กระบวนการแสวงหาฉันทามติ

ทุกคนมีส่วนร่วมตัดสินใจเป็นไปได้จริงหรือ?”

บางครั้งคำว่ามีส่วนร่วมเป็นเพียงคำพูดเท่ ๆ บ่อยครั้งเราถูกบอกว่าต้องมีส่วนร่วม บางครั้งดูเหมือนจะมีส่วนร่วมแต่แล้วแกนนำหรือใครคนใดคนหนึ่งตั้งธงมาแล้วว่าจะเอาแบบนี้ กลับมติที่ประชุมกะทันหัน หรือเอาแต่สั่งการให้ทำนั่นทำนี่  สถานการณ์น่ากระอักกระอ่วนนี้นานวันเข้ามักนำไปสู่รอยร้าวจนยากสมาน หากสมาชิกกลุ่มรู้สึกว่าจะมีส่วนร่วมไปทำไมถ้าสุดท้ายการตัดสินใจก็อยู่ที่ใครบางคน

ตัวชี้วัดหนึ่งว่ากลุ่มเราเข้มแข็งแค่ไหน คือกระบวนการประชาธิปไตยในกลุ่ม ไม่รวมศูนย์อำนาจที่ใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วมในทุกระดับตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมตัดสินใจ

การตัดสินใจร่วมกันเป็นไปได้ถ้าทุกคนในกลุ่มเห็นทางเลือกและข้อจำกัดของคนอื่น ดังนั้นก่อนจะออกไปลุยลองพูดคุยหาฉันทามติตามแนวทางนี้ดูก่อน

ทางเลือกในการตัดสินใจแบบหาฉันทามติ

  1. เห็นด้วยกับเป้าหมาย แผน กลยุทธ์ ลุยด้วย พร้อมทำ
  2. ไม่เห็นด้วย แต่พร้อมทำ
  3. เห็นด้วย แต่ไม่พร้อม ขอไม่ทำหรือเลือกบทบาทที่ไม่ใช่ตัวหลัก
  4. ไม่เห็นด้วย ไม่พร้อมทำ แต่ไม่ห้าม
  5. บล็อกหรือขวางทาง คัดค้านไม่ให้กลุ่มทำ

ฉันทามติ (consensus) ไม่ใช่มติเอกฉันท์ (unanimity) ที่ทุกคนมีมติเดียวกันเหมือนกัน แต่คือการหาข้อสรุปหรือมติที่ทุกคนยอมรับด้วยความเต็มใจ ถ้ากลุ่มมีเวลา ก็ควรพูดคุยจนทุกคนเห็นด้วยและพร้อมทำ แต่ถ้าไม่มีเวลามากพอ การที่สมาชิกเลือกตัดสินใจในสี่ข้อแรก ก็ยังคงถือว่าเป็นมติร่วมกันได้คือไปในทางที่กลุ่มตกลงจะลงมือทำ และเคารพการตัดสินใจที่บางคนทำบางคนไม่ทำ บางคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

แต่ถ้ามีการบล็อกหรือขวางทาง นั่นหมายถึงผู้นั้นเห็นว่ามตินั้นขัดต่อหลักการหรือเป้าหมายกลุ่ม และถ้ายังลงมติเช่นนี้ เขาก็ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้ต่อไปได้ ดังนั้นกลุ่มจะต้องกลับมาพูดคุยกันใหม่ในเรื่องเป้าหมาย แผน หรือคุณค่าที่กลุ่มยึดถือ

หลายครั้งสิ่งต่างๆ มักไม่เป็นไปตามแผน กลุ่มจะต้องตัดสินใจว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การตัดสินใจด้วยฉันทามติจะช่วยสร้างหลักประกันว่าจะไม่ละเลยความเห็นของใครหรือมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

Act Lab 

Activist Laboratory Thailand

ห้องทดลองนักกิจกรรม

พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม