ออกแบบการเคลื่อนไหวเครือข่ายด้วยแนวคิดแพลตฟอร์ม

แพลตฟอร์ม (platform) เป็นไอเดียธุรกิจยุคใหม่ที่พลิกโฉมธุรกิจแบบเดิมโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในอุตสาหกรรมไอที บริษัทอันดับต้นๆ ในตลาดมือถืออย่างโนเกีย ผลิตสินค้าโทรศัพท์มือถือ ทำระบบปฏิบัติการดี ประชาสัมพันธ์ดี กระจายสินค้าไปยังร้านขายโทรศัพท์ บริษัทโฆษณาทั้งหลายตามมาด้วยร้านขายเคส ร้านซ่อมมือถือ ร้านสติกเกอร์ ร้านโหลดเสียงริงโทน ฯลฯ เหล่านี้คือส่วนเสริมโดยที่โนเกียก็ยังขายมือถือเป็นสินค้าหลัก

แต่เมื่อ Apple ทำระบบปฏิบัติการ OS ประกอบด้วย App Store กับ iTunes ขึ้นมา โดยมีไอโฟนเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อ หมายความว่าไม่สามารถใช้อุปกรณ์ได้ถ้าไม่มี OS แอปเปิลทําแค่ OS แต่ทําให้เกิดธุรกิจแวดล้อมมากมายทั้งธุรกิจขายเพลง ขายแอพ ขายเคส ฟิล์ม สาย แบตเตอรี่ คีย์บอร์ด ตามมาด้วยร้านซ่อม ร้านขาย ร้านมือสอง อุปกรณ์ ตกแต่ง รับลงโปรแกรม นักพัฒนาแอพพลิเคชัน/เกม นักแต่งเพลง ค่ายเพลง ฯลฯ เรียกได้ว่า Apple สร้างพื้นที่ธุรกิจแวดล้อมขึ้นมาไม่ได้ขายแต่ไอโฟน

เช่นเดียวกับ facebook, Airbnb, Lineman, Grab ต่างก็เป็นธุรกิจแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเด่นคือ

  • แพลตฟอร์มยิ่งแข็งแกร่งถ้าคนอื่นทำให้ หมายถึงธุรกิจแวดล้อมแตกแขนงและยืนได้ด้วยตัวเอง
  • ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของจุดเชื่อมต่อแต่ละจุด และสามารถร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่กลางได้
  • พื้นที่กลางเอื้ออำนวยให้จุดเชื่อมต่อสร้างสรรค์และประสานพลังให้เกิดพลังทวี

แนวคิดแพลตฟอร์มหรือชานชาลาอาจเปรียบได้กับภาพนี้

วงในสุดคือตลาดหรือพื้นที่กลางที่ให้คนสามารถสร้างสิ่งอื่นๆ ประกอบเข้ากับพื้นที่นี้ได้ ทำให้เกิดการต่อยอดหรือแตกแขนงกิจกรรมออกไป วงถัดมาคือจุดเชื่อมต่อหรือกิจกรรมเชื่อมต่อ ถัดไปคือกิจกรรมเสริม และวงนอกสุดคือกิจกรรมต่อเนื่องที่สืบเนื่องมา

กุญแจสำคัญของแพลตฟอร์มหรือชานชาลา คือพื้นที่ที่ทําให้เกิดการสร้างสรรค์ของทุกคน เราสร้างตลาด คนอื่นๆ สร้างเนื้อหา ทุกคนต่างออกมาทำกิจกรรมด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีบทบาทหน้าที่มีพลังในตัวเอง สามารถไปสร้างสรรค์ต่อยอดเองได้

การประยุกต์รูปแบบของธุรกิจมาใช้กับการเคลื่อนไหวทางสังคม คือจัดระบบสร้างพื้นท่ีให้มีช่องทางการเชื่อมต่ออย่างเหมาะสม พื้นที่กลางนั้นจะเกิดพลังต่อเนื่องที่คนมาเชื่อมต่อได้เองโดยใช้ความสามารถของตน ทุกคนจัดการตัวเองได้ เราเป็นแค่อุปกรณ์เชื่อมต่อซึ่งจะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อเชื่อมกับส่วนอื่นๆ ได้

ตัวอย่างขบวนการออคคิวพายวอลล์สตรีทในสหรัฐอเมริกาที่เฟื่องฟูในปี 2554 กลุ่มผู้ประท้วงเข้าไปยึดครองพื้นที่ใจกลางย่านธุรกิจการเงินพร้อมสโลแกน “เราคือคน 99%” ที่ถูกเอาเปรียบจากคนมั่งคั่งเพียง 1% เพื่อประท้วงความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ขบวนการไม่มีผู้นําไร้หัวขบวน ไม่มีข้อเรียกร้องชัดเจนแต่กลับขยายตัวอย่างรวดเร็วไปยังหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก

วงในสุดคือสโลแกน We are the 99% จุดเชื่อมต่อคือการเข้าไปยึดพื้นที่ในนามขบวนการ Occupy เช่น Occupy Seattle, Occupy Sydney, Occupy London ฯลฯ ผู้คนออกไปรวมตัวกันยึดครองใจกลางเมืองใหญ่และสร้างสรรค์กิจกรรมขึ้นเอง มีการถกเถียงพูดคุยเรื่องความเหลื่อมล้ำนโยบายเศรษฐกิจ และแสวงหาทางออกเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นการเคลื่อนไหวแบบเดิมมีผู้นำคอยกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวหรือมีเจ้าภาพแล้วชวนคนมาเข้าร่วม รวมศูนย์ที่ส่วนกลาง หรือกระจัดกระจายไร้แกนนำแต่การเคลื่อนไหวแบบสร้างแพลตฟอร์มคือการหาจุดเชื่อมต่อโดยที่เราคือคนดูแลตลาดนัด เราทำตลาดให้คนเข้ามาออกแบบกิจกรรมเองเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ดังนั้นสิ่งที่พึงทำในการออกแบบการเคลื่อนไหวเครือข่ายด้วยแนวคิดแพลตฟอร์มคือ ออกแบบระบบตลาดและหาจุดเชื่อมต่อเข้าตลาด โดยที่การเป็นจุดเชื่อมต่อไม่ได้หมายความว่าเราไปเปลี่ยนแปลงหรือสั่งสอนคนอื่น ถ้าจุดเชื่อมต่อทำงานแต่ละคนก็จะจัดการตัวเองได้

ลองมาช่วยกันออกแบบและจัดการตลาดด้วยกัน จากนั้นออกไปเป็นจุดเชื่อมต่อไปเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ กลุ่ม/องค์กร/เครือข่ายอื่นๆ กลับมาถอดบทเรียนเพื่อออกแบบตลาดให้ดียิ่งขึ้น นี่คือการออกแบบการเคลื่อนไหวเครือข่ายด้วยแนวคิดแพลตฟอร์มที่จะสร้างพลังให้ขบวนการประชาชนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

Act Lab 

Activist Laboratory Thailand

ห้องทดลองนักกิจกรรม

พื้นที่ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางสังคม