เราได้รู้ความหมายของช่างเชื่อมแล้วว่าคือคนที่เชื่อมโยงคนและกลุ่มมาทำงานร่วมกันเพื่อขยายพื้นที่และผลการทำงานให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งบทบาทที่สำคัญของช่างเชื่อมก็คือสร้างวงจรการทำงานเครือข่ายขึ้นมา และหมุนวงจรนี้ให้ครบรอบด้วยความรู้ เครื่องมือและทักษะต่างๆ
วงจรการทำงานเครือข่ายมี 6 ขั้นตอน แต่ละขั้นต้องใช้ความรู้ เครื่องมือและทักษะเฉพาะดังนี้
ขั้นที่ 1. ประเมินสถานการณ์ กำหนดขอบเขตประเด็น
ช่างเชื่อมจะชักชวนคนมาร่วมกันประเมินสถานการณ์สังคม มองหาโอกาส อุปสรรค เพื่อกำหนดขอบเขตการทำงาน กำหนดเป้าหมายคร่าวๆ เพื่อเป็นตัวตั้งสำหรับใช้ในการชวนผู้คนมาร่วมกันทำงานเป็นเครือข่าย
เครื่องมือที่ใช้ในขั้นนี้คือ
- การวิเคราะห์สถานการณ์
- การยกระดับจากกรณีสู่ประเด็น
ขั้นที่ 2. ประสาน เชื่อมโยงผู้คนและกลุ่ม
จากนั้นช่างเชื่อมก็จะวิเคราะห์ว่าจะชวนใครมาร่วมบ้าง โดยดูจากเป้าหมายและขอบเขตการทำงาน โดยใช้เครื่องมือแผนที่เครือข่ายเพื่อหาว่ามีใครบ้างที่ต้องประสาน และประสานโดยใช้จุดเชื่อมโยงต่างๆ
เครื่องมือที่ใช้ในขั้นนี้คือ
- การทำแผนที่เครือข่าย
- 6 จุดเชื่อมโยงเครือข่าย
- สายรุ้งพันธมิตร. (ดู https://actlab.protestista.com/rainbow-alliance/)
สี่บทบาทนักกิจกรรม. (ดู https://actlab.protestista.com/organize-hb-3/)
ขั้นที่ 3. ชวนกลุ่มต่างๆ มาร่วมกันหาเป้าหมาย จังหวะก้าว กิจกรรม
เมื่อได้คนที่จะร่วมกันทำงานแล้ว ก็จะมาร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ กำหนดเป้าหมาย วางจังหวะก้าว และออกแบบกิจกรรมร่วมกันอีกครั้ง โดยครั้งนี้จะเป็นการออกแบบวางแผนที่ตกลงร่วมกันและนำไปใช้จริง ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากการวางแผนคร่าว ๆ ในขั้นตอนที่ 1 ที่มีไว้เป็นตัวตั้งก็ได้
เครื่องมือที่ใช้ในขั้นนี้คือ
- การวางแผนแบบเน้นผลลัพธ์
- การสร้างจังหวะก้าว
ขั้นที่ 4. สนับสนุนกลุ่มต่างๆ ให้ขับเคลื่อนกิจกรรมตามเป้าหมายเครือข่ายได้อย่างราบรื่น
ช่างเชื่อมจะทำหน้าที่มองหาทรัพยากรจากในเครือข่ายและนอกเครือข่าย เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการทำงาน ทั้งคน เงิน อุปกรณ์ ความรู้
เครื่องมือที่ใช้ในขั้นนี้คือ
- ทักษะฟา (Facilitator) เพื่ออำนวยวงประชุมและอำนวยการทำงาน (ดู ฟาสามัญ https://peaceresourcecollaborative.org/publication/booklet/ฟาสามัญ-common-facilitator?fbclid=IwAR14y8MwXG35EmC9l4eF4axvcuNj3wz6XU16xxk9o5tLU0HH3p6T-qnNR-M)
- สร้างระบบสนับสนุนการทำงาน เช่น หาทรัพยากร ชวนประชุมเป็นระยะ เพื่ออัพเดตและทบทวนการทำงาน
ขั้นที่ 5. บริหารความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน
ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในการทำงานเครือข่าย ช่างเชื่อมจะคอยสังเกตและบริหารความขัดแย้งในเครือข่าย เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง
เครื่องมือที่ใช้ในขั้นนี้คือ
- การจัดการความขัดแย้ง 3 ระดับ (ดู https://actlab.protestista.com/organize-hb-3/)
- 6 จุดเชื่อมโยงเครือข่าย
ขั้นที่ 6. ประเมินผล สรุปบทเรียน ยกระดับการทำงาน
เมื่อภารกิจของเครือข่ายจบลงตามเป้าหมายหรือตามจังหวะแต่ละช่วง ช่างเชื่อมจะชวนให้เกิดการประเมินผล สรุปบทเรียน และยกระดับการทำงานต่อไป
เครื่องมือที่ใช้ในขั้นนี้คือ
- การถอดบทเรียนเครือข่าย
งานแต่ละช่วงในวงจรการทำงานเครือข่ายนี้ ช่างเชื่อมอาจไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด แต่สามารถประสานและเอื้ออำนวยให้สมาชิกเครือข่ายช่วยกันโดยอาศัยทรัพยากรและคนในเครือข่ายทำหน้าที่ที่ตนเองถนัด
Act Lab
Activist Laboratory Thailand
ห้องทดลองนักกิจกรรม
พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม