เครื่องมือออกแบบวางแผนปฏิบัติการ: ต้นไม้ปัญหา-ต้นไม้ผลลัพธ์

ต้นไม้ปัญหา (problem tree)

เครื่องมือต้นไม้ปัญหาเป็นพื้นฐานของการคิดปฏิบัติการ ทำให้คิดเป็นระบบว่าประเด็นปัญหาหนึ่งๆ ไม่ได้มีแค่สาเหตุเดียวแต่มีหลายสาเหตุที่เป็นรากหรือต้นตอของปัญหา ทำให้เห็นจุดเชื่อมต่อ เห็นความเชื่อมโยงและความเป็นเหตุเป็นผลของประเด็นปัญหา

ลำต้น เปรียบเหมือนปัญหาหรือประเด็นที่เราสนใจ (problem/issue)

ราก คือสาเหตุโดยตรงของปัญหา (causes)

ใบ คือผลกระทบหรือสิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากประเด็นปัญหา (effects)

วิธีทำต้นไม้ปัญหา

  1. ระบุปัญหาให้ชัดเจน ให้เห็นรูปธรรมของปัญหา เป็นประโยคมีประธาน กริยา กรรม เพื่อที่จะวิเคราะห์ต่อได้ เช่น 
  • คนไร้สัญชาติเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน
  • เจ้าหน้าที่รัฐบังคับประชาชนในสามจังหวัดให้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ยินยอม
  1. เมื่อได้ลำต้นแล้วจึงหาราก โดยเริ่มจากสาเหตุหลักโดยตรงที่ทำให้เกิดปัญหานี้ก่อน แล้วจึงหารากชั้นถัดไป ตัวอย่างเช่น คนไร้สัญชาติเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน สาเหตุโดยตรงคือ เพราะไม่มีบัตรประชาชน เหตุที่ไม่มีบัตรประชาชนเพราะตกสำรวจ อาศัยอยู่พื้นที่ห่างไกล เจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจ เจ้าหน้าที่รัฐมองคนไร้สัญชาติเป็นพลเมืองชั้นสอง ฯลฯ เราจะเห็นความเชื่อมโยงของสาเหตุของปัญหาลงลึกขึ้นเรื่อยๆ
  2. เมื่อหารากหรือสาเหตุได้แล้วจึงมาวิเคราะห์ผลของปัญหา ผลกระทบ หรือผลที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นความเชื่อมโยงว่าด้วยเหตุดนี้จึงทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น 

* ต้นไม้ปัญหาประเด็นหนึ่งๆ ไม่มีวันเสร็จสมบูรณ์เพราะสถานการณ์เปลี่ยนตลอด มุมมองการวิเคราะห์ปัญหาจึงต้องเปลี่ยนตาม 

ตัวอย่างการใช้ต้นไม้ปัญหาวิเคราะห์ปัญหา “น้ำในแม่น้ำเน่าเสีย”

ต้นไม้ผลลัพธ์ (objective tree)

ต้นไม้ผลลัพธ์ หรือต้นไม้วัตถุประสงค์ คือการพลิกกลับต้นไม้ปัญหา ดังนั้นถ้าระบุปัญหาได้ชัดเจน เขียนเป็นประโยค มีประธาน กริยา กรรม และรู้ว่าเราจะทำอะไรกับประธานก็จะทำให้เห็นเป้าหมายของการแก้ปัญหาได้ชัดเจนขึ้น การเขียนให้เป็นรูปธรรมและเชื่อมกับต้นไม้ปัญหาจะทำให้เห็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ลำต้น เปรียบเหมือนผลลัพธ์ที่เราต้องการ (outcome)

ราก คือผลผลิตที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ อันประกอบด้วยชุดกิจกรรมต่างๆ (outputs)

ใบ คือภาวะที่พึงปรารถนา (impacts)

วิธีทำต้นไม้ผลลัพธ์

  • ดู “สิ่งที่ควรจะเป็น” เป็นหลัก ขณะที่ต้นไม้ปัญหาดูปัญหาเป็นหลัก
  • หาประธานที่เรารู้ว่าจะทำอะไรกับเขาได้ ทำให้แคบลง ไม่ใช้คำที่กว้างเกินไป
  • ระบุประธาน กริยา กรรม ให้ชัด จะทำให้เห็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม
  • อิงกับต้นไม้ปัญหาเป็นหลัก ไม่มโนหรือลอยจากสถานการณ์จริง เป็นการคิดแบบภววิสัยบนฐานของสถานการณ์ที่เป็นจริง
ตัวอย่างต้นไม้ผลลัพธ์พลิกต้นไม้ปัญหาน้ำในแม่น้ำเน่าเสีย