มักมีคำถามอยู่เสมอว่าจะถอดบทเรียนไปทำไม บ้างมองว่าทวนความหลังกันอยู่นั่นละไม่ไปข้างหน้าเสียที บ้างก็ว่าทำพอเป็นพิธีไม่ได้เอาไปใช้หรอก หรือบางคนอาจเคยผ่านวงถอดบทเรียนที่เอาแต่กล่าวโทษกันถึงขั้นเสียน้ำตาหรือแลกหมัดกันมาแล้ว บ่อยครั้งกระบวนการถอดบทเรียนจึงกลายเป็นฝันร้ายของใครหลายคน
กระบวนการถอดบทเรียนริเริ่มมาจากภาคธุรกิจ กว่าจะพัฒนาไอเดียหรือผลิตภัณฑ์ขึ้นมาสักชิ้นต้องผ่านการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าลองผิดลองถูก สรุปผลแล้วทดลองใหม่จนตอบโจทย์ที่ต้องการ
องค์กรธุรกิจมีการถอดบทเรียนเป็นประจำโดยเฉพาะธุรกิจเฟรนไชส์ ถอดบทเรียนดึงความรู้ออกมาเป็นคู่มือปฏิบัติงานให้แก่ผู้ประกอบการ และมีการถอดความรู้อยู่เสมอเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
หันมามองหน่วยงานรัฐก็จะพบว่ามีการถอดบทเรียนกันอยู่เสมอโดยเฉพาะองค์กรทหาร/ตำรวจที่ทำหน้าที่ควบคุมฝูงชน ถ้าลองสังเกตดูช่วงขาขึ้นของกระแสการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปี 63 แรกๆ เจ้าหน้าที่รับมือไม่ทัน แต่หลังจากถอดบทเรียนแล้วก็โต้กลับรุกฆาตอย่างหนักจนขบวนแตกพ่ายในที่สุด
ขบวนการต่อสู้เคลื่อนไหวของประชาชนทั่วโลกมีการถอดบทเรียนมาตลอด ยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยสันติวิธีร้อยแปดวิธีก็มาจากบทเรียนการเคลื่อนไหวของผู้ถูกกดขี่ แต่เมื่อยุคสมัยและบริบทสถานการณ์เปลี่ยนไปเราจึงจำเป็นต้องถอดบทเรียนดึงความรู้กันออกมาใหม่
สำหรับคนที่คิดว่าถอดบทเรียนเป็นฝันร้ายหรือเสียเวลาไม่ได้อะไร ลองทำตามขั้นตอนนี้ดูสิ อาจใช้เวลานานหรือเร็วขึ้นกว่าที่เคยทำมา อย่างน้อยก็อาจทำให้การถอดบทเรียนครั้งต่อไปเข้าที่เข้าทางมากขึ้นก็ได้
9 ขั้นตอนถอดบทเรียนเพื่อพัฒนากลุ่มและวางแผนงาน
- แบ่งปันความรู้สึก เป็นการเช็กอินให้สมาชิกกลุ่มได้พูดความรู้สึกของตนเองหลังทำกิจกรรมหรือออกไปปฏิบัติการก่อนเป็นลำดับแรก
- ทบทวนเป้าหมายว่ากลุ่มเราต้องการไปถึงไหน กิจกรรมหรือปฏิบัติการครั้งนี้ของเราตั้งเป้าไว้ว่าอย่างไร
- ย้อนดูไทม์ไลน์ ลำดับเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อะไรที่เราคิดว่าสำเร็จ อะไรที่ทำได้ดี มีปัจจัยหรือเงื่อนไขอะไรที่ทำให้สำเร็จ
- อะไรที่เราคิดว่ายังไม่เสร็จและจะทำต่อ อะไรที่ยังทำไม่สำเร็จและล้มเลิก ควรปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้น
- หาแบบแผน รูปแบบที่ทำซ้ำๆ
- ยกระดับไปเป็นแนวคิด แนวคิดแบ่งเป็น 2 ส่วน
1) การทำแบบนี้มีคุณค่าความหมายอะไร คุณค่าความหมายของสิ่งที่ทำคืออะไร?
