การคิดเป้าหมายของปฏิบัติการแต่ละครั้งเป็นเรื่องสำคัญก่อนจะออกแบบปฏิบัติการ
SMART เป็นเครื่องมือช่วยตั้งเป้าหมาย ทั้งเป้าหมายส่วนตัว เป้าหมายองค์กร และเป้าหมายเครือข่าย ทำให้ตั้งเป้าหมายได้ชัดขึ้น เพราะการตั้งเป้าหมายไม่คมชัดจะส่งผลต่อการออกแบบงานรณรงค์เคลื่อนไหวที่เบลอไปด้วย
องค์ประกอบของการตั้งเป้าหมายมีดังนี้
– specific: เฉพาะเจาะจง เป็นรูปธรรม
– measurable: วัดผลได้
– achievement: เป็นไปได้ สมเหตุสมผล
– responsibility: มีผู้รับผิดชอบ ผู้รับผิดชอบปฏิบัติการนั้นๆ เป็นผู้รับทั้งความผิดพลาดและความสำเร็จ ผู้ที่เห็นปัจจัยต่างๆ ของงานรณรงค์ปฏิบัติการนั้นๆ เพื่อนำมาถอดบทเรียนและสรุปบทเรียน
– time: มีกรอบระยะเวลา งานรณรงค์ปฏิบัติการต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเพื่อนำไปสู่การวัดผล
วิธีคิดในการตั้งเป้าหมายให้ SMART
งานรณรงค์ปฏิบัติการแตกต่างจากงานเผยแพร่ให้ความรู้ตรงที่งานรณรงค์ต้องมีเป้าหมายมุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ
- เราอยากเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทำได้สองแบบ หนึ่ง หยุดพฤติกรรมเดิมของเขา สอง ให้เขามีพฤติกรรมใหม่ พฤติกรรมอะไรที่เราพึงปรารถนา
- ตั้งเป้าหมายเชิงบวก บอกถึงสภาวะที่เราต้องการให้เกิดขึ้น การตั้งเป้าหมายเชิงลบจะส่งผลสืบเนื่องเป็นทอดๆ เช่นเป้าหมาย “รัฐต้องหยุดเขื่อน” ปรากฏว่าเขาไม่สร้างเขื่อนแล้วแต่ไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแทน เป็นต้น แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่า “รัฐบาลต้องสนับสนุนพลังงานสะอาด” เป็นเชิงบวกที่ได้ทั้งแนวร่วมและล็อกคู่กรณีไว้หากเขาเปลี่ยนเป้าด้วย
- ตั้งเป้าหมายเชิงรุก วิธีคิดแบบ SMART คือวิธีคิดเชิงรุก ไม่ใช่มีประเด็นปัญหาแล้วตั้งรับ การตั้งเป้าหมายเชิงต่อต้านคัดค้านเป็นการตั้งรับซึ่งไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายที่เราต้องการ
เป้าหมายแบบเดิม | เป้าหมายแบบ SMART |
---|---|
ฉันจะรวย | ฉันจะมีเงินสิบล้านภายใน 10 ปี |
หยุดไล่รื้อ | เครือข่ายสลัมสี่ภาคจะทำให้ชุมชนอย่างน้อย 20 ชุมชนใน กทม. ได้รับการรับรองตามกฎหมายภายใน 5 ปี |
คัดค้านการยกเลิกบัตรทอง | กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปร่วมในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพในสัดส่วน 50:50 ภายใน 1 ปี |
แรงงานข้ามชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดี | โครงการ STAR จะทำให้แรงงานข้ามชาติประมงในจังหวัดระยองอย่างน้อย 50% ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บ.ต่อวัน ภายใน 1 ปี |