เมื่อสองเดือนก่อนโควิดจะระบาดวิกฤตระลอกนี้ การตั้งคำถามเรื่องวัคซีนดังอื้ออึงมาตลอดในสังคมไทยทั้งประเด็นเรื่องการผูกขาดการนำเข้าวัคซีน การบริหารจัดการวัคซีนของภาครัฐ ตลอดจนประสิทธิภาพของวัคซีนที่รัฐจัดสรรให้ประชาชน
คำถามสำคัญคือประชาชนมีสิทธิเลือกวัคซีนหรือไม่? แล้วเมื่อไรจะได้ฉีด? เมื่อรัฐบาลเลือกจะปิดปากเงียบต่อเรื่องนี้ พอใครสักคนตะโกนถามดังๆ กลับโดนข้อหาบ้างถูกคุกคามละเมิดสิทธิที่จะตั้งคำถามบ้าง นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งทนไม่ไหวจึงขึ้นไปแขวนป้าย #ชาตินี้คงไม่ได้ฉีด ตลอดราวจับบนรถไฟฟ้าบีทีเอส กทม. หรือล่าสุดปฏิบัติการต่อต้านขัดขืนของร้านอาหาร #กูจะเปิดมึงจะทำไม ก็ใช้ป้ายที่เห็นทั่วไปมาดัดแปลงความหมาย
ปฏิบัติการอย่างฉับพลันหาตัวจับยากที่ต้องการ “เล่น” กับป้ายหรือตราสินค้าที่เห็นดาษดื่นทั่วไปจนชินตานี้เราเรียกว่า “Culture jamming” หรือการป่วนทางวัฒนธรรม
กำเนิดของคำ Culture Jamming
คำว่า Culture Jamming มีแนวคิดมาจากคำว่า Radio Jamming หมายถึงการรบกวนสัญญาณคลื่นวิทยุหรือการลักลอบใช้คลื่นความถี่เพื่อการสื่อสารของกลุ่มอิสระ
แนวคิดนี้มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1968 เมื่อกลุ่ม Situationist International กลุ่มนักกิจกรรมที่มีรสนิยมทางศิลปะแบบอาวองต์การ์ดและมีพื้นฐานความคิดทางการเมืองแบบมาร์กซิสต์ เสนอแนวทางใช้การสื่อสารแบบกองโจร (guerilla communication) มาสร้างความปั่นป่วนแก่สื่อกระแสหลักที่ครอบงำวัฒนธรรม โดยเปรียบวิธีการนี้กับการรบกวนหรือลักลอบนำคลื่นวิทยุมาใช้
ผู้ให้กำเนิดคำว่า Culture Jamming เป็นครั้งแรกคือวงดนตรี Negativland ในแคลิฟอร์เนียที่มีแนวคิดก้าวหน้าและต่อต้านสังคมบริโภค พวกเขาเริ่มใช้คำว่า Culture Jamming ในซีดีรวมการแสดงสดทางวิทยุที่มีชื่อชุดว่า Jamcon’84 หมายถึงการล้อเลียนป้ายโฆษณาและบ่อนทำลายสื่อกระแสหลักในรูปแบบต่างๆ แต่คำนี้มาโด่งดังจากนิตยสาร Adbusters นิตยสารวิจารณ์ลัทธิบริโภคนิยมและเป็นแนวหน้าในกิจกรรมป่วนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อ Kalle Lasn ผู้ก่อตั้ง Adbusters เขียนหนังสือชื่อ Culture Jam ทำให้คำนี้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น
แนวคิดเบื้องหลังการป่วนทางวัฒนธรรม
การป่วนทางวัฒนธรรมเกิดมาจากปฏิกิริยาต่อต้านขัดขืนการครองความเป็นใหญ่ของวัฒนธรรมกระแสหลักในระบบทุนนิยม เนื่องจากมองว่าการโฆษณาชวนเชื่อของระบบทุนนิยมผ่านการโฆษณาสินค้าในตลาดได้เข้ามาครอบงำพื้นที่ทางวัฒนธรรมของสังคมเกือบทั้งหมดจนแทบไม่เหลือพื้นที่ทางเลือกในการแสดงออกของแนวคิดทวนกระแส เราแทบไม่มีทางรอดพ้นจากการโฆษณาชวนเชื่อที่ตอกย้ำค่านิยมและผลประโยชน์ที่ดำรงอยู่ของบรรษัทหรือรัฐ ประชาชนกลายเป็นผู้รับสารทางเดียว ถูกเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นพลเมืองให้กลายเป็นผู้บริโภค ถูกปิดกั้นการรับรู้ปัญหาที่บรรษัทหรือรัฐซุกไว้ใต้พรม ปัญหาสังคมถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบนอกกำแพงการรับรู้ของผู้คน
การป่วนทางวัฒนธรรมจึงเป็นการสื่อสารทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ต้องการเปิดโปงให้สาธารณชนรับรู้ความเป็นจริงที่บรรษัทหรือรัฐพยายามปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดความรับผิดชอบ การกดขี่ขูดรีด การบริโภคล้นเกิน อาหารขยะ การทำลายสิ่งแวดล้อม โรงงานนรก ฯลฯ
เป้าหมายของการป่วนทางวัฒนธรรม
การป่วนทางวัฒนธรรม เป็นการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ โดยมีเป้าหมาย 2 ประการ
- รบกวน ก่อกวน ขัดขวางกระแสโฆษณาชวนเชื่อหรือแนวคิดกระแสหลักในสังคมบริโภคนิยม
- สื่อสารความหมายหรือข้อมูลบางอย่างที่ทวนกระแสให้คนทั่วไปรับรู้หรือตั้งคำถาม เปลี่ยนการสื่อสารของสื่อจากสื่อสารทางเดียวเป็นสื่อสารสองทาง สร้างพื้นที่อิสระทางวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อสะกิดให้ผู้บริโภคหยุดคิด ตั้งคำถาม และในขั้นสูงสุดคือเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากการเป็นผู้บริโภคไปสู่การเป็นพลเมืองที่ตระหนักถึงปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหานั้น
การป่วนทางวัฒนธรรมเกือบทั้งหมดมีเป้าหมายวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิบริโภคนิยมที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า และเปิดโปงความจริงของบรรษัทที่แตกต่างตรงกันข้ามกับภาพพจน์ที่บรรษัทนั้นๆ สร้างขึ้นมา
นักป่วนทางวัฒนธรรม
นักปฏิบัติการป่วนทางวัฒนธรรมมักเป็นคนหนุ่มสาวที่เติบโตมาในสังคมบริโภคแบบสุดขั้ว ความอึดอัดคับข้องใจของคนรุ่นนี้ผนวกกับการเติบโตมาในยุคอินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมที่ทุกคนเป็นแกนนำ ลงมือปฏิบัติการด้วยตัวเอง ใช้อารมณ์ขัน ความสนุกสนาน ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแตกต่างจากการเคลื่อนไหวที่เคร่งขรึมจริงจัง เหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็นลักษณะเฉพาะของการป่วนทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน
หลักการป่วนทางวัฒนธรรม
หลักการง่ายๆ ของการป่วนทางวัฒนธรรมคือสิ่งต่างๆ ที่ผู้คนคุ้นเคยดีจากที่เห็นมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เมื่อสิ่งนั้นถูกเปลี่ยนความหมายหรือทำให้สะดุดหยุดลง ผู้คนก็จะกลับมาตั้งคำถาม โดยเครื่องมือสำคัญที่ใช้คือการสื่อสารแบบกองโจร
การป่วนทางวัฒธรรมมุ่งทำให้คนฉุกคิด คิดอีกแบบ เห็นอีกมุมมากขึ้นและเกิดการปั่นป่วน เล่นกับพื้นที่ทางวัฒนธรรม วิธีนี้จึงเหมาะกับกลุ่มจัดตั้งขนาดเล็กมีทรัพยากรน้อย โดยใช้กลยุทธ์ป่วน ขโมยซีน และใช้อารมณ์ขัน
ตัวอย่างของการป่วนทางวัฒนธรรม
รูปแบบของการป่วนทางวัฒนธรรมมีมากมายหลากหลายจนกล่าวได้ว่าไม่มีขีดจำกัด แต่รูปแบบหลักที่พบเห็นบ่อยที่สุดคือการล้อเลียนภาพโฆษณา สินค้าหรือตราสินค้า โดยนำเอาภาพที่คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคยมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อสื่อความหมายใหม่เชิงต่อต้าน คัดค้าน หรือวิพากษ์วิจารณ์ความหมายในภาพดั้งเดิม ดังที่เรามักเห็นภาพโฆษณาและตราสินค้าที่ถูกนำมาป่วนทางวัฒนธรรมเป็นภาพและตราของสินค้าบรรษัทข้ามชาติ อาทิ สตาร์บัคส์ แมคโดนัลด์ ไนกี้ เป็นต้น
รูปแบบที่ใช้ป่วนทางวัฒนธรรม ได้แก่ The Bubble Project เป็นการรณรงค์ของขบวนการศิลปะข้างถนน โดยนำช่องว่างสำหรับใส่คำพูดไปติดตามโปสเตอร์และป้ายโฆษณา เพื่อให้คนทั่วไปเติมคำพูดล้อเลียนลงไปได้ตามใจชอบ
หรือป่วนโลโก้ เปลี่ยนโลโก้ของตราสินค้า ล้อเลียนโลโก้ เป็นการเปลี่ยนความหมายของป้ายโฆษณาด้วยการใส่ข้อความย้อนแย้งบนโลโก้ โปสเตอร์หนัง ป้ายร้าน บิลลอร์ด ฯลฯ ทำให้ความหมายเดิมนั้นบิดเบี้ยวแล้วใส่ความหมายของเราเข้าไป ทำให้ผู้คนฉุกคิดในมุมที่ต่างไป
Google Bombing คือการทำให้คีย์เวิร์ดบางคำในการค้นหาด้วยเสิร์ชเอนจิน โดยเฉพาะกูเกิล ให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเว็บเพจอันใดอันหนึ่ง อาทิเช่น ใน ค.ศ. 2002 คำค้นหาว่า “ชั่วร้ายยิ่งกว่าซาตาน” จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นโฮมเพจของบริษัทไมโครซอฟต์ หรือในปี 2006 คำค้นหาว่า “ล้มเหลวอย่างน่าทุเรศ” จะได้ผลลัพธ์เป็นเว็บเพจชีวประวัติอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ปี 2018 คำค้นหา “idiot” ได้ผลลัพธ์เป็นโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นต้น
Hacktivism เป็นคำผสมระหว่าง hack กับ activism หมายถึงการแฮ็กบางเว็บไซต์เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงหน้าเว็บเพจ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะวิพากษ์วิจารณ์เว็บนั้นหรือเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่าง
กรณีนักกิจกรรมที่ขึ้นไปแขวนป้าย #ชาตินี้คงไม่ได้ฉีด #อยากโดนฉีด บนรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของปฏิบัติการป่วนทางวัฒนธรรม
ข้อวิจารณ์ต่อปฏิบัติการป่วนทางวัฒนธรรม
ถึงแม้รูปแบบป่วนทางวัฒนธรรมจะมีข้อดีในแง่ดึงคนหนุ่มสาวเข้ามาร่วมขบวนการ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นกิจกรรมของคนชั้นกลางในเมืองที่ต้องการระบายความขับข้องใจด้วยการช่วงชิงพื้นที่สาธารณะคืนมาจากกลุ่มทุน แต่สำหรับคนชั้นล่างในชนบทการป่วนทางวัฒนธรรมอาจไม่มีความหมายใดๆ สำหรับพวกเขา
ข้อวิจารณ์อีกประการคือการป่วนทางวัฒนธรรมเป็นแค่การเสียดสีวิจารณ์ระบบที่เป็นอยู่ ไม่ได้นำเสนอสังคมอุดมคติที่เป็นเป้าหมายให้ขบวนการมุ่งไปสู่ ดังนั้นจึงต้องอาศัยปฏิบัติการอื่นๆ มาหนุนเสริมด้วย
ที่มา: ภัควดี วีระภาสพงษ์, สามัญชนเปลี่ยนโลก (สำนักพิมพ์ของเรา, 2555)
ภาพ: https://th.phhsnews.com/articles/artwork/30-clever-logo-parodies-of-famous-brands.html, https://www.dezeen.com/2007/09/09/the-bubble-project-by-ji-lee/,
http://evolutionarymediamarket.blogspot.com/2013/04/digital-activism-culture-jamming.html,
https://www.hallaminternet.com/google-bomb-donald-trump-is-an-idiot/,
https://wpmu.mah.se/nmict132group5/what-is/culture-jamming/,
https://www.wikiwand.com/en/Over_the_Edge_Vol._1:_JAMCON%2784