือทหารเจนเด็กๆ เขาก็ไม่เอาด้วยแล้ว ดังนั้นด่านายพลขึ้นไป ด่าคนสั่งการเพราะต่อให้ด่าผู้ปฏิบัติก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
กวนตีน แกง
การติดภาพเพื่อนที่ถูกจองจำบนโล่ห์ที่ตรวจถืออยู่ การเขียนโล่ห์ พ่นสีโล่ห์ ฉีดน้ำปลา ติดสติ๊กเกอร์ สาดสี ทำในเชิงสัญลักษณ์ ทำอะไรที่สร้างสรรค์ทำได้ทั้งนั้น แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าต้องการอะไร ปรับยุทธวิธีไปตามเป้า แกงตำรวจ เปลี่ยนสถานที่ชุมนุม นัดเร็วสลายตัวเร็วจนตำรวจตายใจ หรือแรงๆ หยุดๆ จนตำรวจปรับตัวไม่ทัน
กรณีถูกนอกเครื่องแบบติดตาม เราอาจขอดูบัตร ซึ่งที่จริงเขาไม่จำเป็นต้องให้เราดูบัตรถ้าไม่ได้มาจับ เราอาจใช้วิธีว่างั้นพี่มาเซลฟี่กับหนูมั้ย อย่างน้อยเราได้รูปเขา ตำรวจจะกลัวการถูกถ่ายรูปมาก
บันทึกข้อมูล เก็บหลักฐานที่ตำรวจทำผิดหลักการ
การเก็บข้อมูล บันทึกเหตุการณ์ ภาพถ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาพตำรวจทำร้ายสื่อ ทำร้ายหมอ เหล่านี้คือหลักฐานที่เราต้องรวบรวม มันจะมีประโยชน์แน่นอนในอนาคต อาจจะต้องรอไทม์มิ่งของมัน
ตีแผ่ แฉ เปิดโปง
กรณีที่นักกิจกรรมถูกตำรวจตามคุกคามถึงบ้านจึงโต้กลับด้วยการไปเยี่ยมตำรวจที่โรงพัก หรือกรณีที่ภูเขียว อิมแพ็กต์มาก ผู้บัญชาการระดับนายพลถึงกับต้องโกนหัว (กรณีกลุ่มราษฎรตั้งเต็นท์หน้า สภ.ภูเขียวเพื่อรอฟังแถลงการณ์ขอโทษจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คุกคามนักเรียนผู้ลงชื่อร่วมค่ายราษฎรออนทัวร์ https://www.matichon.co.th/politics/news_2558139)
การที่ตำรวจพยายามข่มขู่นักเรียนหรือไปกดดันพ่อแม่ เหล่านี้เป็นกระบวนการไม่ถูกต้องที่ต้องถูกตีแผ่ เสียบประจาน กรณี ตชด. ขับรถปาดหน้าทีมทะลุฟ้าแล้วมีการไลฟ์สดเลยทำให้รู้ว่าเป็น ตชด. รุ่น 59 คนก็เริ่มขุด เพราะการกระทำแบบนี้อ้างไม่ได้ว่าทำตามหน้าที่ (https://www.matichon.co.th/politics/news_2650312)
กรณีตำรวจมาเยี่ยมบ้านเรามีสิทธิจะรู้ว่าคุณเป็นใครมาทำไม จุดประสงค์ของตำรวจคือต้องการให้พ่อแม่มาขู่เรา ซึ่งอันที่จริงแค่ส่งหมายเรียกมาก็ได้ หมายเรียกไม่ใช่หมายจับ หมายเรียกคือมันเป็นคดีไปแล้วเราก็แค่หาคนมาแก้ต่าง ปกติถ้ามีการเรียกแล้วเรามาปรากฏต่อหน้าตำรวจจะไม่มีการควบคุมตัวจะไม่มีการจับ ถ้าไปตามหมายเรียกตามหลักเขาจะไม่ฝากขัง จะขังกรณีจับ มีหมายจับหรือควบคุมตัวถึงจะเอาไปฝากขังเพราะตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวได้ 48 ชม. แต่ถ้าใครมาตามหมายเรียกไม่มีพฤติกรรมหลบหนีก็ฝากขังไม่ได้ ตำรวจอาจจะดริฟท์ว่าก็ขอหมายศาลศาลมีสิทธิที่จะไม่รับก็ได้ แต่ศาลก็ดันฝากขัง ขอประกันก็ไม่ให้ มันเป็นอย่างนี้ครอบคลุมทั้งกระบวนการ
หลักการจับกุมมีอยู่ 2 แบบ หนึ่งซึ่งหน้า ทำผิดมาแล้วสดๆ จะหลบหนี เรียกว่า “จับสด” ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจับได้ทุกกรณี จะมีบางข้อหาจับสด กับอีกอันจับแบบมีหมาย ซึ่งตำรวจจะต้องแสดงตัวแสดงหมายจับก่อนเข้าจับกุม มีหมายจับออกมาแล้ว
การเข้าไปจับโดยไม่มีหมายค้นเป็นการจับโดยมิชอบ เพราะการจะจับ ถ้าจะมาค้นเราในห้องจะต้องมีหมายค้นถ้าไม่มีไม่ให้ค้น แต่ถ้าเปิดประตูแล้วเจ้าหน้าที่เริ่มเข้ามาได้ก็จะเป็นอีกแบบ
ฟ้องกลับ
กรณีตำรวจไล่ตีรุมทำร้ายผู้ชุมนุมมันไม่ถูกต้องตำรวจคนนี้สมควรถูกดำเนินคดีด้วยซ้ำ ถ้าปล่อยให้เกิดแล้วเราอาจจะต้องดำเนินคดีกลับ ตำรวจถือหมวกสองใบ ประชาชนหนึ่งกับในหน้าที่หนึ่ง ตำรวจควรจะอยู่แค่ในหลักการใช้กำลัง แต่กรณีที่เกิดขึ้นมันทำร้ายคนมันหลุดหลักการไปแล้ว
ส่วนใหญ่คนจะไม่ฟ้องเพราะมันเสียเวลา แต่อย่างน้อยเราได้ทำ ซึ่งคดีอาจไม่ตัดสินในเร็ววันแน่นอน ต่อให้หมดอายุความไปแล้วก็จะมีศาลประชาชนมาตีแผ่ได้อีก ถึงแม้วันนี้เราจะโดนกระทำแต่อนาคตมันจะเป็นบทเรียนไม่ให้ลูกหลานเราถูกกระทำเช่นนี้อีก
ควรจะมีการฟ้องกลับเยอะๆ ตำรวจกลัวการฟ้องกลับ การโดนฟ้องกลับก็มีผลต่อความเติบโตในหน้าที่การงานอาจทำให้สะดุดบ้าง คนเป็นตำรวจทุกคนถูกปลูกฝังมาว่าคุณเป็นตำรวจขาข้างหนึ่งอยู่ในตารางเสมอถ้าใช้กฎหมายผิดหลักยังไงก็โดน แต่แน่นอนทุกวันนี้ศาลไม่ส่งฟ้อง กระบวนการทุกองคาพยพไม่เห็นหัวประชาชน
– 9 –
“วันนี้เราสู้ด้วยหลักการ เอาหลักการอยู่เหนืออารมณ์ โต้ด้วยข้อเท็จจริง ยืนยันหลักการ ซึ่งมันยากมากเพราะเราเป็นมนุษย์ ตำรวจก็เป็นมนุษย์ พึงระลึกว่าเราไม่ได้สู้กับตำรวจ ตำรวจเป็นแค่เครื่องมือไม่ใช่คู่กรณีหลัก ดังนั้นพยายามรักษาหลักการไว้ ไม่ว่าเจออะไรก็นึกถึงหลักการและเหตุผลไว้ อะไร record ได้ก็ record ไว้ ถ้ามีบันทึกไว้ก็ดี ในอนาคตมันจะมีคุณค่าถ้าเราบันทึกไว้แล้วส่งต่อให้คนอื่น วางกลยุทธ์ดีๆ ทุกอย่างมีการแลก”
ขอบคุณภาพจากเพจเยาวชนปลดแอก และเพจทะลุฟ้า