“เราอยากอยู่ในขบวนการแบบไหนก็สร้างเนื้อดินแบบนั้น”

ระบบนิเวศของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของการเมืองอเมริกาไว้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะประเด็นที่ว่า

“ระบบนิเวศ (ecosystem) ของการทำงานทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนไปอย่างมากในรอบ 10 ปี กลุ่มภาคประชาสังคมในสหรัฐฯ เติบโตกลายเป็นองค์กรที่ทำงานต่อเนื่องยาวนานเป็นองค์กรระดับชาติและเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมากขึ้นโดยเป็นตัวกลางระหว่างการเมืองในสภากับประชาชน ประชาชนผูกยึดโยงตัวเองกับองค์กรภาคประชาสังคม แทนที่จะเป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมือง” (อ่านบทวิเคราะห์ได้ที่นี่)

จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ระบบนิเวศทั้งสังคมต้องเปลี่ยนด้วย

แนวคิดเรื่อง “ระบบนิเวศ” หรือ ecosystem ยังถูกใช้ในแวดวงธุรกิจ เป็นการจำลองเอาระบบนิเวศตามธรรมชาติมาปรับใช้กับการทำธุรกิจโดยมีแนวคิดเบื้องต้นคือการถ้อยทีถ้อยอาศัยร่วมมือกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบกันในธุรกิจระบบนี้ ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดการทำธุรกิจแบบเดิมที่มุ่งแข่งขันแบบฉายเดี่ยว ขณะที่ ecosystem เน้นพึ่งพาอาศัยอย่างเท่าเทียมกันแบบพาร์ตเนอร์เพื่อให้สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Apple และธุรกิจแพลตฟอร์มทั้งหลายที่เติบโตในยุคนี้ (อ่านเพิ่มเติม https://quickerpthailand.com/blog-2023-what-is-ecosystem/)

แล้วระบบนิเวศของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยล่ะเป็นอย่างไร?

นัยของคำถามนี้คือเราอยากให้ขบวนการดำรงอยู่ในระบบนิเวศแบบไหนที่จะทำให้ขบวนการเติบโต เราจะสร้างเนื้อดินแบบไหนที่โอบอุ้มให้ขบวนการอยู่รอด เข้มแข็ง มีชีวิตชีวาและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่เท่าเทียมเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง

Ecosystem ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ประกอบด้วย

1. งานสนับสนุน  

ลักษณะงานสนับสนุนแม้จะไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงโดยตรงแต่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่วนต่างๆ ของขบวนการ เช่นทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงขยายประเด็นอย่างสื่ออิสระ เป็นหน่วยจัดการศึกษาเรียนรู้เพิ่มพูนศักยภาพเช่นงานฝึกอบรม เป็นแหล่งเชื่อมโยงความรู้ เช่น สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ นักวิชาการ เป็นต้น

2. ส่วนช่วยเหลือ  

งานช่วยเหลือขบวนการในด้านต่างๆ ได้แก่ งานเยียวยารับฟังดูแลด้านจิตใจ งานดูแลความปลอดภัย บ้านกลางหรือบ้านนักกิจกรรมซึ่งเป็นพื้นที่โอบอุ้มดูแลใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นต้น

3. พื้นที่สาธารณะ  

เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างนักกิจกรรมกับผู้สังเกตการณ์ บ่อยครั้งนักกิจกรรมอยู่ในแวดวงตัวเองจนเกิดปรากฏการณ์ echo chamber หรือได้ยินเสียงสะท้อนในหมู่คนคิดคล้ายกันจนเข้าใจว่าทั้งสังคมคิดเห็นเช่นนั้น พื้นที่สาธารณะ เช่น ร้านเหล้า ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ สถานเลี้ยงเด็ก โรงอาหาร บางพื้นที่คือวัด ช่วยให้เราสามารถประเมินอารมณ์ประเมินกระแสสังคมได้ตามสภาพการณ์ที่เป็นจริง

4. สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม

หมายรวมถึงทัศนคติ มุมมอง ความเชื่อ วิถีปฏิบัติ หรือที่เรียกกันว่าโลกทัศน์ ชีวทัศน์ กล่าวคือคนที่อยู่ในขบวนการเชื่อแบบนี้จึงปฏิบัติแบบนี้ เป็นวิถีวัฒนธรรมทั้งการแต่งกาย เพลง หนัง ละคร วิถีบริโภค  ภาษาและคำศัพท์เฉพาะ สัญลักษณ์ที่รับรู้ร่วมกัน เป็นการสร้างบรรยากาศที่รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันขึ้นมา เช่นถ้าขบวนการเชื่อเรื่องความเท่าเทียมก็จะสร้างสภาพแวดล้อมวิถีปฏิบัติที่คนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกกีดกันหรือกดข่มกันด้วยเชื้อชาติ วัย สถานะ เพศ ชนชั้น เป็นต้น

การมองเห็นระบบนิเวศของขบวนการทำให้เรารู้ว่ามีใครอยู่จุดไหนบ้างในขบวน และการตระหนักว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนจะทำให้เราหาจุดเชื่อมต่อกับเขา รวมทั้งก่อร่างสร้างขึ้นด้วยทัศนคติที่ว่าเราอยากอยู่ในขบวนการแบบไหนก็สร้างเนื้อดินที่จะหล่อเลี้ยงแบบนั้นขึ้นมา

Act Lab 

Activist Laboratory Thailand

ห้องทดลองนักกิจกรรม

พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมให้เก็บข้อมูลสถิติ

    เราเก็บข้อมูลสถิติซึ่งประกอบด้วย IP Address และอื่นๆ ตามที่ Google analytic เรียกดู

บันทึกการตั้งค่า