2) กิจกรรมนี้ไปเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ระดับกว้างขึ้นอย่างไร? - Do & don’t เรื่องไหนต้องทำ เรื่องไหนไม่ควรเสียเวลาทำ (ข้อควรระวัง)
- สิ่งที่อยากบอกเพื่อนร่วมงานหรือตัวเอง มีอะไรอยากบอกเพื่อนหรือตัวเราในครั้งหน้าอยากทำอะไรให้ดีขึ้น เป็นการเช็กเอาต์ก่อนเลิกวง
ขั้นตอนเหล่านี้เป็นขั้นตอนกว้างๆ ของกระบวนการถอดบทเรียน แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการถอดบทเรียนมี 3 รูปแบบ
รูปแบบการถอดบทเรียน
- AAR คือการสรุปงานหลังปฏิบัติการหรือทำกิจกรรม เช่น สรุปงานหลังทำค่าย สรุปงานหลังไปม็อบ หรือสรุปงานหลังอบรมปฏิบัติการ เป็นต้น
- ถอดบทเรียน เห็นรูปแบบมากขึ้น แต่จะเป็นแค่บทเรียนเรื่องนั้นๆ หรืออารมณ์ความรู้สึกช่วงนั้น (บทเรียนเป็นแค่ช่วงชีวิตหนึ่งของกิจกรรมยังไม่ใช่ความรู้)
- ถอดความรู้ ถอดความรู้ที่ติดอยู่กับตัวคนออกมาเป็น “องค์ความรู้” (body knowledge) ความรู้คือพิสูจน์ได้ ทำซ้ำได้และคนอื่นสามารถนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ต่อยอดได้
การถอดความรู้มี 3 steps
- หลักการ ทฤษฎี ความเชื่อ มีไว้เพื่อนำทางเราว่าเราไม่หลุดหลักการ
- How to วิธีคิด ขั้นตอนการทำ เป็นรูปธรรมให้คนทำตามได้
- Do & don’t อะไรควรทำ/ไม่ควรทำ ข้อควรระวัง ทริกเล็กๆ น้อยๆ
ตัวอย่างเช่น ฮาวทูเจียวไข่ ขั้นตอนเริ่มจากตั้งกระทะ ตอกไข่ใส่ถ้วย ตีไข่ น้ำมันร้อนขนาดไหนถึงจะฟู ฯลฯ ทริก เช่น การเลือกไข่ไข่เก่า ไข่ใหม่ ไข่เป็ด ฯลฯ เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้ไข่เจียวสมบูรณ์ขึ้น อย่างไรก็ตามปรากฏว่าไข่เจียวเกรียมไม่เกรียมคนชอบไม่เหมือนกัน หนาไม่หนา ฟูไม่ฟู จะถูกตัดสินด้วยความชอบของคนกิน สุขภาพของคนกิน ถูกตัดสินด้วยรสชาติสไตล์ใคร วิธีนี้ที่เราทอดใช้น้ำมันเท่านี้เพราะคนไทยชอบเกรียม วิธีการขั้นตอนแต่ละขั้นเพราะเรามีวิธีคิดความเชื่อบางอย่างเราจึงทำเช่นนี้
ฮาวทูค่าย จะไปทำค่ายก็ต้องลงไปคุยกับพื้นที่ก่อน สำรวจความต้องการของชาวบ้าน ที่เราทำขั้นตอนนี้ก็เพราะเราเชื่อในหลักการมีส่วนร่วม ไม่ใช่หน่วยราชการที่ลงไปสั่งการ เครื่องมือเช่นค่ายในแบบของเราถูกออกแบบมาเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยในกลุ่มเป็นต้น
ถ้าสมาชิกกลุ่มรู้สึกเหนื่อยล้าเบิร์นเอ๊าต์ ลองถอดบทเรียน
ถ้ากลุ่มกำลังจะแตก สมาชิกไม่ลงรอยกัน ลองถอดบทเรียน
ถ้ากลุ่มอยู่ในภาวะสิ้นหวังหาทางไปไม่เจอ ลองถอดบทเรียน
ถอดบทเรียนให้เป็นกิจวัตร ถอดบทเรียนจนเป็นเนื้อเป็นตัว เมื่อนั้นบทเรียนและความรู้ทั้งหลายจะกลายเป็นสมบัติส่วนรวมที่ผู้คนเอาไปต่อยอดพัฒนาให้เจ๋งกว่าที่เคยทำมา
Act Lab
Activist Laboratory Thailand
ห้องทดลองนักกิจกรรม
พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม