ในการชุมนุมหลายปีที่ผ่านมา เราอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ไม่มีใครเป็นแกนนำ” “เรามากันเอง ไม่มีแกนนำ” หรือ “ทุกคนเป็นแกนนำ” “เรานำกันเอง”
ฟังเผินๆ เรามักเข้าใจว่ามันก็เหมือนกัน แต่ที่จริงสองประโยคนี้แตกต่างกันอย่างมาก
“ไม่มีใครเป็นแกนนำไม่เท่ากับเราทุกคนคือแกนนำ”
ถึงแม้ว่าทั้งสองประโยคพยายามพูดถึงสิ่งเดียวกัน ว่าเชื่อในการจัดการแบบแนวระนาบมากกว่าแบบแนวดิ่ง เชื่อในการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม และต่อต้านการมีลำดับชั้น
แต่คำว่า “ภาวะการนำ” (Leadership) กินความหมายกว้างมาก ไม่ได้เป็นเรื่องลำดับชั้น หัวหน้า-ลูกน้อง แกนนำ-มวลชน ไปเสียทั้งหมด
การนำ อาจหมายถึง “การริเริ่ม” ที่จะทำโครงการอะไรสักอย่าง หรือริเริ่มเข้าจัดการภาระงานบางชิ้น
หรือ “การตอบสนอง” เอาธุระต่อสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และก้าวออกมาทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าในฐานะปัจเจกบุคคลหรือรวมกลุ่ม
เราจะเห็น “การนำ” อย่างที่ว่าเต็มไปหมดในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม ที่มีคนเอาธุระกับเรื่องหลังบ้าน ไม่ว่าจะเก็บขยะ ให้ข้อมูล สนับสนุนด้านกฎหมาย ดูแลความปลอดภัย ฯลฯ หรือเมื่อว่างเว้นจากการชุมนุม ก็แลกเปลี่ยนความเห็น ระดมทุน ออกแถลงการณ์ เป็นต้น
ถ้าเรานิยามการนำ ไม่ใช่เพียงผู้นำ ผู้ปราศรัย คนสั่งการ คนมีชื่อเสียง เซเล็บ คนพูดเก่ง
เราจะเห็นแกนนำเต็มไปหมด
“จัดองค์กรแนวระนาบไม่เท่ากับ ไม่มีการจัดองค์กร”
“การจัดองค์กรหรือการจัดตั้งแนวระนาบ” กับ “ไร้การจัดตั้ง” สองสิ่งนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง
การจัดองค์กรแนวระนาบหรือ Horizontalidad ต่างจากองค์กรแบบปิรามิดหรือมีลำดับชั้นที่มีผู้นำชัดเจน มีสายบังคับบัญชาแนวดิ่งเป็นลำดับชั้นลดหลั่นกันไป
แต่การจัดองค์กรแนวระนาบจะกระจายอำนาจอย่างเท่าเทียม เน้นการมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยน มีการตัดสินใจผ่านกระบวนการแสวงหาฉันทามติ เชื่อมกันเป็นข่ายใย ไม่มีใครมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด
ทั้งการจัดองค์กรแนวระนาบกับแบบปิรามิดต่างก็มีเป้าหมายชัดเจน มีการตัดสินใจ มีผู้รับผิดชอบ และมีการรับผลที่เกิดขึ้น แต่แบบแนวระนาบจะร่วมกันคิดเป้าหมาย ร่วมกันตัดสินใจและร่วมกันรับผิดชอบ ขณะที่แบบปิรามิดผู้นำเป็นผู้ตัดสินใจและรับผิดชอบ
แต่ไร้การจัดตั้ง หมายถึงต่างคนต่างทำตามใจตนเอง ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเป้าหมายร่วม ไม่ต้องรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นไม่ว่าต่อกลุ่มหรือต่อใคร
คำว่า “เราทุกคนคือแกนนำ” จึงจำเป็นต้องมีการจัดตั้ง มีการจัดการองค์กร มิเช่นนั้นจะเกิดเป็นความวุ่นวายยุ่งเหยิงมากกว่าจะบรรลุผล และการจัดองค์กรแนวระนาบถือเป็นรูปแบบการจัดตั้งที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อเรื่องความเท่าเทียมและอำนาจร่วม
ในการจัดองค์กรแบบแนวระนาบจะต้องส่งเสริมรูปแบบ “การนำแบบกระจายตัว” ที่สนับสนุนความรับผิดชอบ ตรวจสอบได้ สร้างสรรค์ และมีประสิทธิผล
ปฏิเสธแกนนำ vs. มาเป็นแกนนำกันเถอะ
ถ้าเราอยู่ในกลุ่มที่ประกาศว่าไม่มีแกนนำ เราอาจลังเลที่จะก้าวขึ้นมาริเริ่มทำอะไรบางอย่าง เพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นแกนนำ
