วัฒนธรรมรักษาความปลอดภัย (Security Culture)

Security Culture หรือวัฒนธรรมรักษาความมั่นคง เป็นคำเดียวกับที่ฝ่ายรัฐมักใช้เป็นเหตุผลสร้างความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิของประชาชน ซึ่งนักกิจกรรมเองก็รับเอาวัฒนธรรมนี้มาโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ

เนื่องจากปฏิบัติการแต่ละครั้งเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านผู้มีอำนาจจึงไม่แปลกที่จะถูกเพ่งเล็งสะกดติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นพิเศษ เราจึงมักปฏิบัติการท่ามกลางบรรยากาศของความลับ ระแวงสงสัย คอยสังเกตคนโน้นคนนี้ว่าเป็นสันติบาลหรือไม่ เป็นสายข่าวใคร มาจากสายไหนกลุ่มไหน 

วัฒนธรรมรักษาความปลอดภัยหรือ “ปิดลับ” เป็นปัญหาหนึ่งของปฏิบัติการเลยทีเดียวเพราะมันทำให้

  • กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ผู้คนได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจจะมาทำ
  • เราปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความหวาดระแวง แทนที่จะโอบรับอย่างมิตรสหาย จนบ่อยครั้งมีบางคนหลุดออกจากกลุ่มไปอย่างน่าเสียดาย
  • เราปฏิบัติการแต่ในวงแคบๆ เฉพาะคนที่เราไว้ใจเท่านั้น ปฏิบัติการก็ไม่ขยายวงหรือเปิดให้คนอื่นเข้าร่วม
  • เกิดลำดับชั้นขึ้นในกลุ่ม มีวงใน-วงนอก มีชั้นความลับหลายระดับ เพราะการปิดลับนั้นหมายความว่ามีบางคนรู้บางคนไม่รู้ มีคนไม่กี่คนที่รู้ข้อมูลมากกว่าคนอื่นในขณะที่คนอีกมากแทบไม่รู้อะไรเลย สิ่งนี้คือรากฐานของลัทธิชนชั้นนำอันนำไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตยในกลุ่ม

ถ้าเรายังหลีกเลี่ยงวัฒนธรรมนี้ไม่ได้ สิ่งที่เราพึงปฏิบัติคือ

  • เคารพคนอื่น เคารพในความจำเป็นด้านความปลอดภัยของคนอื่น
  • อย่าคิดว่าเขาระแวงเราเป็นการส่วนตัว
  • อย่าเปลี่ยนท่าทีของเราเพียงเพราะคนอื่นมีท่าทีไม่เป็นมิตร
  • ไม่กล่าวหานักกิจกรรมคนอื่น
  • อย่าแสดงให้ใครเห็นว่าเรารู้ว่าใครเป็นคนจัดตั้ง วางแผนหรือนำปฏิบัติการโดยเด็ดขาด อย่าไปคิดว่ามันเท่ที่รู้เรื่องพวกนี้ เรื่องเท่ๆ ที่เราควรทำคือเป็นเอกภาพกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ และถือว่าข้อมูลที่เราได้มาเป็นความลับ ไม่โอ้อวดหรือเที่ยวบอกใคร  ถ้ามีคนถามว่าปฏิบัติการนี้ใครเป็นคนต้นคิดหรือใครจัดตั้งก็ให้เปลี่ยนเรื่องคุย การโกหกตำรวจถือว่าผิดกฎหมายแต่การปฏิเสธจะให้ปากคำไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ถ้าตำรวจถามว่าใครเป็นคนต้นคิดก็ให้บอกว่า “ฉันไม่พูดเรื่องนี้” พูดประโยคนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าอีกฝ่ายจะเบื่อไปเอง
  • พึงระลึกว่ามีสายตำรวจรู้ว่าเรากำลังทำอะไร ถ้าเรายืนยันว่าสิ่งที่เราทำเป็นการแสดงออกตามสิทธิก็ไม่มีอะไรต้องปิดบัง ยิ่งพวกเขารู้มากเท่าไรก็จะยิ่งรู้ว่าพวกเราไม่ใช้ความรุนแรง เป็นประชาธิปไตย และสร้างสรรค์ยิ่งนัก
  • อย่าแชร์ข่าวลือมั่วๆ ระมัดระวังการกระจายข้อมูลข่าวสาร  

Note:  หัวใจของวัฒนธรรมการรักษาความปลอดภัย คือกระจายข้อมูลบนพื้นฐานของสิ่งที่จำเป็นต้องรู้เท่านั้น ในบางกรณีคนทั้งเมืองอาจจำเป็นต้องรับรู้ปฏิบัติการของเราล่วงหน้ามันจึงจะประสบความสำเร็จ แต่ในบางกรณีกุญแจความสำเร็จอยู่ที่อย่าให้คนนอกรู้เรื่องปฏิบัติการนี้ ให้รู้เฉพาะในแวดวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าความปลอดภัยระดับไหนที่เหมาะสม มีข้อตกลงร่วมกัน ต้องระบุเงื่อนไขด้านความปลอดภัยให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น