การวางแผนปฏิบัติการ

ภัควดี วีระภาสพงษ์
เรียบเรียงจากคู่มือของ Root Activist Network of Trainers 
http://organizingforpower.org/wp-content/uploads/2009/03/da_handbook.pdf

อำนาจของปฏิบัติการอยู่ในปฏิกิริยาแห่งการขัดขืน

Saul Alinsky  นักจัดตั้งชุมชน

การจัดตั้งปฏิบัติการไม่ยากเหมือนสร้างจรวด แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนอบขนม  มีหลายองค์ประกอบที่รวมกันแล้วทำให้ปฏิบัติการของเราประสบผลสำเร็จ  ถ้าเราใช้เวลาตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อสร้างความชัดเจนว่ากำลังพยายามทำอะไรและทำไปทำไม มันอาจก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างการสร้างอำนาจของขบวนการที่แท้จริงกับความรู้สึกล้มเหลวไม่เป็นท่าได้

ถ้าแผนการดี ถ้าประเมินจำนวนคนและทรัพยากรได้ถูกต้องตามความเป็นจริง และถ้าผู้คนในเครือข่ายมีความรับผิดชอบ ก็เหลือเรื่องเดียวที่น่าเป็นห่วงคือดินฟ้าอากาศ และเรื่องดินฟ้าอากาศนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กและควรพิจารณาเป็นปัจจัยสำคัญด้วย  การนั่งตากฝนประท้วงในเดือนกันยายนไม่จูงใจให้ประชาชนออกมาปฏิบัติการอย่างเข้มแข็ง  ดังนั้น จงคิดให้ดีและรอบคอบก่อนเรียกร้องประชาชนมาเข้าร่วม เพราะเราย่อมคาดหวังอยากให้พวกเขากลับมาร่วมกับเราอีก!

ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์….

ยุทธศาสตร์หมายถึงการมองเห็นภาพใหญ่

ยุทธศาสตร์หมายถึงการรู้ว่าเป้าหมายระยะยาวและเป้าหมายเฉพาะหน้าคืออะไร

ยุทธศาสตร์คือการระดมทรัพยากรให้ถูกที่ถูกทาง

ยุทธศาสตร์คือการรู้ว่าเมื่อไรควรใช้ทรัพยากรและควรใช้ทรัพยากรประเภทไหนบ้าง

ยุทธศาสตร์คือการรู้ว่าใครมีอำนาจตัดสินใจ

ยุทธศาสตร์หมายถึงการรู้จุดแข็ง จุดอ่อน พันธมิตร ปฏิปักษ์ ข้อจำกัดและทางเลือกทั้งของตนเองและฝ่ายตรงข้าม

ยุทธศาสตร์คือการรู้ว่าเรากำลังพยายามเล่าเรื่องอะไร  ใครคือคนที่จะเห็นพ้องกับเรา  เราจะตีกรอบความขัดแย้ง สร้างชั่วขณะของความฮึกเหิมและสร้างตอนจบที่มีความสุขได้อย่างไร

คำถามบางข้อที่พึงพิจารณาเมื่อวางแผนปฏิบัติการ

การคาดหมายสถานการณ์

อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง?  ปฏิบัติการจะออกมาแบบไหน?  ปฏิบัติการเป็นเชิงสัญลักษณ์หรือขัดขวางชีวิตประจำวันของสังคม?  ปฏิบัติการสาธารณะหรือปฏิบัติการลับ?  ปฏิบัติการของเราสนุกสนานและมีพลังหรือเปล่า?  กลุ่มของเราสบายใจกับแผนการที่วางไว้ไหม?  แผนการนี้จะอยู่นอกประสบการณ์ของกลุ่มเป้าหมายหรือไม่?  มันต้องมีจุดเริ่มต้น จุดตรงกลางและจุดสิ้นสุดหรือเปล่า?  ปฏิบัติการสามารถสื่อสารโดยไม่ต้องใช้คำพูดได้หรือไม่?  ลองพิจารณาเรื่องจังหวะเวลา  ปฏิบัติการของเราตรงกับเหตุการณ์อื่นที่มาช่วงชิงความสนใจไปไหม?  ประชาชนจะมาร่วมได้ไหม?  ยิ่งปฏิบัติการของเราแปลกใหม่ ขัดแย้ง มีข้อมูลใหม่ เข้าใจง่าย มีอารมณ์ขัน มีบุคคลเด่นดังมาเข้าร่วม มีการดื้อแพ่งของพลเมือง มีอุปกรณ์และภาพประกอบสดใสเตะตา มีผลกระทบต่อท้องถิ่น ตรงกับวันหยุดหรือวันครบรอบ ปฏิบัติการของเราก็จะได้เป็นข่าวมากขึ้น

สถานที่ปฏิบัติการ

สถานที่ปฏิบัติการของเราเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างไร?  มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่?  หากกำลังตัดสินใจเลือกสถานที่ปฏิบัติการ  แห่งไหนที่จะช่วยให้เกิดการสื่อสารดีที่สุดและส่งเสริมปฏิบัติการของเรา (ข้อพิจารณาในการเลือกสถานที่ปฏิบัติการคือขนาด ความโดดเด่น การเข้าถึง ความใกล้ถนน สัญญาณโทรศัพท์ รั้ว ความปลอดภัย บาทวิถี สถานที่สาธารณะใกล้เคียง ที่จอดรถ ที่พัก ฯลฯ)  เราสำรวจอาคารและทำแผนผังของชั้นต่างๆ หรือยัง?  ลิฟต์ บันได ห้องน้ำ ที่จอดรถ ป้ายรถเมล์ อยู่ตรงไหน?  สถานที่นั้นรองรับสมาชิกผู้พิการได้หรือไม่? มีกล้องวงจรปิดหรือเปล่า?  บาทวิถีใหญ่ขนาดไหน? ใครพักอาศัยหรือทำงานในสถานที่ใกล้เคียง ฯลฯ

วัสดุอุปกรณ์และฝ่ายกำลังบำรุง

มีของเหล่านี้ครบหรือยัง?
•  ป้าย ป้ายผ้า ธง 
•  ใบปลิวสำหรับวันปฏิบัติการ 
•  ระบบเสียง
•  โทรโข่งกับถ่าน/แบตเตอรี่ 
•  กระดาษลงชื่อ กระดานแปะคลิปบอร์ด  ปากกา
•  อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียง เช่น กลอง เครื่องดนตรี
•  หุ่นหรืออุปกรณ์ทัศนศิลป์อื่น ๆ  
•  คำแนะนำทางกฎหมาย คำแนะนำจากตำรวจ 
•  กล้องถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ  
•  อาหาร เครื่องดื่ม 
•  พาหนะขนส่ง คนขับและแผนที่เส้นทาง
•  ทีมงานติดตั้ง 
•  ทีมงานเก็บกวาดทำความสะอาด
•  ปลอกแขนของฝ่ายการ์ด/ฝ่ายรักษาความปลอดภัย
•  เอกสารแถลงการณ์สำหรับสื่อมวลชน
•  อุปกรณ์สื่อสาร (วิทยุ โทรศัพท์) 
•  เงินสำหรับค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย 

สื่อ

เราจะประชาสัมพันธ์ประเด็นและสาระของเราอย่างไร?  ถ้าต้องการให้สื่อมวลชนมาทำข่าว ติดต่อพวกเขาหรือยัง?  ทำสิ่งเหล่านี้หรือยัง:
•  ส่งผู้ประสานงานไปติดต่อสื่อ เอกสารแนะนำ รูปภาพที่น่าสนใจ เน้นคำคมหรือลูกเล่นเก๋ ๆ  และควรติดต่อสื่อไว้ล่วงหน้าสักหนึ่งสัปดาห์ 
•  โทรไปหาผู้สื่อข่าวก่อนวันปฏิบัติการจริงเพื่อให้ข้อมูล ภูมิหลัง สร้างกระแสข่าว 
•  ส่งแถลงการณ์ให้สื่อมวลชนล่วงหน้าหนึ่งวัน 
•  โทรหาบรรณาธิการโต๊ะข่าวก่อนวันปฏิบัติการหนึ่งวัน 
•  เตรียมแถลงการณ์หรือเอกสารสำหรับแจกสื่อ (รวมทั้งข้อมูลที่เป็นภูมิหลัง) สำหรับแจกในวันปฏิบัติการ 
•  กำหนดตัวบุคคลและฝึกอบรม/เตรียมตัวให้โฆษกที่จะเป็นคนพูดกับสื่อในวันปฏิบัติการ

การจัดตั้งทีมงาน

พัฒนาโครงสร้างการตัดสินใจ กำหนดตัวบุคคลหรือทำบัตรให้ทีมงานทั้งหมด แจกแจงบทบาทหรือพื้นที่ความรับผิดชอบ
•  ผู้นำทีม/การเดินขบวน 
•  ฝ่ายประสานงานกับตำรวจ 
•  การ์ด ผู้รักษาความสงบ สันติสักขีพยาน ฝ่ายความปลอดภัย ฝ่ายจราจร
•  ฝ่ายแจกใบปลิว
•  ฝ่ายประสานงานกับสื่อมวลชน 
•  โฆษก/ผู้ดำเนินรายการ/กระบวนกร 
•  ทีมงานติดตั้งอุปกรณ์/เครื่องมือ 
•  ทีมงานเก็บกวาดทำความสะอาด 
•  คนขับรถ 
•  ผู้นำการร้องเพลง/ตะโกนคำขวัญ 
•  การแจกจ่ายและรวบรวมอุปกรณ์การประท้วง 
•  การแจกจ่ายและรวบรวมเครื่องมือต่างๆ 
•  ฝ่ายต้อนรับผู้เข้าร่วมลงชื่อ 
•  ทีมประกันตัว ทนายความ

ระบบบัดดี้

บัดดี้คือกลุ่มคน 2 หรือ 3 คนที่เกาะกลุ่มและดูแลกันและกันตลอดช่วงปฏิบัติการ  การเป็นบัดดี้หมายถึงเราจะไม่ทอดทิ้งคนในกลุ่มและสร้างหลักประกันว่าไม่มีใครถูกหลงลืม
บัดดี้ต้อง
– รู้ว่าบัดดี้ของตนมีโรคประจำตัวอะไรเป็นพิเศษหรือไม่
– คอยตรวจสอบว่าบัดดี้ยังเกาะกลุ่มอยู่
– คอยดูแลใส่ใจทั้งในเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า การรักษาพยาบาล
– ออกจากที่ชุมนุมพร้อมบัดดี้หากเขาต้องการไป ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร
– คอยสังเกตดูอารมณ์ของบัดดี้และพยายามปลอบให้เขาสงบลงเมื่อจำเป็น
– บอกฝ่ายสนับสนุนทางกฎหมายหากบัดดี้ถูกจับ
– เรียกหาผู้สังเกตการณ์และแพทย์พยาบาลเมื่อบัดดี้ถูกทำร้ายบาดเจ็บ

กลุ่มเครือสหาย (Affinity Group)

กลุ่มเครือสหายคือกลุ่มเล็กๆ ที่เตรียมตัวและออกปฏิบัติการร่วมกัน  กลุ่มเครือสหายจัดตั้งเป็นแกนนำ มีการนำของตัวเอง สามารถปฏิบัติการเองหรือเป็นกลุ่มอิสระภายในกลุ่มประท้วงใหญ่  การทำงานเป็นกลุ่มเครือสหายจะช่วยให้เราปกป้องตัวเองได้ดีที่สุดในระหว่างปฏิบัติการ

บทบาทและหน้าที่อาจจัดแบ่งในระหว่างสมาชิก  สมาชิกคอยช่วยเหลือกันและกันในด้านอารมณ์และในกรณีถูกจับหรือบาดเจ็บ  ขนาดกำลังดีของกลุ่มคือ 6-12 คน และภายในกลุ่มควรแบ่งกลุ่มย่อยกลุ่มละ 3-4 คนที่เกาะกลุ่มกันในระบบบัดดี้

กลุ่มเครือสหายมีส่วนร่วมกันในด้านความคาดหวัง ความกลัว ประสบการณ์ ความเข้มแข็งและความอ่อนแอ  กลุ่มต้องตกลงเรื่องรูปแบบปฏิบัติการไว้ล่วงหน้า เช่น เต็มใจเสี่ยงต่อการถูกจับแค่ไหน  มีขีดจำกัดในการมีส่วนร่วมในการประท้วงมากน้อยแค่ไหน  จะใช้วิธีการไม่ใช้ความรุนแรงแค่ไหนหรือท้าทายฝ่ายตรงข้ามถึงระดับไหน ฯลฯ

กลุ่มเครือสหายต้องเกาะเกี่ยวกัน ทำงานกันเป็นทีม อาจตั้งชื่อกลุ่มสั้นๆ เรียกง่ายๆ ไว้ตะโกนหากันเวลาชุมนุมเมื่อพลัดหลงกัน

บทบาทต่างๆ ในปฏิบัติการ

มีบทบาทหน้าที่หลายอย่างที่ต้องทำระหว่างปฏิบัติการ  ลองนั่งประชุมในกลุ่มเครือสหายและจดรายการของบทบาทหน้าที่ทั้งหมดที่จำเป็นและตกลงกันว่าใครจะทำอะไร  เรื่องสำคัญคือทุกคนต้องมีความเข้าใจชัดเจนว่าบทบาทของตนมีอะไรบ้าง  แต่ละคนต้องยึดบทบาทของตนตลอดปฏิบัติการและไม่เฉไฉเดินหายไปหากาแฟกิน  บทบาทอาจเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปฏิบัติการและบางครั้งคนคนหนึ่งต้องทำหน้าที่หลายบทบาท

