คู่มือถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ในม็อบ

เรียบเรียงโดย อภิญญา จารุวัฒนชัยกุล


ภาพ 1 ภาพแทนคำพูดนับพันคำ การสื่อสารข้อเท็จจริงของการชุมนุมผ่านภาพถ่ายคือเครื่องมือหนึ่งในการมีส่วนร่วมเรียกร้องประชาธิปไตย


เป้าหมาย

เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านภาพถ่ายมุมมองต่างๆ ที่นอกเหนือจากสิ่งที่สื่อหลักนำเสนอ

แนวคิด

ข้อเท็จจริงของภาพถ่ายเป็นข้อเท็จจริงจากมุมมองที่ถ่ายทอดผ่านอุดมการณ์ด้วยการถ่ายภาพ นับเป็นเครื่องมือหนึ่งในการมีส่วนร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านมุมมองของภาพถ่ายเหตุการณ์ช็อตต่างๆ ที่ไม่ใช่การตัดต่อหรือบิดสาร

รูปแบบการถ่ายภาพเพื่อบันทึกเหตุการณ์ข้อเท็จจริง

  • ทุกคนสามารถเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ข้อเท็จจริงได้เพียงแค่มีอุปกรณ์ที่สามารถบันทึกภาพถ่ายได้
  • ภาพถ่ายสื่อสารผ่านภาพชุดที่เรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมนุมแต่ละครั้งจะช่วยให้ผู้ติดตามเรียบเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้
ตัวอย่างการสื่อสารภาพถ่ายผ่านภาพชุดที่เรียบเรียงเหตุการณ์
  • หากเป็นภาพเดี่ยวบริบทภาพถ่ายควรมีองค์ประกอบเช่น ใคร สถานที่ที่ไหน กำลังทำอะไร เป็นต้น 
  • ภาพถ่ายที่รายงานสถานการณ์ควรมีคำบรรยายประกอบเพิ่มเติม เช่นเวลา สถานที่ หรืออธิบายเหตุการณ์เพิ่มเติมจะช่วยให้ผู้ติดตามเข้าใจเหตุการณ์ได้มากขึ้น
ตัวอย่างการสื่อสารภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์แบบภาพเดี่ยว
  • ภาพถ่ายควรหลีกเลี่ยงการถ่ายแบบเจาะหน้าที่ระบุตัวตนผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ไม่ยินยอมหรือเปิดตัวตนเป็นบุคคลสาธารณะ
  • ไม่ควรถ่ายติดป้ายทะเบียนรถที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวได้ภายหลัง

สิ่งที่ควรทำ

การเตรียมตัว ก่อนลงพื้นที่ชุมนุม

  • สนใจสถานการณ์การเมือง ติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสะสมความรู้เพื่อนำมาประเมินสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน
  • ประเมินความเสี่ยงในการจัดการชุมนุม เช่น สถานที่ที่ใช้จัดกิจกรรม แนวโน้มปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ รูปแบบการจัดการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ประเด็น/ข้อเรียกร้อง ในการชุมนุม ช่วงเวลาจัดชุมนุม เป็นต้น
  • ประเมินความพร้อมของตนเองในการเข้าร่วมชุมนุมมากแค่ไหน เช่น ความพร้อมของอุปกรณ์ป้องกันตัว ความพร้อมของสภาพร่างกาย ความพร้อมของสภาวะทางจิตใจว่าแข็งแรงพร้อมรับมือกับความเสี่ยงในแต่ละระดับของการชุมนุมนั้นๆ (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ ปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ชุมนุม)
  • ปลอกแขนสื่อที่ได้รับอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยในพื้นที่การชุมนุมได้ ดังนั้นความพร้อมของสภาวะจิตใจ อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย และการติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอเป็นเรื่องจำเป็น
  • ศึกษาเส้นทางวิธีการเดินทางไปเข้าร่วมชุมนุมและเส้นทางวิธีการเดินทางกลับบ้านจากพื้นที่การชุมนุม โดยศึกษาให้มากกว่า 1 วิธีการ ป้องกันกรณีปิดเส้นทางการจราจร หรือมีเหตุชุลมุนเกิดขึ้นไม่สามารถใช้เส้นทางนั้นหรือวิธีการนั้นในการเดินทางกลับบ้านได้
  • ข้อมูลแผนที่เส้นทางเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยภายหลังการชุมนุมสามารถติดตามได้จาก กรองข่าวแกง (Telegram) 
  • ข้อมูลแผนที่หรือถ่ายทอดสดแผนที่บริเวณโดยรอบพื้นที่การชุมนุมสามารถติดตามได้จาก พลเมืองตื่นรู้-Active Citizens THA (Twitter (ภาพถ่ายแผนที่), YouTube (ถ่ายทอดสด))
  • แจ้งบุคคลที่ไว้ใจได้ว่าจะเดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุม และแจ้งบุคคลที่ไว้ใจได้เมื่อกลับถึงที่พักหรือเดินทางกลับจากพื้นที่ชุมนุม
  • แจ้งข้อมูลเฉพาะส่วนตัว เช่น อาหารที่แพ้ ยาที่แพ้ โรคประจำตัว หรืออื่นๆ เช่น มีแมวที่ห้อง เป็นต้น โดยแจ้งกับบุคคลที่ไว้ใจได้เพื่อให้บุคคลที่ไว้ใจเป็นธุระให้กรณีที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกจับกุม

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมก่อนลงพื้นที่

สำหรับผู้ที่ถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล

  • แนะนำให้ใช้กล้อง Nikon เนื่องจากมีความทนทาน กันน้ำละอองฝน ไม่ค่อยมีปัญหาเมื่อโดนแก๊สน้ำตา หรือน้ำจากรถฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารเคมี (หากไม่ได้ปะทะโดยตรง) รุ่นที่แนะนำคือ Nikon D4, D800 แต่ข้อเสียคือราคาสูงมาก
  • หากใช้กล้องยี่ห้อ Canon ควรพกกระเป๋ากันน้ำ หรือชุดกันฝนไปด้วยทุกครั้งเพราะกล้องมักจะมีความไวต่อความชื้นเมื่อมีเหตุการณ์ชุลมุน มีการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม หรือฝนตกอาจทำให้อุปกรณ์เสียหาย
  • เมมโมรี่การ์ดที่ใช้ควรมีความจุอย่างน้อย 32 GB และควรพกการ์ดสำรองไว้อีก 1 ชิ้น ป้องกันเมมโมรี่เต็ม เมมโมรี่มีปัญหาหรือถูกควบคุมตัว (สับเปลี่ยนเมมโมรี่เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ทำลายหรือยึดไฟล์ภาพถ่าย)
  • OTG Card Reader อุปกรณ์สำหรับส่งไฟล์จากเมมโมรี่การ์ดกล้องเข้าโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างมีการชุมนุมหรือมีเหตุการการชุลมุนเกิดขึ้นในพื้นที่การชุมนุม ช่วยลดภาระการพกพาคอมพิวเตอร์มายังพื้นที่การชุมนุม แต่เมื่อถ่ายโอนไปยังโทรศัพท์มือถือความละเอียดของไฟล์ภาพจะลดลง
ตัวอย่าง OTG Card Reader

สำหรับผู้ที่ถ่ายภาพด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ

  • หากการชุมนุมมีแน้วโน้มทำกิจกรรมเกิน 4 ชม. ควรมีแบตเตอร์รี่สำรอง (Power Bank) อย่างน้อย 5000 mAh แต่หากแนวโน้มมีการจัดกิจกรรมเกิน 6-8 ชม. แบตเตอร์รี่สำรอง (Power Bank) ควรมีความจุประมาณ 20,000 mAh
  • ปรับแก้ vpn ในโทรศัพท์มือถือให้เป็นที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อป้องกันการติดตามหรือระบุตำแหน่งของผู้ใช้ หากมีการสื่อสารภาพถ่ายในพื้นที่ออนไลน์
  • ตั้งค่าล็อกโทรศัพท์มือถือเป็นรหัสล็อกโทรศัพท์แทนการสแกนนิ้วหรือสแกนใบหน้า ป้องกันผู้อื่นหรือเจ้าหน้าที่สืบค้นข้อมูลหรือทำลายภาพถ่ายในโทรศัพท์มือถือกรณีถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัว หากเป็นโทรศัพท์ iPhone สามารถตั้งค่าใส่รหัสผิด 10 ครั้งรีเซ็ตเครื่องอัตโนมัติได้
  • พกซองกันน้ำ เลือกแบบที่ใช้งานได้โดยไม่ต้องแกะออกจากซองเพื่อมาถ่ายภาพ หรือพกกระเป๋ากันน้ำเพื่อป้องกันโทรศัพท์มือถือเสียหายจากการเปียกฝนหรือตำรวจสลายการชุมนุมโดยใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง โดยที่กระเป๋ากันน้ำจะสามารถใช้พกของอย่างอื่นได้ แต่ต้องหยิบมือถือเข้าออกจากกระเป๋าบ่อยๆ ซองกันน้ำสะดวกในการใช้งานแต่ไม่สามารถใส่ของเพิ่มเติมได้ต้องพกกระเป๋าบรรจุของเพิ่มเติม
ตัวอย่างซองกันน้ำแบบสามารถใช้งานได้ผ่านซองกันน้ำ และตัวอย่างกระเป๋ากันน้ำ

อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย

หน้ากากกันแก๊ส

  • แบบเต็มใบ ป้องกันแก๊สน้ำตาได้ทั่วทั้งใบหน้า ไม่ต้องใส่แว่นตากันแก๊สน้ำตาเพิ่ม และไม่มีฝ้าขึ้นขณะสวมใส่ หากใช้ยี่ห้อ 3M ซึ่งเป็นของแท้ถือว่าผิดกฎหมายเนื่องจากถูกบรรจุเป็นยุทธภัณฑ์ต้องมีใบอนุญาตในการครอบครอง หากสั่งสินค้าที่ไม่ระบุยี่ห้อที่คล้ายคลึงกับยี่ห้อ 3M ใน Shopee เจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตให้ใช้ได้เนื่องจากประสิทธิภาพไม่เทียบเท่าอุปกรณ์ของจริง
ตัวอย่างหน้ากากกันแก๊สน้ำตาแบบเต็มใบไม่มียี่ห้อ และหน้ากากกันแก๊สแบบครึ่งหน้ายี่ห้อ 3M
  • แบบครึ่งหน้าต้องใส่แว่นตากันแก๊สเพิ่มเติม หน้ากากยี่ห้อ 3M เป็นยี่ห้อที่เหมาะสม ทนทานต่อการใช้งานในการใช้ป้องกันแก๊สน้ำตาเนื่องจากวัสดุเป็นซิลิโคน ทำให้มีความยืดหยุ่นตามรูปหน้าจึงไม่ค่อยมีช่องว่างให้แก๊สน้ำตาซึมเข้าไป 
  • หากใช้หน้ากากกันแก๊สน้ำตาให้ใช้ Filter ที่มีคุณสมบัติสามารถกันแก๊สน้ำตาได้ โดยทั่วไปมีอายุขัยประมาณ 1-2 ปีขึ้นอยู่กับการใช้งาน แต่หาก Filter เปียกน้ำจะหมดประสิทธิภาพในการป้องกันโดยทันที ภายหลังการใช้งานทุกครั้งควรเก็บรักษาในถุงสุญญากาศหรือถุงซิปไล่ลมออกจะช่วยรักษาอายุการใช้งานให้นานยิ่งขึ้น
ประเภทหน้ากากกันแก๊ส ตลับกรองแก๊สรุ่นต่างๆ และแว่นครอบตานิรภัยยี่ห้อ 3M
  • แว่นครอบตานิรภัย ควรเลือกแบบไม่มีรูระบายอากาศและขอบยางซิลิโคนเพื่อกระชับตามรูปหน้าผู้สวมใส่ 
  • หมวกกันกระแทกที่มีเครื่องหมายรับรองจาก มอก.
  • รองเท้าผ้าใบชนิดปลายเท้าแข็ง เพื่อป้องกันวัตถุต่างๆ ตกกระแทกเท้าช่วงที่มีการชุลมุน

การทำงานระหว่างลงพื้นที่ชุมนุม

  • ตั้งคำถามกับข้อมูลที่เราได้รับมาก่อนลงพื้นที่ ว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เราสังเกตเห็นในพื้นที่ชุมนุมเพื่อลดการตีความหรือบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง
  • ถ่ายภาพโดยไม่ตัดสินไปก่อน เช่น ไม่ตัดสินว่ารัฐผิดเสมอ หรือไม่ตัดสินว่าผู้ชุมนุมมาเพื่อก่อความไม่สงบ
  • เคารพผู้คนหรือสิ่งที่เราได้ไปสัมผัสในพื้นที่ชุมนุมโดยการไม่บิดเบือนตัดต่อภาพถ่าย เพราะการบิดเบือนข้อเท็จจริงจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของช่างภาพและการชุมนุมนั้นๆ
  • กรณีใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพถ่าย ไม่ควรไปอยู่แนวหน้าหรืออยู่ในแนวปะทะที่ไม่ปลอดภัยเพราะจะกลมกลืนกับผู้ชุมนุม โดยจุดปลอดภัยสำหรับการบันทึกภาพถ่ายที่อยู่ใกล้แนวปะทะคือมีจุดกำบังทั้งตัวทันทีเมื่อถอยหลัง 1 ก้าว เช่นถอยหลังหนึ่งก้าวมีกำแพงเป็นจุดกำบัง เป็นต้น
  • หากเกิดเหตุชุลมุน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกันสื่อให้ไปอยู่หลังแนวตำรวจ ส่วนคนที่ไม่มีปลอกแขนสื่อให้ย้ายมาอยู่ฝั่งผู้ชุมนุมเพื่อให้ได้ภาพอีกมุมฝั่งผู้ชุมนุม เมื่อผู้ชุมนุมถอยให้ถอยตามเพื่อป้องกันการถูกควบคุมตัว
  • หากเจ้าหน้าที่ใกล้ประชิดตัวให้ไปรวมกับกลุ่มสื่อที่มีใบอนุญาตเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวเอง
  • เมื่อสถานการณ์ชุมนุมมีเจตจำนงจะปะทะให้ออกนอกพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของตนเองโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีปลอกเเขนหรือใบอนุญาตสื่อ

ช่องทางการสื่อสารภาพถ่าย

  • Facebook ส่วนตัวที่เผยแพร่ภาพถ่ายในพื้นที่ชุมนุมอยู่เสมอจะช่วยให้มีผู้ติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ การเสนอข้อมูลตามจริงจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวเองและมีผู้ติดตามมากขึ้น
  • Telegram ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ง่ายกว่าเฟซบุ๊ก เพราะกดติดตามได้และเป็นช่องทางห้องสื่อสารที่ชัดเจน
  • Twitter เผยแพร่ข้อมูลขณะมีการชุมนุมจะทำให้ภาพถ่ายสื่อสารไปได้มากขึ้นเพราะอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้คนให้ความสนใจ
  • หากเป็นภาพถ่ายที่สำคัญเช่น ภาพพยาบาลอาสาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกาย ให้รีบสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ทันทีและออกจากพื้นที่อย่างรวดเร็วเพื่อความปลอดภัยของตนเอง ป้องกันเจ้าหน้าที่จับกุมและทำลายหลักฐาน
ตัวอย่างภาพถ่ายที่สำคัญ (ภาพ: Reuters)
  • หากจะส่งภาพถ่ายให้สำนักข่าวจะต้องมีความละเอียดของไฟล์ภาพขนาด 2,048 พิกเซลขึ้นไป
  • เก็บข้อมูลภาพถ่ายที่คัดเลือกแล้วไว้ในฮาร์ดดิสก์ เพื่อบันทึกเหตุการณ์หรือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในอนาคต

กรณีฉุกเฉินถูกดำเนินคดี หรือถูกควบคุมตัว

  • หากมีใบอนุญาตการเป็นนักข่าวหรือมีบัตรสื่อที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์ให้แสดงตนและติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • หากไม่มีใบอนุญาตการเป็นสื่อติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและติดต่อผู้ไว้วางใจ
  • ช่องทางติดต่อศูนย์ทนายฯ ไปที่ Facebook : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน Twitter : @TLHR2014 Email : tlhr@tlhr2014.com ติดต่อสายด่วน : 092-271-3172,096-789-3173  หากติดต่อผ่านโทรศัพท์จะมีความรวดเร็วมากกว่าติดต่อผ่านช่องทางอื่นๆ หลังจากติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายจะให้ส่งข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมทางช่องทางออนไลน์เพื่อความไม่คลาดเคลื่อนของข้อมูล

ปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ชุมนุม
(ตัวอย่างการประเมินความเสี่ยงของการชุมนุม)

ระดับความเสี่ยง

สถานที่ที่ใช้จัดกิจกรรม

แนวโน้มปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

รูปแบบการชุมนุม

ประเด็น/ข้อเรียกร้องในการชุมนุม

ช่วงเวลาจัดชุมนุม

เวลานัด

เวลายุติการชุมนุม

เสี่ยงสูง

  • พื้นที่ในเขตควบคุมดูแลของทหาร
  • พื้นที่เขตพระราชฐานหรือที่เกี่ยวข้องกับส่วนพระมหากษัตริย์
  • เจ้าหน้าที่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายครบชุด
  • มีการปรากฏของปืนลูกซองพร้อมกระสุนยาง
  • มีการปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.)
  • มีชายฉกรรณ์สวมหมวกกันกระแทกสีขาวไม่ทราบฝ่ายตั้งแถวเป็นจำนวนมากกว่า 5 นาย
  • เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือกลุ่มผู้สื่อข่าวให้ออกนอกพื้นที่

ผู้ชุมนุมประกาศปักหลักค้างคืนบริเวณพื้นที่การชุมนุม

เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

หลังเวลาพระอาทิตย์ตกดิน

กรณีพื้นที่ทั่วไป: กลางคืน/ค้างคืน

เลิกหลัง 23.00 น.

กรณีพื้นที่ที่ประกาศล็อกดาวน์: เลิกหลัง 21.00 น. หรือหลังเวลาเคอร์ฟิว

มีความเสี่ยง

  • หน่วยงานราชการ
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 
  • หน้าสถานีตำรวจ
  • สถานทูต
  • บริเวณเรือนจำ
  • มีการปรากฏของอุปกรณ์พิเศษ (มีรถฉีดน้ำแรงดันสูง)
  • ปรากฏเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนหญิง (กองร้อยน้ำหวาน)

มีการเคลื่อนขบวน

กดดันให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม (ไม่มีการจัดตั้ง/เตรียมตัว)

หลัง 18.00 น.

กรณีพื้นที่ทั่วไป: เลิก 21.00-22.00 น.

กรณีพื้นที่ที่ประกาศล็อกดาวน์: เลิก 20.00-21.00 น. หรือก่อนเวลาเคอร์ฟิว 1 ชม.

ควรระมัดระวัง

  • ย่านศูนย์การค้าหรือพื้นที่เอกชน
  • เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. ตั้งแถวบริเวณพื้นที่ชุมนุม (ชุดสีน้ำเงินเข้ม ผูกผ้าพันคอสีต่างๆ)

ชุมนุมบริเวณที่แจ้งและไม่มีการเคลื่อนย้าย

เป็นการรวมตัวการชุมนุมจากหลากหลายกลุ่ม

เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง

เริ่ม 16.00-18.00 น.

กรณีพื้นที่ทั่วไป

เลิก 20.00 น.

กรณีพื้นที่ที่ประกาศล็อกดาวน์

เลิก 19.00 น.-20.00 น.

ค่อนข้างปลอดภัย

  • กระทรวงศึกษาธิการ
  • United Nations (UN)

ปรากฏเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบชุดสีกากีอยู่ในพื้นที่

นิทรรศการ ดนตรี ศิลปะ

ไว้อาลัย เช่น จุดเทียน วางพวงหรีด ผูกโบว์

  • ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม
  • ชาติพันธุ์
  • แรงงาน
  • การศึกษา
  • LBGT/ Feminist
  • กดดันบุคคล/ ข้าราชการ รมต. 
  • รับทราบข้อกล่าวหา

เริ่มเช้า

เลิก 18.00 น.

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์: ยศธร ไตรยศ กลุ่ม Real frame, ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์, ทีมงานกรองข่าวแกง

หมายเหตุ: งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานจากโครงการสกัดความรู้การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย จัดโดย Act Lab เมื่อ ส.ค.-ก.ย. 2564 โดยมุ่งหวังว่าผลงานชุดนี้จะเป็นฐานข้อมูลให้กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมให้เก็บข้อมูลสถิติ

    เราเก็บข้อมูลสถิติซึ่งประกอบด้วย IP Address และอื่นๆ ตามที่ Google analytic เรียกดู

บันทึกการตั้งค่า