พัฒนาการกลุ่ม 3 ขั้นตอน

เมื่อคนเรามารวมกันเป็นกลุ่มเราจะมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ขณะเดียวกันกลุ่มก็จะมีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วย

การที่คนเรามารวมกันเป็นกลุ่มได้สิ่งสำคัญอันหนึ่งคือมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแค่ฝูงชนมารวมกันทั่วๆ ไปไม่ได้มีลักษณะความเป็นกลุ่ม

การมีเป้าหมายร่วมกันของกลุ่ม ทำให้ทุกคนในกลุ่มพยายามช่วยกันพากลุ่มไปให้ถึงเป้าหมาย ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ หรือว่าเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง หรือเป็นสถาบัน เป็นองค์กรที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง ต้องการที่จะบำรุงรักษาสิ่งดีๆ บางอย่างไว้ในสังคมหรือในระบบเศรษฐกิจ ฟาก็จะมีหน้าที่ช่วยให้กลุ่มบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น 

การที่กลุ่มจะบรรลุเป้าหมายได้ดีเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของคนในกลุ่ม ซึ่งวิธีการสังเกตความสัมพันธ์ของคนในกลุ่มเราใช้แนวคิดเรื่องพัฒนาการกลุ่ม 3 ขั้น ของ เอ็ม. สก๊อต เพ็ค (M. Scott Peck) ดังนี้

กลุ่มจะมีพัฒนาการอยู่ 3 ขั้นตอน

ช่วงชุมชนเทียม (หรือช่วงฮันนีมูน

ช่วงแรกที่พบเจอกัน ทำความรู้จักกัน มักจะมีบรรยากาศของความเป็นมิตร ไม่ขัดแย้ง รับฟังกัน ถนอมน้ำใจ ชื่นชมกัน ฯลฯ

ในช่วงนี้ คำถามในใจของแต่ละคนคือ ฉันอยู่ตรงไหนในกลุ่ม เราจะถามหาผู้นำ เรียกร้องบทบาทผู้นำ คาดหวังกับผู้นำ ช่วงนี้บทบาทผู้นำจะสูงมาก แต่ถ้าสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยในกลุ่มได้ สามารถค้นหาคุณค่า มีความสัมพันธ์กันระดับหนึ่ง ภาวะกลุ่มจะเริ่มเปลี่ยน เมื่อเกิดงานที่มีเป้าหมาย เกิดภารกิจร่วม ความขัดแย้งจะเริ่มปรากฏ เริ่มอึดอัด บางส่วนจะเริ่มเรียกร้องกลับไปเป็นเหมือนเดิม

ช่วงโกลาหล

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงยากลำบากที่สุดของกลุ่ม เกิดการปฏิเสธกันและกัน แบ่งเป็นกลุ่มก้อน มีบรรยากาศของการแยกตัว ตัดสินกัน ทะเลาะกัน แย่งกันนำ ช่วงนี้จะไม่สามารถกุมประเด็นได้ เพราะรู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดเผยตัวเอง รู้ว่าสามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้ คำถามที่เรามักจะถามในช่วงนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้คนอื่นยอมรับความคิดฉัน และจะเริ่มปฏิเสธคนที่มีบทบาทนำอยู่ ณ ปัจจุบัน บางครั้งปฏิเสธฟา เถียง โจมตี 

ในช่วงนี้ ถ้ามีฟาจะต้องเข้าใจภาวะกลุ่ม รับฟัง แยกแยะความขัดแย้ง ชักชวนหาทางออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่กดทับความขัดแย้งเอาไว้ ส่งเสริมการใช้อำนาจร่วม กลุ่มจะค่อยๆ เรียนรู้จนเกิดการปรับคุณค่าร่วมกัน มีการหาคุณค่าร่วม กติการ่วม ความสัมพันธ์ร่วม และแต่ละคนรู้สึกได้เติบโต เข้าสู่ภาวะชุมชนจริง

ช่วงชุมชนจริง

คือชุมชนที่มีการจัดการ ชุมชนที่มีเคารพความเป็นตัวเองของแต่ละคนภายใต้เป้าหมายร่วมกัน ชุมชนจริงเป็นภาวะที่กลุ่มจะมีพลัง พร้อมจะขัดแย้งกันโดยไม่ทะเลาะ พร้อมจะยืนยันสิทธิตัวเอง พร้อมจะยืนยันเป้าหมายตัวเองและเป้าหมายกลุ่มได้ แต่ภาวะแบบนี้ไม่ได้อยู่ตลอดไป อาจย้อนกลับไปชุมชนเทียมก็ได้ ย้อนกลับไปโกลาหลก็ได้ต่อเมื่อจัดการความขัดแย้งไม่ได้ เกิดกรณีที่ทำให้ไม่ไว้วางใจกัน พื้นที่ปลอดภัยไม่พอสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่สื่อสาร มีบางคนใช้อำนาจเหนืออย่างรุนแรงในช่วงชุมชนจริง เมื่อนั้นกลุ่มจะกลับไปสู่ช่วงชุมชนเทียม หรือภาวะที่มีสมาชิกใหม่เข้ามาเยอะก็จะกลับไปสู่ชุมชนเทียม ทั้ง 3 ช่วงนี้เป็นพัฒนาการ ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดที่ไหนและกลับไปกลับมาได้ตลอด

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเคลื่อนกลุ่มจากชุมชนเทียมไปสู่ชุมชนโกลาหล

พื้นที่ปลอดภัยสร้างอย่างไร?

  • สร้างข้อตกลงกติกาที่ทำให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัย
  • ไม่มีด่วนตัดสิน
  • ฟังกัน ระดับบุคคลคือฝึกการฟัง ระดับกลุ่มคือหลังสร้างกติกาไว้ก็จะเกิดการฟังกลุ่มขึ้น
  • ไม่กล่าวโทษ ไม่ลงโทษ ไม่โจมตีตัวบุคคล