คู่มือรับมือการถูกคุกคามที่บ้าน

เรียบเรียงโดย ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์


หลังรัฐประหาร 2557 เจ้าหน้าที่รัฐปรับรูปแบบการกดดันนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวโดยติดตามไปถึงบ้าน ทั้งบ้านเกิดภูมิลำเนาทั้งที่อยู่ปัจจุบัน เพื่อกดดันครอบครัวพ่อแม่ญาติพี่น้องและบีบให้นักกิจกรรมหยุดเคลื่อนไหว งานชิ้นนี้จะช่วยให้นักกิจกรรมรู้วิธีรับมือเมื่อเผชิญเหตุเหล่านี้


เป้าหมาย

นักกิจกรรมรู้เท่าทันและสามารถรับมือกับการถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามที่บ้านในเบื้องต้นได้ 

แนวคิด

เปิดโปงพฤติกรรมการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ และยืนยันสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุม ภายใต้รัฐธรรมนูญที่รับรองไว้ และตามกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)

ตัวอย่างพฤติกรรมการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ
และสิ่งที่เราพอจะรับมือได้เบื้องต้น

เมื่อเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้านหรือกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามโดยตรงหรือคุกคามที่บ้าน

  1. ให้ถามชื่อ-สกุล ยศ ตำแหน่ง สังกัด ขอดูบัตรเจ้าหน้าที่เพื่อแสดงตัวตนทุกครั้ง 
  2. ถ่ายรูป หรืออัดวิดีโอขณะพูดคุย หรือไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ทุกครั้ง
  3. หลังจากเจ้าหน้าที่กลับแล้วให้เขียนบันทึกเหตุการณ์ข้อเท็จจริงของตัวเอง 
  4. ถ้าเป็นไปได้ควรแจ้งนักข่าว หรือองค์กรสิทธิเพื่อบันทึกข้อมูลที่เกิดขึ้น เพื่อรายงานต่อสาธารณะ และเพื่อให้สังคมช่วยจับตา

บันทึกเหตุการณ์/ข้อเท็จจริง

ข้อสังเกตและข้อมูลที่ต้องบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์

  1. ระบุวันเดือนปี ขณะเกิดเหตุ 
  2. เวลาที่เจ้าหน้าที่มาถึง ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุยด้วย และเวลาที่เจ้าหน้าที่กลับ
  3. เจ้าหน้าที่มากี่คน ในเครื่องแบบที่คน นอกเครื่องแบบกี่คน ขอเบอร์โทรเจ้าหน้าที่เพื่อเช็กข้อมูลเพิ่มเติมภายหลัง
  4. สถานที่เกิดเหตุ
  5. ยานพาหนะของเจ้าหน้าที่เป็นพาหนะแบบไหน ประเภทรถ ยี่ห้อรถ สีรถ มีทะเบียนไหม ถ้ามีข้างหน้ากับข้างหลังติดทะเบียนเหมือนกันไหม กระจกดำไหม มีสัญลักษณ์อะไรติดหรือไม่
  6. เจ้าหน้าที่มาด้วยเรื่องหรือเหตุผลอะไร
  7. เจ้าหน้าที่แสดงตัวพร้อมเอกสารหรือไม่ หากมี เอกสารนั้นคือเอกสารอะไร (ถ่ายรูปเอกสารไว้)
  8. เจ้าหน้าที่พกอาวุธมาหรือไม่ หากมีอาวุธ อาวุธนั้นคืออะไร

เมื่อเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านของนักกิจกรรมและถามครอบครัวว่าลูกท่าน “อยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ มีเบอร์ไหม ช่วงนี้เคลื่อนไหวไหม เคลื่อนไหวที่ไหน”

เรามีสิทธิที่จะให้ข้อมูลหรือไม่ให้ก็ได้เพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล นักกิจกรรมอาจจะใช้วิธีอธิบายกับครอบครัวของตัวเอง หรือแจ้งครอบครัวถึงหลักการว่า “เรามีสิทธิที่จะให้ข้อมูลหรือไม่ให้ก็ได้เพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล” เพื่อให้ครอบครัวใช้รับมือกับเจ้าหน้าที่

เมื่อนักกิจกรรมถูกถ่ายรูป หรือถูกถ่ายรูปหน้าบ้าน ถ่ายรูปสมาชิกในครอบครัวหรือถ่ายวิดีโอขณะพูดคุย

  1. แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าไม่อนุญาติให้ถ่ายรูปหรืออัดวิดีโอ หรือมีสิทธิที่จะขอให้เจ้าหน้าที่ลบรูปเราได้
  2. และในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตีเนียนไม่ยอมหยุดถ่ายให้ถ่ายรูปหรือวิดีโอกลับ หรือไลฟ์รายงานสถานการณ์ โดยให้ถ่ายให้เห็นบรรยากาศโดยรวมให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นหลักฐาน (**หากเป็นไปได้ให้ถ่ายรูปแนวนอน เนื่องจากจะสามารถส่งให้นักข่าวนำไปทำข่าวต่อได้ทันที**)

หากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะขอค้นบ้าน

  1. มีหมายศาลหรือไม่ ถ้าไม่มีหมายจับ ไม่มีหมายค้น และไม่มีการระบุเหตุผลที่ชัดเจนว่า กำลังดำเนินการใดๆ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าไม่สามารถเข้าค้นบ้านได้ หากจะค้นต้องมีหมายศาลก่อน หรือเมื่อมีความผิดซึ่งหน้ากระทำลงในที่รโหฐาน หรือมีเสียงร้องให้ช่วย หรือมีเสียง หรือมีพฤติการณ์อื่นใดแสดงว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐาน เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐาน โดยไม่มีหมายค้น หรือคำสั่งของศาล 

ดังนั้น เรามีสิทธิที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาในบริเวณบ้าน หรือมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่พูดคุยด้วยก็ได้  เพราะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบ้านตามภูมิลำเนาหรือบ้านเช่าก็ตาม และการปฏิเสธดังกล่าวไม่มีความผิดต่อกฎหมายใด จากนั้น รีบโทรหาเพื่อนให้มาอยู่ด้วย และรีบโทรแจ้งทนายทันที

  1. ไลฟ์รายงานสถานการณ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ  โดยให้ถ่ายให้เห็นบรรยากาศโดยรวมให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นหลักฐานและ พยายามตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นกับเจ้าหน้าที่ เช่น มาค้นบ้านทำไม มีหมายไหม มาจากสังกัดไหนบ้าง ใช้อำนาจอะไรมาค้น และแพนกล้องไปที่ตัวเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะหัวหน้าตำรวจ ทหาร หรือผู้นำทีมมาตรวจค้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตอบคำถามต่อสาธารณะ และเพื่อสังคมช่วยจับตา
  • ในกรณีที่ไม่สามารถไลฟ์รายงานสถานการณ์ได้ ให้ถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอสิ่งที่เกิดขึ้นไว้เป็นหลักฐาน
  • ในกรณีที่มีหมายเรายืนยันว่าการตรวจค้นต้องทำต่อหน้าเจ้าของบ้าน และควรนำคนใกล้ชิดมาเป็นพยาน และต้องค้นในเวลากลางวันเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ขอถ่ายบัตรประชาชน

  • ตามกฎหมายตำรวจสามารถขอดูบัตรประชาชนของเราได้และเราให้ดูได้เพื่อยืนยันตัวตน แต่ตำรวจไม่มีสิทธิถ่ายรูปบัตรประชาชนโดยพลการ โดยไม่มีเหตุสงสัยตามสมควร เช่นพกอาวุธ และไม่แจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ดำเนินคดี กรณีนี้จะถือว่าเป็นการยึดเอาบัตรประชาชนไว้โดยลุแก่อำนาจ และมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้เป็นเจ้าของบัตรได้รับความเดือดร้อนเสียหาย การกระทำของเจ้าพนักงานหรือตำรวจจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นเจ้าของบัตร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 

ดังนั้น เรามีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ให้ดูบัตรประชาชนได้ถ้าตำรวจยศน้อยกว่าร้อยตำรวจตรี และเรามีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ให้ถ่ายบัตรประชาชนได้

เจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจบัตรประชาชนในที่ชุมนุม

  • เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิตรวจบัตรผู้ชุมนุมเพราะเสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จะทำได้เมื่อ “มีเหตุ” เท่านั้น เช่น ผู้ชุมนุมพกอาวุธ  ดังนั้นผู้ชุมนุมไม่จำเป็นต้องแสดงบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ดู เพราะการเก็บข้อมูลในบัตรประชาชนสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปสู่การคุกคามอื่นๆ ในอนาคต

ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ที่สามารถขอดูบัตรประชาชนได้

ตามความในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” ที่เป็นตำรวจสามารถขอตรวจบัตรประชาชนในพื้นที่ทั่วไปได้ ต้องเป็นตำรวจยศตั้งแต่ ร้อยตำรวจตรี ขึ้นไป เท่านั้น ส่วนตำรวจชั้นประทวนจะขอดูบัตรประชาชนได้ต้องอยู่ที่ด่านตรวจที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

เพราะฉะนั้นหากถูกขอตรวจบัตรประชาชน เราสามารถขอดูบัตรประจำตัวตำรวจว่าเป็นตำรวจจริงหรือไม่ และมียศระดับร้อยตำรวจตรีขึ้นไปหรือไม่ โดยเฉพาะตำรวจนอกเครื่องแบบ

เมื่อเจ้าหน้าที่ขู่ว่าไม่อยากให้เคลื่อนไหวเพราะอาจถูกดำเนินคดี 

  • ให้ยืนยันสิทธิว่าประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงออกและชุมนุมได้ตามกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญรับรองไว้

หากเจ้าหน้าที่ใช้วิธีให้เซ็น MOU หรือเอกสารเพื่อให้หยุดเคลื่อนไหว

  • เรามีสิทธิที่จะไม่เซ็นเอกสารนั้น หากเราไม่เห็นด้วยหรือไม่ยอมรับเงื่อนไข เพราะการไม่เซ็น Mou ก็จะไม่มีผลต่อเรา หรือหากไม่มั่นใจให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า ขอปรึกษากับทนายที่ไว้วางใจก่อน

หากถูกเจ้าหน้าที่เชิญไปดื่มกาแฟนอกสถานที่ หรือเจ้าหน้าที่แจ้งว่าขอนัด หรือถูกเชิญขึ้นรถ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม หรือเรื่องอื่นๆ 

  • เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิมาหา หรือเชิญใครไปพูดคุย โดยไม่มีหมาย ดังนั้นเรามีสิทธิที่จะปฏิเสธการไปดื่มกาแฟ
  • ให้โทรหาผู้ไว้วางใจ เช่น เพื่อนหรือญาติ หรือโทรหาทนาย หรือแจ้งองค์กรสิทธิทันที เพื่อให้มีคนรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา 
  • ในกรณีที่ตัดสินใจไปดื่มกาแฟ เราไม่ควรขึ้นรถไปคันเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ ควรขึ้นรถไปคนละคันและต้องมีเพื่อนหรือทนายไปด้วยเพื่อเป็นพยานว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง 
  • เรามีสิทธิจะไม่ให้การใดๆ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะพยายามถามก็ตาม หรือพูดคุยได้เท่าที่เราอยากพูด เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้เราพูดหรือให้การใดๆ ได้  และหากถูกเจ้าหน้าที่ขู่หรือบังคับให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า “จะให้การก็ต่อเมื่อมีทนายที่เราไว้วางใจอยู่ด้วยเท่านั้น”
  • ในกรณีที่เมื่อถูกควบคุมตัวแล้วเจ้าหน้าที่หาทนายมาให้เพื่อให้ครบองค์ประกอบ เรามีสิทธิที่จะปฏิเสธทนายที่เราไม่ไว้วางใจได้ และยืนยันว่าจะให้การได้ก็ต่อเมื่อทนายที่เราติดต่อไว้หรือทนายที่เราไว้ใจมา
  • และเรามีสิทธิที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่มาค้นหรือถือหรือยึดมือถือก็ได้ ถ้าไม่มีหมายศาล

หลังเหตุการณ์ถูกคุกคาม

  • ให้ติดต่อองค์กรสิทธิฯ (เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) เพื่อบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น และเปิดเผยข้อมูลที่เกิดขึ้นเพื่อบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์​ เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร แล้วส่งผลอย่างไร และเขียนวันเดือนปี เวลา ที่เกิดเหตุการณ์  ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ หรือให้ข้อมูลกับนักข่าว หรืออื่นๆ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
(THAI LAWYERS FOR HUMAN RIGHTS CENTER)

โทร/hotline: 092-2713172 หรือ 096-7893173

https://web.facebook.com/lawyercenter2014

  • กรณีที่นักข่าวจะเขียนรายงานสถานการณ์ หากเรากังวลเรื่องความปลอดภัยที่จะตามมา เราสามารถแจ้งนักข่าวได้ว่าขอให้เปิดเผยข้อมูลเพียงบางส่วน หรือเราสามรถขอให้นักข่าวปกปิดชื่อ นามสกุลและใช้นามสมมุติแทนได้ 

สิ่งที่ควรทำ ในกรณีที่ถูกคุกคามโดยตรงต้องตั้งสติเพื่อแก้ไขสถานการณ์ตรงหน้า และหากอยู่คนเดียวให้โทรหาเพื่อนทันทีเพื่อให้มีคนอยู่ด้วยหรือให้โทรแจ้งทนายทันที 

สิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ควรเซ็น MOU หรือเอกสารต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่บอกให้เซ็นหากไม่มั่นใจหรือหากยังไม่ได้อ่านรายละเอียดอย่างชัดเจนเพราะเรามีสิทธิที่จะไม่เซ็น 

หมายเหตุ : นักกิจกรรมควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกและการชุมนุมเพื่อใช้ในการโต้แย้งเจ้าหน้าที่ได้ หากเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่อ้างข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ตัวอย่างการถูกคุกคามที่บ้านและการรับมือของนักกิจกรรม

กลุ่มเป้าหมายที่ถูกติดตาม:  หลังรัฐประหาร 2557 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปที่บ้านส่วนใหญ่มักเป็นนักกิจกรรมและคนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลุ่มดาวดินเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามติดตามตัวหลังจากออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารจนนำไปสู่การถูกดำเนินคดีในข้อหาขัดขืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 “ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5  คนขึ้นไป” และคดีอื่นๆ

เจ้าหน้าที่ผู้ติดตาม: มีทั้งในและนอกเครื่องแบบ ทั้งทหารและตำรวจ

ลักษณะการติดตาม:  เจ้าหน้าที่จะไปหาผู้นำหมู่บ้านก่อน เช่น เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน อสม. อบต. หรือประชาชนในหมู่บ้าน ด้วยการนำชื่อหรือรูปไปถามหาในหมู่บ้าน เว้นแต่เจ้าหน้าที่รู้จักบ้านอยู่แล้วก็จะมุ่งเป้าไปที่บ้านของนักกิจกรรมคนนั้นโดยตรง

ท่าทีของเจ้าหน้าที่ในการติดตาม:  ภานุพงศ์ ศรีธนานุวุฒน์ หรือไนท์ดาวดิน กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ที่มาติดตามที่บ้านมีท่าทีเป็นมิตรในการถามว่า “ไนท์อยู่ไหน ทำอะไรอยู่” แต่ก็มีการข่มขู่ว่า “อย่าเพิ่งเคลื่อนไหวให้ดูการทำงานของ คสช. ไปก่อนเดี๋ยวจะเรียนไม่จบ”

ในช่วงที่ภานุพงศ์ไม่อยู่บ้านเจ้าหน้าที่จะถามครอบครัวของเขาเรื่องคดีความทางการเมือง เช่น “ไนท์เคลื่อนไหวอะไรบ้าง ตอนนี้มีคดีความอยู่ศาลนัดสืบพยาน ช่วงนี้ไนท์ไปชุมนุมไหม มีเบอร์ไนท์ไหม” ทั้งที่ครอบครัวของเขารู้เรื่องคดีและการเคลื่อนไหวของเขาอยู่แล้วจึงไม่มีความจำเป็นเลยที่เจ้าหน้าที่จะต้องมาติดตามและพูดเรื่องคดีความที่บ้านอีก เนื่องจากมีใบนัดคดีความที่ชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นการมาบ้านและพูดถึงคดีความของเขาต่อครอบครัวสื่อให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องการข่มขู่เพื่อให้ครอบครัวเกิดความกังวลต่อการเคลื่อนไหวของเขา

พฤติกรรมการคุกคามของเจ้าหน้าที่:  นอกจากการข่มขู่ครอบครัวแล้วเจ้าหน้าที่ยังมีพฤติกรรมนำรูปถ่ายหรือชื่อของนักกิจกรรมไปถามหากับคนในชุมชน การมาหาที่บ้านเพื่อสอบถามเรื่องการใช้ชีวิต นิสัย การเรียนหรือการเคลื่อนไหว ใช้คำพูดเชิงข่มขู่ว่า“ไม่เคลื่อนไหวได้ไหมช่วงนี้ ถ้าเคลื่อนไหวอาจถูกดำเนินคดี” “ถ้าเคลื่อนไหวเดี๋ยวเรียนไม่จบ จบแล้วหางานยากไม่มีงานทำ” รวมถึงมีการถ่ายรูปหน้าบ้าน ถ่ายรูปสมาชิกในครอบครัว อัดวิดีโอในการพูดคุยและขอเบอร์โทร บ่อยๆ

ความรู้สึกต่อการถูกคุกคาม: ภานุพงศ์เล่าว่าในช่วงแรกๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ติดตามไปที่บ้าน เขาทราบเรื่องจากครอบครัวที่โทรมาบอกว่ามีเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้าน และครอบครัวถามเขาว่าไปทำอะไรมา ทำให้ครอบครัวตกใจที่เห็นตำรวจและทหารมาหาที่บ้าน รวมถึงครอบครัวเกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับเรื่องคดีที่อาจจะเกิดขึ้น 

ด้านความรู้สึกของภานุพงศ์ เขาไม่ได้รู้สึกกลัว แต่รู้สึกโกรธที่เจ้าหน้าที่ติดตามไปที่บ้าน เนื่องจากเป็นห่วงความรู้สึกของครอบครัวรวมถึงเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของครอบครัว

การรับมือกับการถูกคุกคามที่บ้าน

ในกรณีถูกเจ้าหน้าที่ติดตามหรือคุกคามโดยใช้คำพูดข่มขู่เพื่อให้เราหยุดเคลื่อนไหว เช่น “ไม่เคลื่อนไหวได้ไหมช่วงนี้ ถ้าเคลื่อนไหวอาจถูกดำเนินคดี” “ถ้าเคลื่อนไหวเดี๋ยวเรียนไม่จบ จบแล้วหางานยากไม่มีงานทำ” ให้เราบอกเจ้าหน้าที่ว่า “การเคลื่อนไหวหรือการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและถูกรับรองไว้ในปฏิญญาสากลระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม”

กรณีถูกเจ้าหน้าที่คุกคามที่บ้านอย่างภานุพงศ์หลังจากเจ้าหน้าที่ไปตามหาภานุพงศ์ที่บ้านในครั้งแรก เขารับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการเช็กความรู้สึกของคนในความครัวก่อน และพยายามอธิบายให้ครอบครัวทราบว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่กระทำถือเป็นการคุกคามตัวเขาเพื่อข่มขู่ทำให้เกิดความกังวล ทำให้กลัวและหยุดเคลื่อนไหว

