ม็อบแผ่ว แกนนำถูกจับ คนน้อย
จุดไม่ติด สื่อไม่เล่นด้วย ด่ากันเอง
ฯลฯ
ช่วงนี้สถานการณ์น่าหดหู่จนต้องปลอบใจตัวเองว่าอย่างน้อยยังมีเราคนหนึ่งที่ออกมาสู้ไม่หยุดแหละวะอย่าพึ่งถอดใจม็อบก็มีวงจรชีวิตของมัน มีขึ้นมีลงกว่าจะคว้าชัยมาได้ลองช่วยกันดูว่าตอนนี้เราอยู่ขั้นไหนแล้ว และแต่ละขั้นเราจำเป็นต้องทุ่มสรรพกำลังไปกับงานแบบไหน บิล โมเยอร์ ได้ศึกษาวิเคราะห์ขบวนการเคลื่อนไหวทั่วโลกออกมาเป็น “แผนปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางสังคม” (Movement Action Plan: MAP) (https://www.indybay.org/olduploads/movement_action_plan.pdf) ซึ่งเสนอ 8 ขั้นตอนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่สัมพันธ์กับสาธารณชนและบทบาทของคน 4 กลุ่มว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในแต่ละจังหวะก้าวอย่างไร
วิวัฒนาการ 8 ขั้นของแบบจำลองขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวหรือนักปฏิบัติการ 4 แบบในแต่ละขั้นนี้จะช่วยให้เราคาดคะเนและวางแผนรณรงค์ระยะยาวได้ เริ่มตั้งแต่การท้าทายอำนาจ สั่งสมกำลัง ฉลองความสำเร็จเป็นช่วงๆ เป็นต้นเมื่อคิดว่าจะแพ้ให้ดูแผนที่
ขั้นที่ 1. สภาวะปกติ
คนยังไม่ตระหนักถึงปัญหาและมีไม่ถึง 15% ที่ต้องการเปลี่ยนนโยบาย เพราะยังเชื่อว่าระบบแก้ปัญหาได้และยังไม่รู้สึกถึงอำนาจตัวเอง
การเคลื่อนไหวขั้นนี้จะเน้นเจรจาผ่านสถาบันทางการต่างๆ จัดตั้งกลุ่มรณรงค์ จัดชุมนุมเล็กๆ คาดหวังความสำเร็จต่ำและไม่ค่อยมีพลัง
สิ่งที่ควรทำคือ จัดตั้งองค์กร สร้างวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
บทบาทที่เด่นชัด พลเมืองและนักจัดตั้ง
สิ่งที่ควรระวังคือ การเชื่อว่าระบบเดิมจะแก้ปัญหาได้ และความรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจน้อย
จุดเปลี่ยน คนเริ่มตระหนักว่าการเคลื่อนไหวผ่านระบบและการรณรงค์แบบเดิมไม่มีพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ประชาชนควรออกมาต่อสู้กับระบบด้วยตนเอง
ขั้นที่ 2. เห็นความล้มเหลวของระบบ
คนเริ่มเห็นว่าระบบเป็นปัญหาหรือแก้ปัญหาไม่ได้ คนรุ่นใหม่เริ่มออกมาเคลื่อนไหว
เกิดการตรวจสอบการทำงานของสถาบันหรือช่องทางที่เกื้อหนุนสถาบันอยู่ ขั้นนี้ยังเน้นให้ความสำคัญกับการใช้กลไกทางการเพื่อเผยแพร่ข้อมูลปัญหา กลุ่มรุ่นใหม่เริ่มเติบโตและทำงานร่วมกับกลุ่มรุ่นเก่าได้ คนส่วนใหญ่ยังคงไม่ตระหนักถึงปัญหา
ขั้นนี้เป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจะไม่เกิดขึ้นตราบที่ประชาชนยังเชื่อมั่นในช่องทางแก้ปัญหาที่มีอยู่
สิ่งที่ควรทําในขั้นนี้คือ ตรวจสอบและเผยแพร่ความผิดพลาดของสถาบันทางการและกลุ่มอำนาจในสังคม ทำวิจัย ฟ้องร้อง ยื่นหนังสือ ยื่นกระทู้ ยื่นญัตติ เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายและทางจริยธรรม ทั้งยังเกิดองค์กร ผู้นำ ความรู้ความชำนาญที่ตรงข้ามกับรัฐ
บทบาทที่เด่นชัดในช่วงนี้คือ นักปฏิรูป และ พลเมือง
จุดเปลี่ยนสู่ขั้นต่อไปเกิดขึ้นเมื่อคนเริ่มตระหนักว่ากลุ่มอำนาจและสถาบันหรือองค์กรสาธารณะกลับละเมิดสิทธิของประชาชนเสียเอง และการเมืองในระบบสภาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
ขั้นที่ 3. เงื่อนไขสุกงอม การให้ความรู้และการจัดตั้งเริ่มได้ที่
คนสนใจมากขึ้น เกิดกลุ่มใหม่ๆ มีการเคลื่อนไหวในทุกพื้นที่อย่างกว้างขวาง คนร้อยละ 20-30 เริ่มเห็นด้วยว่ามีปัญหาหรือความอยุติธรรมเกิดขึ้น
การเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วมาก เนื่องจากคนจำนวนมากที่ก่อนหน้านี้ไม่คิดจะฟังเริ่มหันมาสนใจมากขึ้น ผู้คนเติบโต ขยายกลุ่ม ทวีจำนวนมากขึ้น มีปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ชุมชนที่เข้าใจประเด็นปัญหาเข้าร่วมการเคลื่อนไหว และเกิดเครือข่ายหลวมๆ ระหว่างกลุ่มที่มีมวลชน
ขั้นตอนนี้อาจสั้นหรือยาว แต่การเผยแพร่กว้างขวางอย่างสม่ำเสมอโดยผ่านการให้ความรู้และการจัดตั้งกลุ่มใหม่ๆ เป็นเงื่อนไขจำเป็นต่อการเปิดตัวขบวนการอย่างเต็มที่
ระหว่างนี้กลุ่มอำนาจหรือสถาบันทางการจะยังรู้สึกปลอดภัย ยังนำเสนอนโยบายตัวเอง และสามารถควบคุมอำนาจการตัดสินใจไว้ได้
สิ่งที่ควรทําในขั้นนี้ คือ เน้นจัดการศึกษา เชื่อมร้อยเครือข่าย เตรียมคนเพื่อการเคลื่อนไหว ปฏิบัติการกลุ่มย่อย ทำให้คนเห็นเหยื่อของระบบมากขึ้น
บทบาทที่เด่นชัดในขั้นนี้คือ พลเมือง นักปฏิรูป และขบถ
จุดเปลี่ยนสู่ขั้นต่อไปเกิดขึ้นเมื่อประชาชนเริ่มไม่พอใจปัญหาและระบบโครงสร้าง ซึ่งนำไปสู่จุดแตกหักหรือรอคอยเหตุการณ์ปะทุ
ขั้นที่ 4. ทะยาน ช่วงขาขึ้นอย่างเต็มที่
มักเกิดจากเหตุการณ์ที่ทําให้คนสนใจในวงกว้าง คนจำนวนมากจะเข้าร่วมขบวน ช่วงนี้มักเกิดการจัดตั้งแนวร่วมขนาดใหญ่ขึ้น คนดังจะทยอยเข้าร่วมการเคลื่อนไหว บรรดาผู้กุมอำนาจอาจรู้สึกตกใจกับแรงต่อต้านอย่างใหม่และการโหมประโคมข่าวของสื่อมวลชน จึงพยายามดิสเครดิตขบวนการ
ในขั้นนี้จำเป็นต้องมีฐานมาจากขั้นที่ 2 และ 3 คือมีการให้ความรู้ ทำงานจัดตั้ง และท้าทายช่องทางที่มีอยู่ นั่นคือเหตุการณ์หนึ่งจะจุดชนวนสถานการณ์ขึ้นมาได้ต่อเมื่อขบวนการได้ทำการบ้านมาก่อนหน้านั้นแล้ว
นักกิจกรรมมักจะหวังได้ชัยชนะอย่างรวดเร็วในขั้นนี้จึงโหมทำงานอย่างหนัก การประชุมอย่างเผ็ดร้อนและยาวนานเกิดขึ้นโดยมีคนใหม่ๆ มาเข้าร่วมและพยายามจะตัดสินใจโดยไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ขั้นตอนที่จำเป็นขึ้นมาก่อน ประเด็นปัญหาถูกมองอย่างแยกขาดจากประเด็นปัญหาอื่นๆ
สิ่งที่ควรทําคือ เดินขบวนใหญ่ ชุมนุมในหลายๆ พื้นที่ การดื้อแพ่ง ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า สร้างและประสานให้เกิดขบวนการจากระดับรากหญ้าขึ้นมา และเพื่อชนะใจสาธารณชน ด้วยการโยงข้อเรียกร้องของขบวนการเข้ากับคุณค่าที่สังคมยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น เสรีภาพ ความยุติธรรม หรือประชาธิปไตย ในขั้นนี้จะพบว่าสาธารณชนตระหนักถึงปัญหามากขึ้น ผู้ต่อต้านนโยบายเพิ่มจำนวนเป็น 40-60%
บทบาทที่เด่นชัด การเคลื่อนไหวในขั้นนี้มักกระทำโดยขบถที่มีประสิทธิภาพ
หลุมพรางกับดัก คือการคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีแนวคิดที่ไม่เป็นระบบ วิธีคิดแบบตัดสิน มีภาพลักษณ์หัวรุนแรง มองปัญหาแบบแยกส่วน ปกติขั้นนี้จะกินเวลานาน 2 ปี
จุดเปลี่ยนคือ นักกิจกรรมเห็นข้อจำกัดของการประท้วงที่ทำอยู่ เริ่มหมดหวังแล้วเคลื่อนไปสู่ขั้นที่ 5 คือ เข้าใจว่าล้มเหลว
ขั้นที่ 5. รับรู้ความล้มเหลว
ในขั้นนี้ขบถและพลเมืองที่คาดหวังว่าการเคลื่อนไหวจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วแต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้หลายๆ คนสิ้นหวังและออกจากขบวนไปอย่างน่าเสียดาย
นักกิจกรรมจำนวนมากเชื่อว่าการเคลื่อนไหวล้มเหลว จำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงน้อยลง สื่อรายงานข่าวน้อยลง และยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายใดๆ ผู้กุมอำนาจจะตราหน้าว่าล้มเหลว สื่อหันมาทำข่าวความแตกแยกในขบวนแทน โดยเฉพาะกิจกรรมที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชน
สาธารณชนทั่วไปจะรู้สึกกลัว ไม่ไว้ใจปฏิบัติการของขบวนการนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้มีอำนาจต้องการ คือทำให้การเคลื่อนไหวล้มเหลว ทำให้ภาพลักษณ์เสื่อมเสีย โดยเน้นเรื่องความรุนแรง
สิ่งที่ควรทําในขั้นนี้คือ จำแนกให้เห็นความสำเร็จที่ผ่านมา ปฏิเสธการก่อการเชิงลบ จินตนาการภาพการเคลื่อนไหวที่ประสบความสําเร็จขึ้นใหม่ ซอยเป้าหมายให้เล็กลง
บทบาทที่เด่นชัดในขั้นนี้คือ พลเมือง และขบถ
สิ่งที่ควรระวังคือการไม่สามารถจินตนาการภาพการเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จได้ การรู้สึกสิ้นหวังเมื่อตื่นจากฝันแล้วเผชิญสภาพความเป็นจริง บางกลุ่มจะเริ่มปฏิบัติการด้วยความโกรธและความรุนแรง หรือกลายเป็นกลุ่มปฏิกิริยากับสังคมอย่างถาวรอันนำไปสู่ความแปลกแยกและไร้ประสิทธิภาพ
ขั้นที่ 6. ชนะใจคนส่วนใหญ่
ขบวนการเปลี่ยนจากการประท้วงเฉพาะหน้าสู่การต่อสู้ในระยะยาว โดยมุ่งไปที่ชนะใจมหาชน เกิดกลุ่มใหม่ๆ หลายกลุ่ม รวมเอาคนที่ไม่ได้มีบทบาทเคลื่อนไหวมาก่อนไว้ด้วย ประเด็นปัญหาจะเริ่มถูกหยิบยกมาปราศรัยในการหาเสียงเลือกตั้ง และผู้สมัครบางคนได้รับเลือกเข้ามาจากฐานของประชาชนส่วนนี้
ในขั้นนี้ประชาชนร้อยละ 60-75 เริ่มเห็นด้วยว่าต้องเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะพิจารณาทางเลือกใหม่ๆ
บทบาทที่เด่นชัดในช่วงนี้คือนักจัดตั้ง ซึ่งจะเคลื่อนไหวด้วยการวิเคราะห์ที่หลากหลาย มีแนวคิดพหุนิยม แสวงหาแนวร่วม จึงเอื้อให้เกิดกลุ่มใหม่ๆ จำนวนมาก รวมทั้งกลุ่มกระแสหลักที่ไม่ได้มีแนวคิดตรงกันเสียทีเดียว