อีกมุมหนึ่ง เมื่อเราอยู่ในกลุ่มที่ประกาศว่าไม่มีแกนนำ กำลังละล้าละลังว่าจะทำอะไรดีแล้วมีใครสักคนทำอะไรบางอย่างที่บ้าบิ่นและเป็นอันตรายต่อเป้าหมายการเคลื่อนไหว เราก็เฮโลตามเขาไป พอเกิดปัญหาขึ้นกลายเป็นว่าไม่มีใครสามารถรับผิดชอบอะไรได้
การไร้การจัดตั้ง ไร้แกนนำ ในความหมายนี้ จึงเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา
“เราทุกคนคือแกนนำ” คือการที่ผู้คนลุกขึ้นมาริเริ่มทำบางอย่าง ยิ่งผู้ริเริ่มมาทำงานร่วมกันมากขึ้นเท่าไร พลังก็ยิ่งเพิ่มทวีขึ้นเท่านั้น
แกนนำ ไม่ใช่แค่คนที่ออกมาป่าวร้องให้คนอื่นทำนั่นทำนี่ ห้ามนั่นห้ามนี่ นัดคนไปที่นั่นที่นี่ ออกแบบหรือเสนอกิจกรรมชวนคนมาร่วมอย่างนั้นอย่างนี้ หรือกระทั่งวิ่งนำหน้าไปบวกกับใคร
แต่คือคนที่ตระหนักในการเป็นผู้นำของตนเอง ซึ่งหมายถึงการคำนึงถึงกลุ่มไม่ว่าจะเป็น
- รับผิดชอบต่อเป้าหมายร่วมกันของกลุ่ม
- ตระหนักถึงการกระทำของตนเองว่าส่งผลต่อกลุ่ม และ
- รับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
นั่นหมายความว่า ถ้ามีใครสักคนเสี่ยงจะกระทำในสิ่งที่ละเมิด 3 ข้อนี้ ทุกคนมีสิทธิที่จะลุกขึ้นมาปราม ขัดขวาง บล็อก หากมีมติร่วมกันแล้วว่าการกระทำนั้นละเมิดต่อเป้าหมายร่วมและไม่รับผิดชอบต่อผลลัพธ์ เพราะทุกคนคือแกนนำ
แกนนำต้องถูกตรวจสอบได้ ทุกคนต้องถูกตรวจสอบได้
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องคอยมีตำรวจศีลธรรมมาคอยกำกับสอดส่องว่าใครนอกลู่นอกทาง กลายเป็นเรื่องมาก ใครทำอะไรก็ถูกขวางไปเสียหมด
การนำและความรับผิดชอบ
วัฒนธรรมที่ให้คุณค่ากับการนำที่เข้มแข็งคือการตรวจสอบได้และรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตน
การไม่มีแกนนำ อาจหมายถึงการไม่มีผู้รับผิดชอบ หรือต่างคนต่างรับผิดชอบตนเองโดยไม่สนใจใคร
เราอาจจะส่งเสริมการมีส่วนร่วม หรืออาจจะสนับสนุนให้คนออกมาทำอะไร แต่หากปราศจากความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจหรือการกระทำของตนเองแล้ว ก็เป็นเพียงผู้คนที่มาอยู่ที่เดียวกัน
การไม่มีโครงสร้าง ไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีแกนนำ อาจเป็นเพียงกลุ่มคนที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไร เพียงมารวมตัวกันในวาระหนึ่งเท่านั้น
การบอกว่าตนเองไม่ใช่แกนนำอาจจะเป็นเพียงการปัดความรับผิดชอบ
เช่น การโหวตลงคะแนนเสียงโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อการโหวตนั้นๆ หรือการใช้ความรุนแรงโดยมิได้เกิดจากความยินยอมของกลุ่มและคนรอบข้าง ในขณะที่คนอื่นๆ อาจได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนั้นโดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน
แต่ถ้า “ทุกคนเป็นแกนนำ” วัฒนธรรมการเคลื่อนไหวจะเปลี่ยนไปเป็น “เราต่างรับผิดชอบกันและกัน”
การเน้นความรับผิดชอบนี้ต้องควบคู่ไปกับวัฒนธรรมกลุ่มที่ให้คุณค่ากับภาวะการนำ มิเช่นนั้นเราอาจพัฒนาทัศนคติแบบรบราฆ่าฟันกันเอง ซึ่งจะทำให้เราเสียพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์
เราต้องการการเคลื่อนไหวที่ต่างให้กำลังใจกันและกันอย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวเข้าสู่ศักยภาพอย่างเต็มที่ของเราและเปล่งประกายในฐานะแกนนำที่ทำงานร่วมกันเพื่อโลกที่ดีกว่า
ดังนั้น แทนที่จะปฏิเสธการนำ เราสามารถสร้างวัฒนธรรมที่เชื้อเชิญให้ทุกคนลุกขึ้นมานำได้
ลุกขึ้นมานำเพื่อให้คนอื่นได้ลุกขึ้นมาอีก
มาเป็นแกนนำกันเถอะ เราต่างก็เป็นแกนนำ การเคลื่อนไหวของเราไม่ใช่การไร้แกนน
จากเผด็จการของการไร้โครงสร้างสู่โครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตย
ขบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนของการปฏิเสธโครงสร้าง ปฏิเสธแกนนำมาแล้ว และพยายามปรับปรุงแก้ไขให้เกิดการจัดองค์กรแบบแนวราบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในบทความ “The Tyranny of Structurelessness” ของ Jo Freeman เสนอบทเรียนของขบวนการสิทธิสตรีในอเมริกาว่า หลักการสำคัญเพื่อจัดโครงสร้างให้เป็นประชาธิปไตยคือ
- ต้องมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ มีตัวแทนรับมอบอำนาจหน้าที่ เป็นงาน ๆ ไป
- ผู้มีอำนาจหน้าที่ ต้องรับผิดชอบต่องานและคนที่เลือก กลุ่มต้องสามารถควบคุมกำกับได้ มีกลไกตรวจสอบความถูกต้องได้
- กระจายบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้หลายๆ คน เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ และเปิดโอกาสให้คนเข้ามารับผิดชอบและเรียนรู้ทักษะต่างๆ
- การหมุนเวียนสับเปลี่ยนตำแหน่งและบทบาทภารกิจ เพื่อป้องกันการยึดติดตำแหน่ง และ เปิดโอกาสให้คนที่ทำหน้าที่เดิมๆ ได้เปลี่ยนบ้าง
- การจัดแบ่งงานและมอบหมายภารกิจตามหลักเกณฑ์ ไม่ใช่จากความชอบหรือไม่ชอบตัวบุคคล เน้นที่การฝึกฝนเรียนรู้เหมือนฝึกงาน มากกว่าจะโยนภาระให้ไขว่คว้าหาเอง
- มีการสื่อสารหลายทาง และกระจายข้อมูลอย่างทั่วถึงและทุกฝ่ายเข้าถึงได้ ข้อมูลคือพลังอำนาจ เมื่อทุกคนเข้าถึงข้อมูลจะทำให้สามารถแสดงความเห็นและตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
- การเข้าถึงและการแบ่งปันทรัพยากรของกลุ่มอย่างเท่าเทียม ทรัพยากรคืออำนาจ รวมทั้งข้อมูลและทักษะด้วย ถ้ามีใครผูกขาดก็อาจนำไปสู่การมีอิทธิพลอย่างไม่เหมาะสม
หลักการเหล่านี้จะช่วยให้เราร่วมกันควบคุมกลุ่ม และตอบสนองความต้องการของสมาชิกในกลุ่มได้ แกนนำจะกระจายออก ยืดหยุ่น เปิดเผย และมีอำนาจแค่ชั่วคราว
นี่เป็นเพียงบทเรียนของขบวนการเคลื่อนไหวในต่างประเทศในอดีต โครงสร้างการจัดการขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของเรา ยังต้องผ่านการเรียนรู้ลองผิดลองถูกอีกมาก เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบทเรียนสำคัญของการเคลื่อนไหวในไทย
องค์กรแบบปิรามิด | องค์กรแบบแนวระนาบ | ไม่มีการจัดตั้ง | |
---|---|---|---|
เป้าหมาย | มี | มีเป้าหมายร่วมกัน | ไม่ต้องคำนึงถึงเป้าหมายร่วม |
การตัดสินใจ | ผู้นำ | ร่วมกัน | ตัวใครตัวมัน |
ผลสำเร็จ ตามเป้าหมาย | เพื่อผู้นำ ถ้าสำเร็จก็ได้รางวัล ถ้าล้มเหลวก็ถูกลงโทษ | เพื่อประโยชน์ทุกคน | ไม่จำเป็น เน้นความพึงพอใจส่วนบุคคล |
ความรับผิดชอบ | ลดหลั่นตามลำดับชั้น | ทุกคนร่วมกัน | ไม่ต้อง |
อ่านเพิ่มเติม
ภัควดี วีระภาสพงษ์. “วิถีระนาบ”, ในสามัญชนเปลี่ยนโลก. สำนักพิมพ์ของเรา, 2554
Andrew Boyd. “We are all leader”, Beautiful trouble.
https://old.beautifultrouble.org/principle/we-are-all-leaders/
ความโหดร้ายของการไร้โครงสร้าง ตอนที่ 1
https://www.facebook.com/jitti.jum/posts/10157240522182041
การรวมตัวเคลื่อนไหวทางการเมือง ตอนที่ 1
https://www.nationweekend.com/content/columnist/7579
การรวมตัวเคลื่อนไหวทางการเมือง ตอนจบ
https://www.nationweekend.com/columnist/10/7892