การสื่อสาร

เมื่อออกปฏิบัติการร่วมกัน เราต้องคำนึงถึงการสื่อสารให้ดี  จะติดต่อกันอย่างไร?  เมื่ออยู่ในที่ชุมนุมใหญ่ เราอาจมองไม่เห็นและไม่ได้ยินกันตลอดเวลา  ควรคิดเรื่องนี้และตกลงกันล่วงหน้า  เราอาจติดต่อกันทางโทรศัพท์ได้ก็จริง แต่ทำอย่างไรจึงจะมีหลักประกันว่าจะได้ยินเสียงโทรศัพท์ท่ามกลางเสียงอึกทึกของผู้ชุมนุม?  ถ้าไม่มีสัญญาณโทรศัพท์จะทำอย่างไร?  เราอาจคิดหาสัญญาณที่มองเห็นได้สำหรับเรียกรวมตัวและหารือกัน เช่น สัญญาณมือหรือธง  ควรตกลงจุดนัดพบกันไว้ล่วงหน้า  สถานที่ที่จะมารวมตัวกันถ้าเกิดพลัดหลงกันหรือเมื่อการชุมนุมเริ่มรุนแรงบานปลายเกินขีดที่เราจะรับได้  ซักซ้อมให้แน่ใจว่าทุกคนรู้ว่าจุดนัดพบอยู่ตรงไหนและมันต้องเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยตลอดทั้งวัน

การตัดสินใจด้วยฉันทามติระหว่างปฏิบัติการ

ปฏิบัติการเป็นสถานการณ์ที่เคลื่อนไหวเร็วและมักไม่เป็นไปตามแผน  กลุ่มเครือสหายจะต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป  การตัดสินใจด้วยฉันทามติจะช่วยสร้างหลักประกันว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง  ฉันทามติไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเห็นด้วย  แต่หมายความว่าทุกคนสนับสนุนการตัดสินใจนั้น  ก่อนปฏิบัติการเริ่มต้น ควรประชุมและตกลงกันว่าจะเตรียมการทำอะไรและมีขีดจำกัดแค่ไหน (เช่น ไม่พร้อมที่จะถูกจับ เป็นต้น)  เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ในความเป็นจริง เราจะได้มีแนวคิดว่ากลุ่มต้องการหรือไม่ต้องการทำอะไร  มันจะดีมากถ้าลองฝึกซ้อมปฏิบัติในกลุ่มสักครั้งสองครั้ง  สมมติสถานการณ์ที่เรามีเวลาตัดสินใจแค่ 2 นาที  เช่น “เรากำลังเดินขบวน  ตำรวจให้เวลาเราสองนาทีที่จะออกจากถนน ไม่อย่างนั้นจะจับให้หมด  เราจะตัดสินใจอย่างไร?”

การแสวงหาฉันทามติเร่งด่วน

  1. กำหนดตัวผู้อำนวยการประชุมไว้ล่วงหน้า!
  2. ผู้อำนวยการประชุมแจ้งสถานการณ์สั้นๆ ให้ทุกคนเข้าใจ: “เรามีเวลา 2 นาที จะถอนตัวหรือจะยอมถูกจับ”
  3. ผู้อำนวยการประชุมถามหาข้อเสนอ: “มีข้อเสนอไหม?” ในบางกรณีอาจมีเวลาถกเถียงกัน แต่ในหลายกรณี เราไม่มีเวลา ผู้อำนวยการประชุมต้องประเมินเวลาและปฏิบัติให้เหมาะสม….
  4. อาจมีคนเสนอว่า “ฉันเสนอให้เราคล้องแขนและนั่งลง”  ในบางกรณี เราอาจมีเวลาแก้ไขข้อเสนอฉันมิตร
  5. ผู้อำนวยการประชุมทวนย้ำข้อเสนอให้ชัดเจน แล้วหยั่งหาฉันทามติ: “โอเค มีข้อเสนอให้เรานั่งลงกลางถนนและคล้องแขนกัน มีใครขวางทางไหม?”  –  “ไม่มี”
    “มีใครหลีกทางไหม” – “มี ฉันขอถอนตัว ถ้าถูกจับ ฉันจะถูกไล่ออกจากงาน”

การขวางทาง

คือการขีดฆ่าข้อเสนอนั้นทิ้ง  มันเป็นการวีโต้อย่างสิ้นเชิง  ทุกคนมีสิทธิ์ขวางทาง ในการแสวงหาฉันทามติเร่งด่วน สมาชิกมักขวางทางด้วย 2 เหตุผล

  1. ข้อเสนอนั้นจะทำให้กลุ่มแตก หรือ
  2. กลุ่มไม่สามารถตัดสินใจ  ถ้าข้อเสนอถูกขวางทาง เราต้องหาข้อเสนอใหม่!  บางกลุ่มตั้งเงื่อนไขว่า ในการแสวงหาฉันทามติเร่งด่วน เราต้องมีข้อเสนอแย้งก่อนจึงจะขวางทางได้

การหลีกทาง

คือยินยอมให้กลุ่มทำตามข้อเสนอ แต่ผู้หลีกทางเลือกที่จะไม่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการ

การแก้ไขข้อเสนอฉันมิตร

คือการช่วยปรับปรุงข้อเสนอ มันไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ แต่ทำให้ข้อเสนอเดิมดีขึ้น

สรุปทบทวน

ใครจะเข้าร่วมการสรุปทบทวนหลังปฏิบัติการและจะจัดการสรุปทบทวนที่ไหน เมื่อไร?

ความปลอดภัยกลางถนน

  • สนใจทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว (รวมถึงผู้ประท้วงคนอื่นและตำรวจด้วย!) 
  • หายใจลึกๆ อย่าแตกตื่น ความแตกตื่น/ตื่นตูมลดทอนสติและความสามารถในการตัดสินใจอย่างถูกต้อง ความแตกตื่น/ตื่นตูมยังติดต่อไปถึงคนอื่นได้อย่างรวดเร็วด้วย 
  • มีบัดดี้ เฝ้าระวังให้กันและคอยติดตามว่าบัดดี้อยู่ไหน 
  • พกแผนที่ที่ดูง่าย  ให้ปากกาสีไฮไลท์จุดสำคัญไว้
  • สำรวจพื้นที่ไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะในช่วงวันและเวลาที่จะมีปฏิบัติการ สร้างความคุ้นเคยกับท้องถนน ตึกอาคาร ร้านอาหาร ฯลฯ กำหนด “สถานที่ปลอดภัย” เอาไว้ 
  • วางแผนว่าจะรวมกลุ่ม/รวมพลตรงไหนในกรณีที่พลัดแยกกัน (กำหนดสถานที่ไว้หนึ่งหรือสองแห่งล่วงหน้า อาคารสาธารณะ เช่น สถานีรถไฟ ป้ายรถเมล์ ร้านอาหาร เป็นทำเลรวมพลที่ดี) เทคนิคง่ายๆ สำหรับคู่บัดดี้คือย้อนกลับไปจุดที่เห็นกันครั้งสุดท้าย 
  • มีทางหนีทีไล่  รู้ว่าจะออกจากพื้นที่นั้นอย่างไร
  • คิดแผนสำรองล่วงหน้าไว้หลาย ๆ แผน เพื่อลดการตัดสินใจเรื่องสำคัญกลางถนน 
  • อย่าปฏิบัติบนพื้นฐานของข่าวลือ  จงคิดหาวิธีการสำรวจ/สอดแนม/ลาดตระเวนหรือระบบสื่อสารเพื่อพิสูจน์ข่าวที่ได้ยินมา 
  • เตรียมเสื้อผ้าไว้ผลัดเปลี่ยนในกรณีที่โดนแก๊สน้ำตาหรือต้องอำพรางตัว 
  • สังเกตความเคลื่อนไหวของฝูงชน  พิจารณาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ใครอยู่รอบตัวเรา เป็นพันธมิตรของเราหรือเปล่า รู้สึกเชื่อมโยงกันไหม? 
  • สังเกตความเคลื่อนไหวของตำรวจ  พวกเขากำลังทำอะไร พวกเขาจัดขบวนอย่างไร เอาหน้ากากันแก๊สออกมาใส่ไหม ใครเป็นผู้บังคับบัญชา?  พวกเขากำลังเหนื่อยหรือกำลังฮึกเหิม? 
  • ช่วงเวลาอันตราย: ตอนสิ้นสุดการประท้วงที่เราคิดว่าจบแล้ว 
  • อย่าลืมพกของกินที่ให้พลังงานแก่ร่างกายไว้บ้าง โดยเฉพาะน้ำดื่ม

ถ้าการเผชิญหน้ากันเกิดขึ้น:

ใจเย็น ตั้งสติและอย่ากลัว

  • จำไว้ว่าจุดประสงค์ของปฏิบัติการคืออะไร: หยุดยั้งการประชุม? สร้างเครือข่าย? เรียกร้องประเด็นใดประเด็นหนึ่ง? ทางเลือกที่เราต้องตัดสินใจขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่เรามา 
  • สื่อสารจุดประสงค์ให้กลุ่มรับรู้ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจของเรา 
  • การปฏิบัติการร่วมกันเป็นกลุ่มเครือสหายจะช่วยส่งเสริมและดูแลกันได้เมื่อคนในกลุ่มเกิดอาการเครียด
  • ต่อต้านอำนาจของความรุนแรงด้วยอำนาจของจินตนาการที่ก้าวหน้าสร้างสรรค์ 
  • จำไว้ว่าทุกการกระทำของเราคือทางเลือกทางหนึ่ง และเรามีทางเลือกหลายทางเสมอไม่ว่าในสถานการณ์แบบไหน 
  • พยายามอย่าลดทอนความเป็นมนุษย์ โดยเริ่มจากตัวเราเองต้องไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม เพราะเมื่อไรที่เราลดทอนความเป็นมนุษย์ เรากำลังตอกย้ำชุดความคิดและแบบแผนที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง 
  • อย่าขยายความขัดแย้ง ควรพูดจาอย่างใจเย็น เคลื่อนไหวช้าๆ ลดมือลงและแบมือ รับฟัง ปฏิบัติต่อผู้อื่นเยี่ยงเพื่อนมนุษย์ 
  • กระทำในสิ่งที่ผิดความคาดหมาย อย่าเต้นตามความรุนแรงและการข่มขู่ แต่จงเขียนย่างก้าวและจังหวะดนตรีของตนเอง 
  • ใช้ศิลปะ ดนตรี กลอง เมล็ดพืช หน้ากาก หุ่นเชิดและการเล่นกลเป็นเครื่องมือในการเผชิญหน้าเพื่อสื่อสารถึงวิสัยทัศน์และความหวังของเรา 
  • พยายามขยายความตระหนักของฝ่ายตรงข้ามว่าพวกเขาเองก็กำลังตัดสินใจอย่างมีทางเลือกเหมือนกัน พฤติกรรมของพวกเขาไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดมาล่วงหน้า  
  • ใช้อารมณ์ขันและความประหลาดใจให้เป็นประโยชน์ 
  • รู้ว่าอะไรจะซ้ำเติมความตึงเครียดในสถานการณ์หนึ่งๆ และอะไรที่อาจช่วยคลายความตึงเครียดได้ ตัดสินใจเลือกอย่างมีสำนึกถึงสิ่งที่จะทำต่อไป 
  • ปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ความสมานฉันท์และการสนับสนุนกลุ่มของเรา 
  • ถามตัวเองก่อนที่จะกระทำการสุดขั้วใดๆ 
    • ทำแบบนี้แล้วจะช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ของเราหรือไม่? 
    • ฐานเสียงที่สนับสนุนเราให้ออกมาปฏิบัติการนี้คือใคร? เราเสี่ยงต่อการสูญเสียฐานสนับสนุนกลุ่มไหนบ้าง? ทำไมการกระทำนี้จึงคุ้มค่าต่อการเสี่ยงที่จะสูญเสียฐานสนับสนุนนั้น? 
    • เราเห็นพ้องกับการกระทำนี้หรือเปล่า? ถ้าไม่ มันจะมีผลอย่างไรต่อความสมานฉันท์ในเครือข่ายของเรา? 
    • การกระทำนี้จะทำให้ใครตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุด? และพวกเขาเห็นพ้อง/เต็มใจที่จะยอมรับความเสี่ยงนี้หรือไม่? 
    • การกระทำนี้เป็นตัวแทนความหวังและวิสัยทัศน์ของเราหรือเปล่า 
    • เรารู้จักและไว้ใจบุคคลที่ยั่วยุให้เราลงมือกระทำการนั้นหรือไม่? 
    • การกระทำนี้เป็นภาพแทนของโลกที่เรากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มันมาหรือเปล่า?    

การปกป้องตัวเอง

ดูแลตัวเองให้ดี  กินอิ่ม นอนเพียงพอและดื่มน้ำมากๆ จะช่วยทำให้เรามีสติสมาธิและมีเรี่ยวแรงตลอดปฏิบัติการบนท้องถนน  ไม่ว่าแผนการของเราจะรัดกุมเพียงใด เราก็ไม่มีทางทำนายถูกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง  ตำรวจอาจมีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการประท้วงของเราเกินเลยไป ทั้งๆ ที่เราประท้วงอย่างสงบที่สุดแล้วก็ตาม ดังนั้น ยิ่งร่างกายเราเตรียมพร้อมมากเท่าไร  เราก็จะตอบสนองต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ดีขึ้นเท่านั้น 

ตำรวจมีอาวุธ “ไม่อันตรายถึงชีวิต” หลายอย่าง และพวกเขาแทบไม่เคยลังเลที่จะเอามาใช้  โดยปรกติแล้ว จุดประสงค์ของพวกเขาคือขับไล่พวกเรา  แต่เรารู้ว่าการยึดพื้นที่ทางการเมืองไว้ให้ได้เป็นสิ่งสำคัญ  ต่อไปนี้คือคำแนะนำสองสามประการที่นักกิจกรรมเรียนรู้มา:

กระบอง

ถ้าตำรวจยกกระบองขึ้น เราควรหันหลังให้และหวังว่าเป้หลังของเราที่ใส่ขวดน้ำและสัมภาระอย่างอื่นจะรับแรงฟาดไว้ได้ส่วนหนึ่ง  หรือถ้าไม่มีเป้หลังก็ต้องยกมือขึ้นมากันไว้  ป้ายผ้าและป้ายต่างๆ อาจช่วยรับแรงกระแทกได้บ้าง  

ถ้าตำรวจใช้กระบองยันแทง เป้ ป้ายอาจใช้แทนโล่  ถ้าใส่หมวกกันน็อกมาก็ช่วยได้เยอะ เราอาจต้องตัดสินใจหนีอย่างรวดเร็ว อย่าลืมยกแขนป้องกันศีรษะ โดยเฉพาะท้ายทอยและขมับ  ถ้าถูกทำร้ายล้มลง ต้องรีบขดตัวเหมือนทารกและพยายามปกป้องศีรษะ ท้องกับอวัยวะเพศไว้  การนอนตะแคงขวาจะช่วยปกป้องตับได้ด้วย

หลังจากตำรวจไปแล้ว รีบกดตรงบริเวณที่มีเลือดออกและขอความช่วยเหลือจากแพทย์/พยาบาล

กระสุน (ยาง พลาสติก ไม้ ถั่ว ฯลฯ)

ถ้าตำรวจเปิดฉากยิงกระสุนยาง ต้องหันหลังให้เพื่อปกป้องใบหน้า ลำคอและช่วงท้อง  อย่านั่งลงเด็ดขาด เพราะตำรวจมักยิงกระสุนยางลงต่ำเพื่อเล็งไปที่เท้าและขา  ตำรวจมักไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้ก็จริง แต่ถ้านั่งลงจะยิ่งมีโอกาสบาดเจ็บง่ายขึ้น  กระสุนยางจัดเป็นอาวุธไม่ถึงตาย  แต่ก็ทำให้บาดเจ็บสาหัสได้  หากถูกยิง ควรให้แพทย์/พยาบาลตรวจร่างกาย

สุนัข

ถ้าตำรวจใช้สุนัข ต้องเก็บมือแขนขาของเราให้ดี อย่ายื่นออกไปให้มันกัด อย่ามองที่สุนัข แต่สบตากับตำรวจที่จูงสุนัขแทน  พูดกับเขาด้วยน้ำเสียงชัดเจน บอกให้เขาดึงสุนัขไว้ ลดความยาวของสายจูง หรือเอาสุนัขกลับไปเก็บไว้ในรถ ฯลฯ

แก๊สน้ำตาและ
สเปรย์พริกไทย

การป้องกัน: อาบน้ำด้วยสบู่ที่ไม่มีน้ำหอม อย่าทาวาสลีน น้ำมัน ครีมกันแดดแบบออยล์เบสหรือครีมมอยเจอร์ไรเซอร์ใดๆ บนผิวหนัง เพราะแก๊สน้ำตาละลายในไขมัน น้ำมันจะจับกับสารเคมี ทำให้อาการแสบไหม้รุนแรงยิ่งขึ้น  ถ้าจะใช้ครีมกันแดด ยาทากันยุง ควรใช้แบบวอเตอร์เบส  แต่งกายด้วยเสื้อผ้ากันน้ำ  อย่าใส่คอนแท็คเลนส์

  • ผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่ชุบน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูเก็บไว้ในถุงที่มีซิปปิดเพื่อรักษาความชื้นไว้ เป็นสิ่งที่เอามาใช้ปิดปากจมูกได้เมื่อถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา  หรืออาจลองใช้หัวหอมหั่น  แต่มันช่วยได้ระยะสั้นๆ เท่านั้น
  • ถ้ามีแว่นตากันลมหรือแว่นตาว่ายน้ำก็ยิ่งดี  ถ้าปรกติใส่แว่นตา ลองหาแว่นตาประเภทนี้ที่สวมทับแว่นสายตาได้อีกที 
  • หรือไม่ก็หน้ากากของช่างทาสี หรือหน้ากากกันแก๊สพิษ 
  • ขวดน้ำดื่มแบบมีจุกที่ต้องบีบน้ำออกมาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการล้างตาเมื่อโดนแก๊สน้ำตา
  • นักกิจกรรมบางคนเห็นว่านมใช้ล้างตาได้ดีกว่าในกรณีที่โดนแก๊สน้ำตา  การประท้วงล่าสุดที่เมืองเฟอร์กูสัน ก็มีการใช้นมล้างตาแทนน้ำ

การปฏิบัติตัวทั่วไปเมื่อโดนแก๊สน้ำตา
(ทั้งแบบ CS และ CN) และสเปรย์พริกไทย (OC)

  • ตั้งสติ  เราแข็งแกร่ง ความทรมานจะอยู่แค่ชั่วครู่ชั่วยามและไม่ทำให้คุณพ่ายแพ้หรอก 
  • อย่าแตะต้องใบหน้าหรือขยี้ตา เพราะสารเคมีที่ติดมืออาจปนเปื้อนเข้าตาอีก ออกไปหาอากาศบริสุทธิ์ ลืมตา กางแขน จำไว้ว่าต้องหายใจและหายใจช้า 
  • สั่งจมูกให้สารเคมีออกมา 
  • พกน้ำดื่มติดตัวเพื่อล้างตาและกลั้วคอ เอียงหน้าตอนล้างตาเพื่อให้น้ำไหลออกจากใบหน้า อย่าให้น้ำไหลเข้าจมูก 
  • ถ้าอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น เช่น จากการวิ่งหรือความตื่นตกใจ เป็นต้น อาการระคายเคืองจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะรูขุมขนจะเปิดกว้างขึ้น ทำให้สารเคมีซึมเข้าไปมากขึ้น 
  • หันหน้าหากระแสลม ลืมตา กางแขนออกและเดินไปเดินมาเพื่อให้อากาศบริสุทธิ์พัดพาสารเคมีออกไป  สูดลมหายใจลึกๆ ช้าๆ 
  • ก่อนจะช่วยเหลือใคร ต้องขออนุญาตเขาก่อน! แล้วอธิบายให้เขาฟังว่าจะช่วยเขาอย่างไรก่อนลงมือช่วยเหลือ
  • พยายามให้น้ำที่ใช้ล้างตาล้างมือไหลลงพื้น อย่าให้เปื้อนถูกผิวหนัง เสื้อผ้าหรือเส้นผมMake 
  • เก็บผ้าที่เปื้อนสารเคมีในถุงและปิดปากถุงให้สนิท 
  • ถ้ามีเสื้อผ้าสะอาดชุดอื่น ควรเปลี่ยนเสื้อผ้า 

หลังจากนั้น:

  • พึงระวังว่าการเข้าไปในห้องพร้อมเสื้อผ้าและร่างกายที่ปนเปื้อนสารเคมีจะทำให้ห้องพักปนเปื้อนไปด้วย
  • ถ้าทำได้ ควรเตรียมถุงพลาสติกไว้หน้าประตูหรือชิดประตูด้านในเพื่อใส่เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนลงไปก่อน
  • ล้างตัวด้วยน้ำเย็น เพื่อให้รูขุมขนหดตัวปิดลง ป้องกันไม่ให้สารเคมีแทรกซึมลงไปในผิวหนัง 
  • เปลี่ยนเสื้อผ้าสะอาด 

ข้อควรระวัง:

  • การใส่คอนแท็คเลนส์มีอันตราย เพราะมันจะดักสารเคมีไว้ข้างใต้และแสบไหม้ลูกตา!  ดังนั้น ควรใส่แว่นตั้งแต่แรก  ถ้าบังเอิญใส่คอนแท็คเลนส์ ต้องเอาคอนแท็คเลนส์ออกทันทีเมื่อโดนแก๊สน้ำตาหรือสเปรย์พริกไทย มิฉะนั้น นัยน์ตาอาจอักเสบขั้นร้ายแรง  ถ้าต้องใส่คอนแท็คเลนส์ ควรใส่แบบใช้แล้วทิ้ง แต่ควรพกแว่นตาและนำคอนแท็คเลนส์สำรองติดตัว  คอนแท็คเลนส์ที่ปนเปื้อนสารเคมีแล้ว ไม่ควรนำกลับมาใช้อีก  
  • โรคหอบหืดสามารถกำเริบอย่างร้ายแรงได้เมื่อโดนแก๊สน้ำตา อันตรายอาจถึงชีวิต  พยายามอยู่ห่างจากแก๊สน้ำตาหรือสเปรย์พริกไทยและอย่าลืมพกยาพ่นติดตัว 
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์/มารดาที่กำลังให้นมบุตร ไม่ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีพิษ  ถ้าทำได้ ควรออกไปให้พ้นจากบริเวณที่จะมีการยิงแก๊สน้ำตาหรือสเปรย์พริกไทย 

คำเตือนทางการแพทย์

  • พกน้ำกับอาหารติดตัวเสมอ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้เกิดอาการขาดน้ำ ควรบรรจุน้ำในขวดแบบฝาบีบเพราะใช้ล้างตาได้ กินอาหารบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการสับสนและเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น 
  • อย่าลืมบอกเพื่อนว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง (เช่น หอบหืด เบาหวาน ตั้งครรภ์ โรคหัวใจ ฯลฯ)  พกยาประจำตัว เช่น อินซูลิน ยาพ่น ฯลฯ ถึงแม้ไม่มีปัญหาสุขภาพนั้นๆ มานานแล้วก็ตาม  ใส่สายรัดข้อมือที่ระบุโรคประจำตัวก็จะช่วยให้แพทย์ทำการรักษาพยาบาลในเวลาฉุกเฉินได้ง่ายขึ้น
  • เตรียมชุดปฐมพยาบาลและซักซ้อมให้มั่นใจว่ามีใครสักคนที่ปฐมพยาบาลเป็นอยู่ในกลุ่ม

หลังปฏิบัติการ

ปฏิบัติการมักเต็มไปด้วยความเข้มข้น บางครั้งน่ากลัว บางครั้งน่ารื่นรมย์  เมื่อมันเสร็จสิ้นลง เราต้องรักษาความเชื่อมโยงกับเพื่อนใหม่ๆ ที่ได้รู้จัก เราอาจต้องพบปะสนทนากับคนอื่นที่ผ่านประสบการณ์เดียวกัน เพื่อฉลอง โกรธแค้น หัวเราะและโศกเศร้าร่วมกัน  วางแผนให้แน่นอนว่ากลุ่มเครือสหายของเราต้องมีเวลามาสรุปทบทวนร่วมกัน และมีงานเลี้ยงหลังปฏิบัติการหากทุกคนกลับบ้านกันอย่างปลอดภัย

ออกจากคุกอย่างเข้มแข็งกว่าเดิม

คุกเป็นประสบการณ์ที่มีอิทธิพลมาก  มันเผยให้เห็นด้านมืดของโครงสร้างอำนาจ และทำให้ผู้เข้าร่วมปฏิบัติการที่มาจากครอบครัวฐานะดีมีโอกาสเผชิญประสบการณ์ที่คนจนและคนกลุ่มน้อยต้องประสบอยู่ทุกวี่วัน  คุกทำให้รู้สึกแย่และหดหู่ได้มาก หรืออาจทำให้เข้มแข็งขึ้นได้เช่นกัน มันสร้างอารมณ์ขึ้นลงได้เหมือนรถไฟเหาะและสร้างความผูกพันได้อย่างลึกซึ้ง  มีความรู้สึกบางอย่างที่คาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นในคุกและหลังออกจากคุก

ความโกรธแค้น

คุกคือสิ่งที่กลั่นมาจากความรุนแรงที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา  ความโกรธคือปฏิกิริยาที่สมเหตุผล แต่เราอาจไประบายใส่เพื่อนและครอบครัวแทนที่จะพุ่งความโกรธไปที่ระบบการกดขี่ที่เรากำลังต่อสู้  หลังออกจากคุก จงเตือนเพื่อนๆและคนในครอบครัวให้ปฏิบัติต่อเราอย่างนุ่มนวลกว่าปกติและอย่างสั่งให้เราทำอะไรสักพัก  จงเตรียมตัวรับอารมณ์โกรธเกรี้ยวที่พลุ่งขึ้นมาเป็นพักๆ และพยายามระลึกว่าใครหรืออะไรกันแน่ที่ทำให้เราโกรธจริงๆ

โทษตัวเอง

เราอยู่ในระบบที่ออกแบบมาทุกระดับเพื่อทำให้เรารู้สึกแย่ ผิด บกพร่องและไร้อำนาจ  คนที่สร้างระบบนี้คือผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติการจิตวิทยาและการคุกคาม  คนเหล่านั้นใช้เวลาตลอดชีวิตพัฒนาเทคนิคต่างๆ ในขณะที่เรามีเวลาอย่างมากแค่ไม่กี่ชั่วโมงในการเตรียมตัวที่จะขัดขืนพวกเขา

เมื่ออยู่ในคุก เราจะต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจด้วยข้อมูลไม่เพียงพอภายใต้สภาวะหวาดกลัวและสิ้นเรี่ยวแรงตลอดเวลา  เราอาจตัดสินใจผิดพลาด เราอาจจบลงที่การก้มหน้าสยบยอม แม้ว่าในภายหลังเรากลับปรารถนาให้ตอนนั้นเราขัดขืน หรือเราอาจไม่ได้ทำในสิ่งที่เราควรทำ  เราอาจตัดสินใจที่ทำให้เสียใจทีหลัง  

พยายามอย่าโทษตัวเอง  กลไกของระบบทำให้เราจดจ่อกับสิ่งที่เราทำหรือไม่ทำในฐานะปัจเจกบุคคลจนบดบังสายตาเราจากความรุนแรงของตัวระบบ  การโทษตัวเองคือการที่เรารับเอาความรุนแรงของระบบเข้ามาไว้ในตัวเรา โบยตีตัวเราเองแทนที่จะปล่อยให้ทหารหรือตำรวจทำหน้าที่สกปรกนี้  แล้วมันมักบานปลายกลายเป็นการโทษกันไปโทษกันมาในหมู่เพื่อนฝูงได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นอำนาจที่แบ่งแยกเราและตัดขาดเราจากพลังสนับสนุนที่เราพึงมี

ความยากลำบากในการกลับสู่ชีวิตปรกติ

เป็นเรื่องยากที่จะกลับมาใช้ชีวิตปรกติหลังจากประสบการณ์เข้มข้นระหว่างปฏิบัติการ  มันยากที่จะกลับบ้านไปอยู่เหงา ๆ หลังจากความรู้สึกอันแน่นแฟ้นที่มีต่อเพื่อนนักกิจกรรมในระหว่างปฏิบัติการและในคุก  มันยากที่จะกลับไปเรียนหนังสือ ทำงานหรือกลับเข้าสู่สถาบันใดๆ ที่มีกฎระเบียบคล้ายคุก  จู่ๆ โลกรอบตัวก็ดูคล้ายคุกจำแลง มีแต่ระบบของการลงโทษและควบคุม

เราอาจรู้สึกเหนื่อยล้า ซึมเศร้า ไม่เพลิดเพลินกับสิ่งต่างๆ ที่เคยชอบ รู้สึกถึงความทุกข์ทนของผู้ถูกกดขี่  อาหารไร้รสชาติ การทำงานหรือเรียนหนังสือไร้ความหมาย  เราอาจสูญเสีย สับสนและดำเนินชีวิตตามปรกติไม่ได้

นี่เป็นอาการปรกติที่มนุษย์มีต่อความสูญเสีย ความโศกเศร้าและความเครียด มันไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอหรือบกพร่อง  ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับสองสามประการที่อาจช่วยเราได้

พูดถึงมัน

โดยเฉพาะกับกลุ่มเครือสหายที่ออกไปปฏิบัติการด้วยกัน หรือกับใครที่เคยผ่านประสบการณ์คล้ายๆ กันมาก่อน  ถ้าเป็นไปไม่ได้ ลองหาเพื่อนสักคนที่เต็มใจรับฟังหรือที่ปรึกษา  เราต้องเล่าเรื่องราวของเราออกมา บางครั้งอาจต้องเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก

พักผ่อน

เราทุ่มเทพลังงานไปมหาศาล นอนหลับพักผ่อน หรือออกไปหาสภาพแวดล้อมรื่นรมย์ที่มีต้นไม้ใบเขียว นอนบนพื้นหญ้า ฟื้นคืนพลังงาน

ชำระล้าง

ทำอะไรบางอย่างในเชิงกายภาพและเชิงสัญลักษณ์เพื่อกำจัดพลังงานมืดของคุก อาบน้ำขัดผิว ว่ายน้ำในทะเลหรือลำธาร ซักเสื้อผ้า ฯลฯ ทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความตั้งใจอย่างมีสำนึกว่าเราจะชำระล้างพลังงานมืดของคุกออกไปและผุดออกมาเป็นคนใหม่

ชุบชูใจ

ถ้าเป็นคนที่มีความเชื่อในเรื่องศาสนา/จิตวิญญาณ นี่คือเวลาของพิธีกรรม  แต่ถ้าไม่มีศรัทธาทางศาสนา ลองหาเวลาทำสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจและชุบชูใจเรา เช่น เที่ยวป่า ดนตรีหรือไปหาเพื่อน

เรียนรู้

เราเพิ่งได้รับประสบการณ์ล้ำค่า ตอนนี้เราเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการทำงานของระบบที่เรากำลังต่อสู้  เราได้ลิ้มรสชาติเล็กๆ น้อย ๆ ของความรุนแรงและการกดขี่ที่คนจนและชนกลุ่มน้อยต้องเผชิญทุกวัน คนที่ต้องลงเอยในคุกโดยไม่มีฝ่ายกฎหมายและฝ่ายสื่อสารมวลชนคอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง  หลังจากนี้ เราจะไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป

เคารพตัวเอง

และเคารพพวกเราทุกคน สำหรับความกล้าหาญ เข้มแข็งและปวารณาตนที่พวกเราแสดงออกในปฏิบัติการ สำหรับขบวนการที่พวกเราร่วมกันสร้างขึ้น สำหรับการที่เรารับฟังซึ่งกันและกันและต่อสู้เพื่อก้าวข้ามความแตกต่างในหมู่พวกเราเอง พวกเราช่วยกันเปลี่ยนแปลงโลกแล้ว เราควรรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการนี้และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่กอปรด้วยผู้คนที่กล้าหาญ มุ่งมั่นและใส่ใจกัน

เดินหน้าต่อไป

ความโกรธแค้นเป็นพลังผลักดันได้  ความรักก็เช่นกัน  ประสบการณ์ในคุกอาจแสนสาหัส แต่มันก็สร้างความเข้มแข็งให้เราด้วย เราสามารถก้าวออกจากคุกและเข้มแข็งกว่าตอนที่เราก้าวเข้าไป  สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากปฏิบัติการนี้อาจผลักดันเราให้ก้าวไปสู่ขั้นตอนถัดไปพร้อมกับการสร้างขบวนการเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก

การดูแลกันและกันหลังปฏิบัติการ

การดูแลบาดแผลทางจิตใจ

ทุกคนที่เข้าร่วมปฏิบัติการต้องเผชิญกับอำนาจกดขี่ข่มเหงของรัฐ  การดูแลจิตใจที่บอบช้ำขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเราเองในระหว่างปฏิบัติการ การได้รับกำลังใจสนับสนุนจากคนอื่น ประวัติส่วนตัวของเรา รวมทั้งความหนักเบาของประสบการณ์ที่พบเผชิญ  เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจในภายหลังมักเกิดจากการถูกทำร้ายทางร่างกาย จิตใจและทางเพศ หรือเป็นประจักษ์พยานพบเห็นการทำร้ายผู้อื่น ตลอดจนความหวาดกลัวที่ยืดเยื้อหรือรุนแรง  ปัจจัยที่อาจทำให้เราเกิดปัญหาด้านจิตใจในภายหลังคือการมีประวัติเคยถูกทำร้าย การไม่ได้รับกำลังใจจากเพื่อนฝูงญาติมิตร การต้องแยกขาดจากผู้อื่นไม่ว่าในระหว่างหรือหลังปฏิบัติการ  เนื่องจากการทำร้ายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในวัฒนธรรมของเรา การเรียนรู้ที่จะเยียวยาและนำเอาประสบการณ์เลวร้ายนี้มาเป็นพลังในปฏิบัติการครั้งต่อไปจะช่วยให้เราดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น

ดังที่กล่าวแล้วว่า เหตุการณ์เลวร้ายส่งผลกระทบต่อแต่ละคนแตกต่างกันไป อาการที่เกิดขึ้นในแต่ละคนก็มีหลากหลายรูปแบบด้วย นี่คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เรามักมองข้ามหรือเข้าใจอาการที่เกิดขึ้นไปแบบผิดๆ  สำหรับผู้ที่มีบาดแผลทางจิตใจนั้น ยิ่งพวกเขาได้รับการวินิจฉัยอาการและเยียวยาเร็วเท่าไร  ก็จะช่วยฟื้นฟูจิตใจได้เร็วขึ้นเท่านั้น

สัญญาณเตือนที่ควรใส่ใจ

  • ฝันร้าย
  • ภาพอดีตย้อนกลับมาและเกิดภาพหลอน
  • นอนไม่หลับ
  • ไม่อยากเข้าสังคม เก็บตัว
  • ความรู้สึกว่าไม่มีอนาคต
  • ไม่มีสมาธิ
  • ระวังตัวหรือตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ
  • หวาดระแวง
  • ซึมเศร้า
  • ดื่มเหล้า สูบบุหรี่และใช้ยาเสพย์ติดมากกว่าเดิม
  • ขาดเรียนหรือขาดงานบ่อยๆ โดยไม่มีเหตุผล
  • รู้สึกอยากฆ่าตัวตายและไร้เรี่ยวแรงต่อสู้
  • รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง

หากใครก็ตามแสดงอาการที่เป็นสัญญาณเตือนข้างต้นออกมาหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นหลังปฏิบัติการแค่หนึ่งชั่วโมงหรือหลังจากนั้นหนึ่งเดือนก็ตาม เราต้องใส่ใจอย่างจริงจัง  บาดแผลทางจิตใจอาจสาหัสยิ่งกว่าเดิมหากถูกละเลยหรือถูกล้อเล่นทำนองว่า “ช่างมันเถอะ ลืมๆ มันไปซะที!”

ข้อปฏิบัติหลังเกิดเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลทางจิตใจ

  1. ถามผู้ได้รับผลกระทบว่าอยากไปหาสถานที่เงียบๆ เพื่อคุยกันเรื่องนี้หรือไม่  อย่าฉุดกระชากลากถูเขาออกไปถ้าเขายังต้องการดำเนินกิจกรรมต่อ  แต่การได้คุยกันทันทีหลังจากเกิดเหตุการณ์เป็นวิธีหนึ่งที่ดีที่สุดในการเยียวยาบาดแผลทางจิตใจให้ลดน้อยลง  เราไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ทุกเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้น  แค่รับฟังก็พอ
  2. ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบได้ติดต่อกับกลุ่มเครือสหายของเขาอีกครั้งและตามหาคนที่เขาเป็นห่วง  การเยียวยาจิตใจจากบาดแผลส่วนหนึ่งคือการค้นพบหนทางอันปลอดภัยที่จะกลับไปเชื่อมโยงกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกตัดขาดออกไป เช่น ความไว้ใจ ความศรัทธา ฯลฯ  สิ่งนี้ทำไม่ได้ด้วยการเพิกเฉยละเลยหรือเห็นว่ามันไม่สำคัญ
  3. ให้ความสำคัญกับเรื่องละอันพันละน้อยที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบฟื้นฟูความรู้สึกถึงศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์อีกครั้ง….การหาสถานที่ให้เขาได้อาบน้ำล้างหน้าล้างตา การพาเขาไปอยู่ในสถานที่ที่เขียวชอุ่มสดชื่น ได้รู้สึกถึงใบไม้ใบหญ้าใต้ฝ่าเท้า ฯลฯ  จงถามเจ้าตัวว่าอะไรอย่างไหนที่ช่วยเขาได้ (เพราะเรื่องนี้แตกต่างกันไปตามบุคคลและสภาพแวดล้อม)
  4. คงไม่ต้องบอกว่าการตั้งใจรับฟังอย่างลึกซึ้งมีความสำคัญแค่ไหน  มันสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเกิดความมั่นใจอีกครั้งว่าสิ่งที่เขารู้สึกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน ปฏิกิริยาของความทุกข์ใจนั้นเป็นปฏิกิริยาปรกติธรรมดาที่ย่อมเกิดขึ้นในเหตุการณ์เช่นนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครควรต้องพบเจอ  มันไม่ใช่อาการของคนใกล้บ้าหรือคนอ่อนแอที่ไม่สามารถ “ยืนหยัดต่อสู้”  จงระวังคำพูดประเภท “อย่าขี้แย” อย่าลืมว่าคำพูดแบบนี้มาจากสำนึกแบบปิตาธิปไตยในวัฒนธรรมแบบทหารที่ฝังรากอยู่ในสังคม

ในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจ เราควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • กินอาหารดีๆ มีประโยชน์
  • ออกกำลังกาย เพราะเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจมักทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีที่ควรปลดเปลื้องทิ้งไปด้วยการออกกำลังกาย
  • ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบกลับมาใช้ชีวิตตามปรกติ อย่างน้อยก็ได้ทำกิจวัตรที่เขาทำเป็นประจำก่อนถูกทำร้ายจิตใจ
  • คอยรับฟังเสมอ
  • เราอาจชักชวนให้เขาใช้เวลากับกลุ่มเยียวยาจิตใจกลุ่มเล็กๆ หรืออยู่ตามลำพังหากเขาต้องการเช่นนั้น
  • ผู้ได้รับผลกระทบอาจไม่เป็นตัวของตัวเองหรือมีอารมณ์แปรปรวน  เราควรอดทนและอย่าพยายามบังคับให้เขากลับไปเป็นคนเดิมโดยเร็ว
  • ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ทำร้ายจิตใจอย่างร้ายแรง เราอาจก่อตั้งกลุ่มองค์กรอย่างเป็นทางการเพื่อช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในช่วงเวลาระหว่าง 24-72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุการณ์  การซักถามผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นทางการควรกระทำโดยคนที่มีประสบการณ์ด้านนี้และควรรวบรวมผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เดียวกันให้มาสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ความเชื่อฟังเป็นภัยยิ่งกว่าความไม่เชื่อฟัง

ฮันนา อาเรนดท์

เคล็ดลับแฟชั่นนักปฏิบัติการ

ใส่เสื้อผ้าบางๆหลายๆชั้นกางเกงขายาวและเสื้อผ้ากันน้ำ ควรใส่เสื้อผ้ามากชิ้นกว่าความจำเป็น พอร้อนค่อยถอดออก  ผลัดเสื้อผ้าชั้นนอกออกเมื่อโดนแก๊สน้ำตา  เสื้อแขนยาวบางๆ ช่วยป้องกันผิวไม่ให้โดนแดดเผาจนเกรียม

หมวกหรือเสื้อฮู้ดและแว่นกันแดด– ไม่ได้มีประโยชน์แค่กันแดด แต่ช่วยบังใบหน้าจากสายตาสอดส่องของตำรวจด้วย

อย่าใส่เครื่องประดับมัดผมและตัดเล็บ– เหล่านี้ช่วยหลีกเลี่ยงการเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น ผมยาวรุงรังอาจเกี่ยวพันกับอย่างอื่นและกลายเป็นเครื่องมือให้ตำรวจจิกหัวเรา

รองเท้าบู๊ทหนา– ช่วยปกป้องเท้าเราไว้ (แม้ในวันอากาศร้อนก็ตาม!)

นาฬิกา– ตั้งเวลาให้ตรงกับเพื่อนร่วมปฏิบัติการ

กระเป๋ามีซิปกับเป้– ไว้เก็บข้าวของจำเป็น

เสบียง– เตรียมอาหารกับน้ำเยอะๆ  กระดาษจดสิทธิตามกฎหมายเมื่อถูกจับกุมและเบอร์โทรศัพท์ของทนายความ ผ้าอนามัย กระดาษทิชชู่ ยาทากันยุง

สิ่งที่ไม่ควรนำติดตัว 

  • สิ่งที่ใช้เป็นอาวุธได้ (อะไรก็ตามที่ปลายแหลมหรือหนัก เช่น มีดโกน ไขควง)
  • ยาเสพติด
  • เหล้า (มันทำให้ขาดสติ)
  • บัตรเครดิต
  • บัตรประชาชน (นอกจากมาจากต่างประเทศหรือขับรถ)
  • โทรศัพท์พร้อมซิมและรายชื่อเพื่อนฝูง แฟน ญาติ ควรเปลี่ยนซิมการ์ดใหม่

Icons made by Freepik from www.flaticon.com