มอง “ยืนหยุดขัง” ผ่านดวงดาวกลยุทธ์
22 มีนาคม 2564 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนิน “ยืน หยุดขัง” โดยเชิญชวนประชาชนมาร่วมกันส่งเสียงดังด้วยการยืนเฉยๆ 112 นาที เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองที่ถูกคุมขังในเรือนจำโดยที่ยังไม่มีการพิจารณาคดีและไม่ได้รับสิทธิประกันตัวตามหลักกระบวนการยุติธรรม
“ยืนหยุดขัง” เป็นปฏิบัติการยืนประท้วงที่แสดงให้เห็นความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นของประชาชนที่สามารถออกมายืนนานถึง 112 นาที หรือ 1.12 ชม. ได้ต่อเนื่องทุกวันจนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้อง “ปล่อยเพื่อนเรา”
กิจกรรมยืนหยุดขังดำเนินมาเป็นเวลา 71 วัน
จากวันแรกที่มีผู้เริ่มต้นยืนเพียง 8 คน เติบโตกลายเป็นหลักร้อย
จากยืนเฉยๆ เป็นเวลา 112 นาที สู่ 1 ชั่วโมง 12 นาทีของทุกวันเวลาเดิม
จากจุดนัดหมายหน้าศาลฎีกา กระจายไปในหลายที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งหน้าศาลอาญา หน้าเรือนจำ หน้าศาลากลาง แยกไฟแดง ดาดฟ้า หน้าบ้าน ลานสาธารณะ ไปจนถึงชายหาด
2 มิถุนายน 2564 กลุ่มพลเมืองโต้กลับประกาศยุติกิจกรรมยืนหยุดขัง หลังชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน ได้รับการปล่อยตัวเป็นคนสุดท้าย
ท่ามกลางสถานการณ์โควิดและการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการรุนแรงในการปราบปรามการชุมนุมประท้วงหลายต่อหลายครั้ง กิจกรรมยืนหยุดขังเกิดขึ้นภายใต้บริบทของการประท้วงที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ ไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากมาย ทุกคนลุกขึ้นมายืนได้ด้วยตัวเอง จัดการความเสี่ยงด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ
“ยืนหยุดขัง” ได้สร้างแรงกระเพื่อมทำให้รูปแบบการยืนประท้วงนี้กระจายไปในสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
Act Lab ลองนำเครื่องมือดวงดาวกลยุทธ์มาวิเคราะห์กิจกรรมยืนหยุดขังผ่านบทสนทนาพูดคุยกับ บารมี ชัยรัตน์ หนึ่งในผู้ริเริ่มกิจกรรม