“ร้อยเกี่ยวกันไว้ดั่งใยแมงมุม”
6 จุดเชื่อมโยงเริ่มต้นงานเครือข่าย
ในการเชื่อมเครือข่ายเพื่อไปสู่ภารกิจร่วมกันสามารถเชื่อมโยงกันได้หลายจุดเชื่อม คนทำงานเชื่อมประสานเครือข่ายจำเป็นต้องค้นหาจุดเชื่อมโยงเริ่มต้นว่าเราสามารถเชื่อมคนอื่นๆ ได้ด้วยอะไรบ้าง
1. เชื่อมโยงด้วยความสัมพันธ์ การเชื่อมโยงแบบง่ายที่สุดคือการเชื่อมโยงจากเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มเพื่อน กลุ่มในห้องเรียน กลุ่มละแวกบ้าน กลุ่มพื้นที่ เครือข่ายภาค ฯลฯ การเชื่อมโยงแบบนี้จะมีความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจกันง่ายเพราะเคยรู้จักกันมาก่อน แต่อาจจะมีเป้าหมายหรือการวิเคราะห์ที่ต่างกันจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง
2. เชื่อมโยงกันด้วยดาวหรือวิสัยทัศน์ (Vision) หรือความฝันไกลๆ ที่มีร่วมกัน
การเชื่อมโยงกันด้วยดาวหรือเป้าหมายไกลๆ นี้จะมีลักษณะหลวมๆ เพราะเป้าหมายระยะไกลมีความเป็นไปได้ของการไปถึงได้หลายแบบ การเชื่อมโยงด้วยดาวจะช่วยให้เรายังรู้สึกเป็นกลุ่มเป็นเครือข่ายที่ใกล้เคียงกัน แต่อาจแตกต่างกันในแง่วิธีการ กิจกรรม กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่ทำงาน มากเสียจนไม่สามารถร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดได้
นอกจากวิสัยทัศน์แล้วยังรวมถึงการเชื่อมโยงด้วยอุดมการณ์ แนวคิด ทฤษฎี Core Value ร่วมกัน เช่น เชื่อในอุดมการณ์สังคมนิยม เชื่อในการมีส่วนร่วม เชื่อในทฤษฎีมาร์กซ์ เชื่อในอำนาจประชาชนเช่นเดียวกัน เป็นต้น
3. เชื่อมโยงด้วยพันธกิจ (Mission) การเชื่อมโยงกันด้วยพันธกิจหรือประเภทงานที่คล้ายกัน เช่น ทำงานจัดการศึกษาเหมือนกัน ทำงานข้อมูลเหมือนกัน ทำงานสายพัฒนาชนบทเหมือนกัน ทำงานกับคนรุ่นใหม่เหมือนกัน ทำงานจัดตั้งชุมชนเหมือนกัน ทำสื่อเหมือนกัน ทำงานด้านสิทธิเหมือนกัน เป็นต้น
4. เชื่อมโยงกันด้วยธงหรือเป้าหมายระยะสั้น (Goal)
การเชื่อมกันด้วยธงเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบมีเป้าหมายที่ต้องการบรรลุในระยะเวลาที่ชัดเจน เครือข่ายแบบนี้จะมุ่งที่ความสำเร็จของเป้าหมายเป็นหลัก ผ่านการประสานความร่วมมือด้านต่างๆ และจบลงเมื่อเป้าหมายนั้นสำเร็จหรือล้มเหลว เช่น ขับเคลื่อนในประเด็นเดียวกัน เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เครือข่ายต้านเหมืองแร่ เครือข่ายสุราพื้นบ้าน เครือข่ายค้านเขื่อน เป็นต้น
การเชื่อมโยงกันด้วยธงนี้สมาชิกเครือข่ายจะชัดเจนในการร่วมมือจนมีพลังสูงขึ้นมาก แต่อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการเริ่มต้นเครือข่ายเพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกัน
5. เชื่อมโยงกันด้วยการประเมินสถานการณ์ที่คล้ายกันเป็นการเชื่อมโยงกันด้วยการประเมินสถานการณ์ตรงกันว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น เห็นปัญหาที่ต้องแก้ เห็นพัฒนาการของปัญหาร่วมกัน เห็น Scenario คล้ายกัน เห็นคู่กรณีหรืออุปสรรคเดียวกัน เช่น เห็นจังหวะเวลาของการเมืองไทยในหนึ่งปีข้างหน้าว่าจะเกิดการเลือกตั้ง เกิดการตั้งรัฐบาลใหม่ เกิดการประชุมรัฐสภา แล้วเห็นร่วมกันว่าควรจะอาศัยโอกาสนี้ในการทำงานร่วมกันบางอย่าง อาจจะคนละดาวคนละธงกันแต่สถานการณ์บังคับให้ต้องร่วมมือกันในช่วงจังหวะเวลานี้ก็ได้
6. เชื่อมโยงกันด้วยภารกิจหรือกิจกรรม
การเชื่อมโยงด้วยภารกิจเป็นการเชื่อมโยงที่น่าจะสั้นที่สุด ต้องทำร่วมกันในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ เช่นการจัด Event ร่วมกัน การจัดกิจกรรมช่วงเทศกาล จัดนิทรรศการ จัดคอนเสิร์ตระดมทุน จัดชุมนุม รณรงค์ เครือข่ายอาสาจับตาเลือกตั้งเชื่อมกันด้วยภารกิจที่จะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสยุติธรรม เป็นต้น
ในฐานะช่างเชื่อมลองพิจารณาว่าเราจะเชื่อมกับกลุ่ม/องค์กรต่างๆ ด้วยจุดเชื่อมใดใน 6 จุดนี้ แค่เพียงจุดเชื่อมเดียวเราก็สามารถเชื่อมประสานได้แล้ว อย่างไรก็ตาม 6 จุดเชื่อมโยงนี้เป็นเพียงจุดเร่ิมต้นเท่านั้น จากจุดหนึ่งเชื่อมต่อไปจุดอื่นๆ ที่เหลือ กลายเป็นข่ายใยแมงมุมของเครือข่ายที่จะร้อยเกี่ยวกันไว้ด้วยประเด็น ภารกิจ ไปจนถึงเป้าหมายร่วมกัน
Act Lab
Activist Laboratory Thailand
ห้องทดลองนักกิจกรรม
พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม