คู่มือการไลฟ์ในม็อบ

เรียบเรียงโดย วศินี บุญที


คู่มือและขั้นตอนการไลฟ์สดในที่ชุมนุมเพื่อส่งสารของผู้ชุมนุมออกไปให้ได้มากที่สุดในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างสูง”


ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการสื่อสารอย่างมีนัยยะสำคัญ การไลฟ์ในม็อบถือเป็นสิ่งจำเป็นในฝั่งผู้ชุมนุม ยิ่งในสถานการณ์ที่รัฐลุแก่อำนาจใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมโดยไม่คำนึงถึงหลักสากลใดๆ ในขณะที่สื่อกระแสหลักก็เข้าไม่ถึงหรือเลือกนำเสนอฝั่งเจ้าหน้าที่ด้านเดียว หรือกระทั่งไม่นำเสนอข่าวม็อบไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใด การถ่ายทอดสดทำให้เห็นในจุดที่สื่อหลักเข้าไม่ถึงหรือไม่นำเสนอ ช่วยทำให้ประเด็นข้อเสนอของฝั่งผู้ชุมนุมหรือผู้ประท้วงเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ เป็นการรายงานข้อเท็จจริงสู่สายตาสาธารณชน อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับสื่อสารมวลชนโดยทั่วไป มุมมองการไลฟ์ก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของคนไลฟ์ด้วย ดังนั้น คู่มือนี้จึงเป็นการไลฟ์ในม็อบในมุมมองของผู้จัดม็อบ

แนวคิด

การไลฟ์สดเป็นเครื่องมือหนึ่งในการรณรงค์และสื่อสารให้คนมีทัศนคติมองในมุมผู้ชุมนุมมากขึ้นเปลี่ยนพฤติกรรมมาสนับสนุนม็อบ และเป็นเครื่องมือให้ประชาชนหรือผู้ที่ด้อยอำนาจสามารถใช้สื่อสาธารณะเพื่อบาลานซ์สื่อหลักของรัฐได้มากขึ้น

เป้าหมาย

ของการไลฟ์สดในม็อบของทีมผู้จัดม็อบ จะแบ่งได้ 2 ประเด็นคือ

  1. เพื่อการสื่อสาร
  • เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจประเด็นความต้องการ เนื้อหา เป้าหมายของม็อบ
  • เชิญชวน/อธิบายเหตุผลในการเข้าร่วมกับม็อบ 
  • รายงานสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์
  • เพื่อให้เห็นภาพบรรยากาศที่ชุมนุมโดยรอบอย่างทั่วถึง เห็นภาพผู้เข้าร่วมหลากวัยหลายอาชีพ
  1. เพื่อบันทึกเหตุการณ์ 
  • หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน/การปะทะ
  • ถูกตำรวจจับ
  • มีบุคคลเข้ามารบกวน ปั่นป่วน 

หลักการการไลฟ์สดในม็อบ

  1. สื่อสารประเด็นและเป้าหมายของม็อบให้ชัดเจน รวมถึงถ่ายทอดบรรยากาศการชุมนุมหรือเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน 
  2. ระมัดระวังคำพูดที่นำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง ไม่ปั่นกระแสไม่สร้างข่าวลือข่าวลวง รายงานสถานการณ์ตามความเป็นจริง  
  3. คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ไลฟ์และผู้เข้าร่วมชุมนุม
  4. ภาพชัด มือนิ่ง ไม่ถ่ายสั่นหรือส่ายไปมาจนเวียนหัว เสียงชัดเจน 

ขั้นตอนการไลฟ์สดในม็อบ

ก่อนเริ่มไลฟ์สด

ในการเตรียมตัวก่อนจะออกไปไลฟ์สดในม็อบจำเป็นที่จะต้องประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าว่า ม็อบจะเคลื่อนขบวนไหม หรือปักหลักอยู่กับที่ จะมีกิจกรรมหรือแอ๊กชั่นอะไรบ้าง จะถูกสลายการชุมนุมไหม ต้องไลฟ์นานแค่ไหน  เพื่อที่จะได้เตรียมอุปกรณ์ไปให้เหมาะสมกับสถานการณ์ 

  1. เตรียมประเด็นที่พูดในไลฟ์ เช่น 
  • คนจัดม็อบคือใคร 
  • ข้อเรียกร้องของม็อบคืออะไร ทำไมจึงต้องมีม็อบครั้งนี้
  • เตรียมข้อมูลหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินกับผู้ร่วมชุมนุมหรือตัวผู้ไลฟ์เอง เช่น เบอร์โทรศัพท์ทีมกฎหมาย, แผนที่การเดินทาง กลับออกจากจุดชุมนุมอย่างไรได้บ้าง เป็นต้น
  • คิดแคปชั่น ซึ่งต้องเข้าใจง่าย, ระบุสถานที่จัดงานให้ชัด, ใส่แฮชแท็ก
  • เตรียมคำถามหากมีการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมชุมนุม เช่น ทำไมถึงมาร่วมชุมนุม รู้สึกอย่างไรต่อการชุมนุมครั้งนี้ หรือประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม
  • รู้จังหวะว่าเมื่อไรทำอะไร เช่น เวทีปราศรัย การเคลื่อนขบวน 
  1. เซตอุปกรณ์ 
  • อินเตอร์เน็ตแบบอันลิมิเตท
  • ขาตั้ง, กันสั่น, ไมค์  หากกันสั่นหรือไมค์เป็นแบบที่ต้องเชื่อมต่อบลูธูทกับโทรศัพท์จะทำให้แบตโทรศัพท์หมดเร็วขึ้น และต้องเตรียมแบตสำรองไว้เผื่อการชาร์จกันสั่นและไมค์ด้วย
  • แบตสำรองขนาด 10,000 mAh ชาร์จโทรศัพท์ได้ 2 รอบ รวมๆ อยู่ได้ 4-5 ชม.  (อันนี้สำคัญมากห้ามลืมเด็ดขาด)
  • เคลียร์ข้อมูลในโทรศัพท์ให้ไม่มีข้อมูลที่เจ้าหน้าที่สามารถเอาผิดเราได้ 
  • เปลี่ยนการปลดล็อกเข้าโทรศัพท์เป็นตัวเลขและหรือตัวอักษรเท่านั้น ห้ามใช้การปลดล็อกแบบสแกนลายนิ้วมือหรือสแกนใบหน้า เพื่อความปลอดภัยหากถูกจับกุม
  • ติดตั้งหรือเปิดใช้โลเคชั่นในแอพ Find my phone เพื่อความปลอดภัยหากถูกเจ้าหน้าที่จับกุม 
  1. เตรียมมือถือสำรอง 1 เครื่อง กรณีฉุกเฉินสามารถโทรหาทีมหรือเช็กเหตุการณ์ในมุมอื่นนอกจากบริเวณที่เราอยู่ และกรณีที่ต้องติดต่อประสานงานกับทีม 
  2. การแต่งตัว ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นผ้าหนาดีกว่าผ้าบางเพราะสามารถช่วยลดความบาดเจ็บได้หากเกิดอุบัติเหตุ ขายาวดีกว่าขาสั้น รองเท้าหุ้มส้น รองเท้าผ้าใบที่วิ่งได้ อย่าลืมใส่หมวกกันน็อก
  3. เตรียมร่ม/เสื้อกันฝน, น้ำเปล่า, หน้ากากกันแก๊สน้ำตา (บางกรณีอาจต้องหาปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน)
  4. เตรียมความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ หากรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยให้ถอยออกจากจุดนั้นทันที ยึดหลักปลอดภัย เตรียมทางหนีทีไล่หากถูกปิดล้อม 
  5. ถ้าเป็นไปได้ควรมีบัดดี้หรือคู่หูไปด้วย เพื่อจะได้ช่วยกันประเมินสถานการณ์หน้างาน / ขับรถตามขบวน หากการชุมนุมมีการเคลื่อนขบวน เช่น Car Mob / หามุมถ่ายทอดสด เป็นต้น 

ระหว่างไลฟ์สด

  1. เข้าเฟซบุ๊ก เลือกการถ่ายทอดสด เขียนแคปชั่นที่เตรียมไว้ หันกล้องในแนวนอนตลอดระยะเวลาการถ่ายทอดสด 
  2. เริ่มการไลฟ์ด้วยพูดการกล่าวทักทายเช็กความชัดของเสียงและภาพ ระหว่างนี้ให้ทีมหรือบัดดี้แชร์ link การไลฟ์ไปในกลุ่มทำงานและให้ช่วยกันแชร์ หรือแชร์ในกลุ่มเครือข่าย หรือให้เพจอื่นๆ ช่วยแชร์
  3. ชี้แจง ม็อบนี้คือม็อบอะไร จัดโดยใคร ทำอะไรบ้าง ข้อเรียกร้องคืออะไร 
  4. แพนกล้องให้ชมบรรยากาศที่เกิดขึ้น หรือขออนุญาตสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมชุมนุม เพื่อสะท้อนความคิดความรู้สึกของคนที่อยู่ในม็อบที่อาจมีทั้งเด็ก คนแก่ หรือเป็นกลุ่มย่อย 
  5. หากม็อบมีเวทีปราศรัย เลือกมุมตั้งกล้องให้เห็นภาพรวม และโฟกัสไปที่เวที ถ้ามีผู้ปราศรัยอยู่ให้ผู้ไลฟ์เงียบ ระวังเสียงซ้อนกัน พอช่วงเวทีหรือคนไฮด์ปาร์คเงียบ เดตแอร์ ให้คนไลฟ์พูดย้ำข้อเรียกร้องม็อบ ย้ำสถานที่จัดม็อบ ย้ำลำดับเวลากิจกรรมของม็อบ เป็นต้น
  6. หากม็อบมีการเคลื่อนขบวนให้เลือกมุมที่เป็นการติดตามไปกับขบวน และเปลี่ยนมุมให้เห็นภาพรวม (ภาพมุมสูง)
  1. หากเกิดเหตุการณ์การปะทะ ให้เลือกมุมด้านหลังแนวปะทะ หรือระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย แต่มีข้อควรระวังคืออาจโดนลูกหลง ให้ผู้ไลฟ์ประเมินสถานการณ์ความพร้อมรับความเสี่ยงของตัวเอง หากรู้สึกไม่ปลอดภัยให้ถอยออกจากจุดปะทะ และเลือกมุมที่รู้สึกปลอดภัยแต่ยังสามารถถ่ายทอดสดสถานการณ์ได้อยู่ และคอยรายงาน/อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ทำไม
  2. ตอบคำถามคอมเมนต์ที่สำคัญๆ เช่น งานจัดที่ไหน ภาพไม่ดี เสียงกระตุก บรรยากาศงานตอนนี้เป็นยังไง  เป็นต้น 
  3. เช็กเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่โทรศัพท์อยู่ตลอด 
  4. หากสัญญาณอินเตอร์เน็ตติดขัดเพราะในบริเวณนั้นมีการใช้สัญญาณจำนวนมากให้เปลี่ยนช่องสัญญาณจาก 5G เป็น 4G หรือจาก 4G เป็น 3G แต่หากยังไม่ดีขึ้นให้ลองใช้สัญญาณจากร้านหรือบริเวณที่อยู่ใกล้ๆ
  5. หากผู้ไลฟ์ถูกคุกคาม/ถูกจับ 
    • ยึดหลักความปลอดภัย เพราะหากเราถูกจับจะไม่สามารถทำหน้าที่ถ่ายทอดสถานการณ์ต่อไปได้  
    • เจรจากับเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่าเรากำลังทำหน้าที่สื่อ หากเจ้าหน้าที่มีท่าทีไม่ดีให้รีบถอยออกจากบริเวณนั้น 
    • ถ้าถอยออกไม่ทัน ให้รีบรายงานในไลฟ์ว่าเราถูกจับจุดไหน ถูกจับกี่คน เจ้าหน้าที่ชื่ออะไร 
    • ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรให้ถูกยึดมือถือ ยืนยันหลักกฎหมายว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิยึดสิ่งของ แต่หากถูกยึดให้ใช้โทรศัพท์สำรองโทรหาทีมงาน  
    • ทีมงานให้ติดตามผู้ไลฟ์โดยใช้โปรแกรม Find my phone ว่าเจ้าหน้าที่นำตัวไปที่ไหน และติดต่อทีมกฎหมาย 

หลังการจบไลฟ์สด

  1. ก่อนจะปิดการไลฟ์สดให้พูดเชิญชวนคนดูให้ติดตาม กดไลค์กดแชร์เพจ 
  2. อย่าลืมกดไลฟ์แชร์ไว้หน้าฟีดของเพจ 
  3. สำรวจความเห็นในคอมเมนต์ เพื่อหากมีข้อเสนอ ข้อปรับปรุง ประเด็นที่น่าสนใจ เราจะได้กลับมาแก้ไข 
  4. เช็กจำนวนผู้เข้าชม การแชร์ เพื่อเช็กเรตติ้งการเข้าถึงว่ากระจายไปได้กว้างแค่ไหน กลุ่มคนที่เข้ามาดูช่วงอายุเท่าไร อยู่จังหวัดไหน เพื่อที่เราจะได้ทำงาน/content ได้ตรง
  5. ตอบคอมเมนต์ที่น่าสนใจ 
  6. รีวิววิดีโอที่ไลฟ์สดอีกครั้งเพื่อหาประเด็นในการมาสื่อสารต่อ เช่น ภาพเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ หรือเก็บประเด็นน่าสนใจช่วงสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมชุมนุม เป็นต้น

ข้อควรระวังในการไลฟ์

  1. ไม่ควรพูดแทรกหากยังมีการปราศรัยหรือกิจกรรม (อาจพูดอธิบายว่ากิจกรรมอะไรก่อนก็ได้)
  2. ไม่ถ่ายเจาะหน้าผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มอนิเตอร์อยู่สามารถติดตามตัวได้ง่าย และไม่ละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม หากมีการสัมภาษณ์ต้องขออนุญาตผู้ให้สัมภาษณ์ก่อนทุกครั้ง

ตัวอย่างการไลฟ์

การไลฟ์สดที่ดี : https://fb.watch/7YibD13aul/ ทะลุฟ้าไลฟ์สดม็อบวันที่ 7 กันยายน 2564

การไลฟ์สดที่อาจจะปรับให้ดีขึ้น : https://www.facebook.com/thalufah/videos/4269589816396727/ ไลฟ์กิจกรรมวันศุกร์ ลุกไล่เผด็จการ เพจทะลุฟ้า วันที่ 2 ก.ค. 2564

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์: นิติกร ค้ำชู, ศรายุทธ์ ตั้งประเสริฐ, ทวีศักดิ์ เกิดโภคา

ขอบคุณภาพจากเพจดาวดิน สามัญชน, คลิปไลฟ์จากเพจทะลุฟ้า

หมายเหตุ: งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานจากโครงการสกัดความรู้การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย จัดโดย Act Lab เมื่อ ส.ค.-ก.ย. 2564 โดยมุ่งหวังว่าผลงานชุดนี้จะเป็นฐานข้อมูลให้กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยต่อไป