นอกจากนี้ภานุพงศ์ยังได้อธิบายให้คนในครอบครัวตระหนักว่าเรามีสิทธิที่จะไม่ให้ข้อมูล หรือมีสิทธิที่จะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปหรืออัดวิดีโอ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปติดตามถึงที่บ้าน ครอบครัวมีสิทธิที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในบ้านเนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล และหากจะมีการค้นบ้านจะต้องมีหมายศาลก่อนเท่านั้น

รวมถึงให้โทรแจ้งเขาทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่มาหา และให้ถ่ายรูปหรืออัดวิดีโอไว้แล้วส่งมาให้เขาทันทีเพื่อตีแผ่เรื่องดังกล่าวให้อยู่ในที่สว่าง เพื่อให้สังคมช่วยจับตาและประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

ข้อควรปฏิบัติหลังเผชิญเหตุการณ์ถูกคุกคาม

  1. โพสต์เรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อบันทึกรายละเอียดของเหตุการณ์ลงเฟซบุ๊กหรือสื่อต่างๆ เพื่อให้สังคมร่วมกับจับตาการกระทำของเจ้าหน้าที่
  2. ติดต่อองค์กรสิทธิเพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้น เช่น ศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชน หรือองค์กรสิทธิต่างๆ ที่เราสามารถติดต่อได้
  3. พูดคุยกับเพื่อนในกลุ่มเพื่อแชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อให้ตัวเองผ่อนคลายและเพื่อหาวิธีรับมือในครั้งต่อไป

ความกลัวของเจ้าหน้าที่: สิ่งที่เจ้าหน้าที่รู้สึกกลัวคือการถูกขอชื่อ ยศ ตำแหน่ง สังกัด หรือ การถูกถ่ายรูป หรืออัดวิดีโอเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะขณะมีพฤติกรรมการคุกคามหรือขณะพูดคุยกับนักกิจกรรม เพราะหากมีการเผยแพร่เรื่องราวสู่สาธารณะอาจเกิดกระแสตีกลับจากสังคมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของเจ้าหน้าที่คนนั้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัว:  หลังจากที่ภานุพงศ์ได้อธิบายให้ครอบครัวเข้าใจการเคลื่อนไหวและขั้นตอนของคดีความ รวมถึงวิธีการรับมือกับเจ้าหน้าที่แล้ว ปรากฏว่าครอบครัวรู้สึกผ่อนคลายขึ้น แต่ในช่วงแรกๆ ที่เขายังเป็นนักศึกษาครอบครัวยังมีความกังวลบ้างเรื่องความปลอดภัย แต่เขาได้ใช้วิธีการเช็กความรู้สึกกับคนในครอบครัวและค่อยๆ อธิบาย จนปัจจุบันครอบครัวของเขาเริ่มเข้าใจและไม่ได้มีความกังวลใจต่อการเคลื่อนไหวของเขา รวมถึงสามารถรับมือกับเจ้าหน้าที่ได้เองโดยอัตโนมัติ เช่น ไม่ให้ข้อมูลใดๆ ของภานุพงศ์แก่เจ้าหน้าที่ ถ่ายรูปหรืออัดวิดีโอเมื่อเจ้าหน้าที่มาที่บ้านแล้วส่งให้ภานุพงศ์ทุกครั้ง เป็นต้น

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์: ภานุพงศ์ ศรีธนานุวุฒน์ หรือ “ไนท์ ดาวดิน”, อาคม ศรีบุตรตะ สมาชิกกลุ่มดาวดิน

หมายเหตุ: งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานจากโครงการสกัดความรู้การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย จัดโดย Act Lab เมื่อ ส.ค.-ก.ย. 2564 โดยมุ่งหวังว่าผลงานชุดนี้จะเป็นฐานข้อมูลให้กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมให้เก็บข้อมูลสถิติ

    เราเก็บข้อมูลสถิติซึ่งประกอบด้วย IP Address และอื่นๆ ตามที่ Google analytic เรียกดู

บันทึกการตั้งค่า