สิ่งที่ควรทําในขั้นนี้คือรักษาประเด็นและข้อเสนอให้อยู่ในวาระสังคมและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
สิ่งที่ควรระวังคือองค์กรระดับชาติและผู้ปฏิบัติการครอบงำการเคลื่อนไหวโดยตัดมวลชนรากหญ้าออกไปจากขบวน ไม่ก็นักปฏิรูปอาจประนีประนอมกับระบบมากเกินไป ตลอดจนผู้กุมอำนาจโฆษณาการปฏิรูปจอมปลอม และสร้างวิกฤตการณ์เพื่อขู่ขวัญประชาชน
ขั้นที่ 7. ผลักดันทางเลือกจนสำเร็จ
ขบวนการเปลี่ยนจากการประท้วงเฉพาะหน้าสู่การต่อสู้ในระยะยาว โดยมุ่งไปที่ชนะใจมหาชน เกิดกลุ่มใหม่ๆ หลายกลุ่ม รวมเอาคนที่ไม่ได้มีบทบาทเคลื่อนไหวมาก่อนไว้ด้วย ประเด็นปัญหาจะเริ่มถูกหยิบยกมาปราศรัยในการหาเสียงเลือกตั้ง และผู้สมัครบางคนได้รับเลือกเข้ามาจากฐานของประชาชนส่วนนี้
ในขั้นนี้ประชาชนร้อยละ 60-75 เริ่มเห็นด้วยว่าต้องเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะพิจารณาทางเลือกใหม่ๆ
บทบาทที่เด่นชัดในช่วงนี้คือนักจัดตั้ง ซึ่งจะเคลื่อนไหวด้วยการวิเคราะห์ที่หลากหลาย มีแนวคิดพหุนิยม แสวงหาแนวร่วม จึงเอื้อให้เกิดกลุ่มใหม่ๆ จำนวนมาก รวมทั้งกลุ่มกระแสหลักที่ไม่ได้มีแนวคิดตรงกันเสียทีเดียว
สิ่งที่ควรทําในขั้นนี้คือรักษาประเด็นและข้อเสนอให้อยู่ในวาระสังคมและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
สิ่งที่ควรระวังคือองค์กรระดับชาติและผู้ปฏิบัติการครอบงำการเคลื่อนไหวโดยตัดมวลชนรากหญ้าออกไปจากขบวน ไม่ก็นักปฏิรูปอาจประนีประนอมกับระบบมากเกินไป ตลอดจนผู้กุมอำนาจโฆษณาการปฏิรูปจอมปลอม และสร้างวิกฤตการณ์เพื่อขู่ขวัญประชาชน
ขั้นที่ 8. ขยายผล กระชับองค์กร เดินหน้าต่อ
ทำให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนกรอบวัฒนธรรมของสังคม รักษาและขยายผลความสำเร็จ เป็นเมล็ดพันธุ์บ่มเพาะต่อยอดขบวนการทางสังคมอื่นๆ
บทบาทที่เด่นชัดในขั้นนี้คือนักปฏิรูป ซึ่งจะคอยติดตามขยายผลความสำเร็จ มีการสร้างองค์กรรากหญ้าและเสริมพลังมวลชนอย่างต่อเนื่อง มีการหนุนเสริมประเด็นอื่นๆ ขับเคลื่อนกระบวนทัศน์ใหม่ๆ
ฝ่ายผู้กุมอำนาจก็อาจเริ่มปรับนโยบายและเงื่อนไขต่างๆ ของตนเสียใหม่ และมักจะอ้างเอาความสำเร็จของขบวนการมาเป็นของตัว ขณะเดียวกันก็อาจไม่ทำตามข้อตกลงที่ได้รับปากไว้ ไม่ยอมแก้ไขกฎหมายอย่างจริงจัง หรือทำให้ผลที่ควรได้รับจากโครงสร้างใหม่อ่อนแอลงด้วยการแต่งตั้งผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเข้าไปดำรงตำแหน่ง
ข้อควรระวังในขั้นนี้คือการละเลยการเปลี่ยนแปลงในระดับสถาบันโดยสมบูรณ์ พอใจเพียงการปฏิรูปขนาดเล็ก ล้มเหลวในการควบคุม ตรวจสอบติดตามผล นักเคลื่อนไหวบางส่วนออกจากขบวนการ
เมื่อรู้วิวัฒนาการ 8 ขั้นนี้แล้วลองมาช่วยกันวิเคราะห์ว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยทุกวันนี้ดำเนินมาถึงขั้นไหนแล้ว อย่าลืม เมื่อคิดว่าจะแพ้ให้กลับมาดูแผนที่ เราชนะแน่!