การดูแลกันและกันหลังปฏิบัติการ

ทุกคนที่เข้าร่วมปฏิบัติการต้องเผชิญกับอำนาจกดขี่ข่มเหงของรัฐ การดูแลจิตใจที่บอบช้ำขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเราเองในระหว่างปฏิบัติการ การได้รับกำลังใจสนับสนุนจากคนอื่น รวมทั้งความหนักเบาของประสบการณ์ที่พบเผชิญ  เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจในภายหลังมักเกิดจากการถูกทำร้ายทางร่างกาย จิตใจและทางเพศ หรือเป็นประจักษ์พยานพบเห็นการทำร้ายผู้อื่น ตลอดจนความหวาดกลัวที่ยืดเยื้อหรือรุนแรง  

ปัจจัยที่อาจทำให้เราเกิดปัญหาด้านจิตใจในภายหลังคือการมีประวัติเคยถูกทำร้าย การไม่ได้รับกำลังใจจากเพื่อนฝูงญาติมิตร การต้องแยกขาดจากผู้อื่นไม่ว่าในระหว่างหรือหลังปฏิบัติการ เนื่องจากการทำร้ายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในวัฒนธรรมของเรา การเรียนรู้ที่จะเยียวยาและนำเอาประสบการณ์เลวร้ายนี้มาเป็นพลังในปฏิบัติการครั้งต่อไปจะช่วยให้เราดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น

เหตุการณ์เลวร้ายส่งผลกระทบต่อแต่ละคนแตกต่างกันไป อาการที่เกิดขึ้นในแต่ละคนก็มีหลากหลายรูปแบบด้วย นี่คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เรามักมองข้ามหรือเข้าใจอาการที่เกิดขึ้นไปแบบผิดๆ สำหรับผู้ที่มีบาดแผลทางจิตใจนั้น ยิ่งพวกเขาได้รับการวินิจฉัยอาการและเยียวยาเร็วเท่าไรก็จะช่วยฟื้นฟูจิตใจได้เร็วขึ้นเท่านั้น

Photo by Diana Polekhina on Unsplash

สัญญาณเตือนที่ควรใส่ใจ

  • ฝันร้าย
  • ภาพอดีตย้อนกลับมาและเกิดภาพหลอน
  • นอนไม่หลับ
  • ไม่อยากเข้าสังคม เก็บตัว
  • ความรู้สึกว่าไม่มีอนาคต
  • ไม่มีสมาธิ
  • ระวังตัวหรือตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ
  • หวาดระแวง
  • ซึมเศร้า
  • ดื่มเหล้า สูบบุหรี่และใช้ยาเสพติดมากกว่าเดิม
  • ขาดเรียนหรือขาดงานบ่อยๆ โดยไม่มีเหตุผล
  • รู้สึกอยากฆ่าตัวตายและไร้เรี่ยวแรงต่อสู้
  • รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง

หากใครก็ตามแสดงอาการที่เป็นสัญญาณเตือนดังกล่าวนี้หลังเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นหลังปฏิบัติการแค่หนึ่งชั่วโมงหรือหลังจากนั้นหนึ่งเดือนก็ตาม เราต้องใส่ใจอย่างจริงจัง บาดแผลทางจิตใจอาจสาหัสยิ่งกว่าเดิมหากถูกละเลยหรือถูกล้อเล่นทำนองว่า “ช่างมันเถอะ ลืมๆ มันไปซะที!”

ข้อปฏิบัติหลังเกิดเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลทางจิตใจ

  1. ถามผู้ได้รับผลกระทบว่าอยากไปหาสถานที่เงียบๆ เพื่อคุยกันเรื่องนี้หรือไม่  อย่าฉุดกระชากลากถูเขาออกไปถ้าเขายังต้องการดำเนินกิจกรรมต่อ  แต่การได้คุยกันทันทีหลังจากเกิดเหตุการณ์เป็นวิธีหนึ่งที่ดีที่สุดในการเยียวยาบาดแผลทางจิตใจให้ลดน้อยลง  เราไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ทุกเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้น  แค่รับฟังก็พอ
  2. ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบได้ติดต่อกับกลุ่มเครือสหายของเขาอีกครั้งและตามหาคนที่เขาเป็นห่วง  การเยียวยาจิตใจจากบาดแผลส่วนหนึ่งคือการค้นพบหนทางอันปลอดภัยที่จะกลับไปเชื่อมโยงกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกตัดขาดออกไป เช่น ความไว้ใจ ความศรัทธา ฯลฯ  สิ่งนี้ทำไม่ได้ด้วยการเพิกเฉยละเลยหรือเห็นว่ามันไม่สำคัญ
  3. ให้ความสำคัญกับเรื่องละอันพันละน้อยที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบฟื้นฟูความรู้สึกถึงศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์อีกครั้ง…การหาสถานที่ให้เขาได้อาบน้ำล้างหน้าล้างตา การพาเขาไปอยู่ในสถานที่ที่เขียวชอุ่มสดชื่น  ให้ถามเจ้าตัวว่าอะไรอย่างไหนที่ช่วยเขาได้ (เพราะเรื่องนี้แตกต่างกันไปตามบุคคลและสภาพแวดล้อม)
  4. คงไม่ต้องบอกว่าการตั้งใจรับฟังอย่างลึกซึ้งมีความสำคัญแค่ไหน มันสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเกิดความมั่นใจอีกครั้งว่าสิ่งที่เขารู้สึกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน ปฏิกิริยาของความทุกข์ใจนั้นเป็นปฏิกิริยาปกติที่ย่อมเกิดขึ้นในเหตุการณ์เช่นนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครควรต้องพบเจอ มันไม่ใช่อาการของคนใกล้บ้าหรือคนอ่อนแอที่ไม่สามารถ “ยืนหยัดต่อสู้”  จงระวังคำพูดประเภท “อย่าขี้แย” อย่าลืมว่าคำพูดแบบนี้มาจากสำนึกแบบปิตาธิปไตยในวัฒนธรรมแบบทหารที่ฝังรากอยู่ในสังคม

การดูแลตัวเองหลังปฏิบัติการ

ในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจ เราควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • กินอาหารดีๆ มีประโยชน์
  • ออกกำลังกาย เพราะเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจมักทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีที่ควรปลดเปลื้องด้วยการออกกำลังกาย
  • ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ อย่างน้อยก็ได้ทำกิจวัตรที่เขาทำเป็นประจำก่อนถูกทำร้ายจิตใจ
  • คอยรับฟังเสมอ ชักชวนให้เขาใช้เวลากับกลุ่มเยียวยาจิตใจกลุ่มเล็กๆ หรืออยู่ตามลำพังหากเขาต้องการเช่นนั้น
  • ผู้ได้รับผลกระทบอาจมีอารมณ์แปรปรวน ควรอดทนและอย่าบังคับให้เขากลับไปเป็นคนเดิมโดยเร็ว
  • ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ทำร้ายจิตใจอย่างร้ายแรง อาจก่อตั้งกลุ่มองค์กรอย่างเป็นทางการเพื่อช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในช่วงเวลา 24-72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุการณ์ การซักถามผู้ได้รับผลกระทบควรกระทำโดยคนที่มีประสบการณ์ด้านนี้ และควรรวบรวมผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เดียวกันให้มาสนับสนุนซึ่งกันและกัน 

ความยากลำบากในการกลับสู่ชีวิตปกติ

เป็นเรื่องยากที่จะกลับมาใช้ชีวิตปกติหลังจากประสบการณ์เข้มข้นระหว่างปฏิบัติการ  มันยากที่จะกลับบ้านไปอยู่เหงาๆ หลังจากความรู้สึกอันแน่นแฟ้นที่มีต่อเพื่อนนักกิจกรรมในระหว่างปฏิบัติการและในคุก มันยากที่จะกลับไปเรียนหนังสือ ทำงานหรือกลับเข้าสู่สถาบันใดๆ ที่มีกฎระเบียบคล้ายคุก จู่ ๆ โลกรอบตัวก็ดูคล้ายคุกจำแลง มีแต่ระบบของการลงโทษและควบคุม

เราอาจรู้สึกเหนื่อยล้า ซึมเศร้า ไม่เพลิดเพลินกับสิ่งต่าง ๆ ที่เคยชอบ รู้สึกถึงความทุกข์ทนของผู้ถูกกดขี่  อาหารไร้รสชาติ การทำงานหรือเรียนหนังสือไร้ความหมาย  เราอาจสูญเสีย สับสนและดำเนินชีวิตตามปกติไม่ได้

นี่เป็นอาการปรกติที่มนุษย์มีต่อความสูญเสีย ความโศกเศร้าและความเครียด มันไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอหรือบกพร่อง ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับสองสามประการที่อาจช่วยเราได้

  • พูดถึงมันโดยเฉพาะกับกลุ่มเครือสหายที่ออกไปปฏิบัติการด้วยกัน หรือกับใครที่เคยผ่านประสบการณ์คล้ายๆ กันมาก่อน  ถ้าเป็นไปไม่ได้ ลองหาเพื่อนสักคนที่เต็มใจรับฟังหรือที่ปรึกษา  เราต้องเล่าเรื่องราวของเราออกมา บางครั้งอาจต้องเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก
  • พักผ่อนเราทุ่มเทพลังงานไปมหาศาล นอนหลับพักผ่อน หรือออกไปหาสภาพแวดล้อมรื่นรมย์ที่มีต้นไม้ใบเขียว นอนบนพื้นหญ้า ฟื้นคืนพลังงาน
  • ชำระล้างทำอะไรบางอย่างในเชิงกายภาพและเชิงสัญลักษณ์เพื่อกำจัดพลังงานมืดของคุก  อาบน้ำขัดผิว ว่ายน้ำในทะเลหรือลำธาร ซักเสื้อผ้า ฯลฯ ทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความตั้งใจอย่างมีสำนึกว่าเราจะชำระล้างพลังงานมืดของคุกออกไปและผุดออกมาเป็นคนใหม่
  • ชุบชูใจ  ถ้าเป็นคนที่มีความเชื่อในเรื่องศาสนา/จิตวิญญาณ นี่คือเวลาของพิธีกรรม  แต่ถ้าไม่มีศรัทธาทางศาสนา ลองหาเวลาทำสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจและชุบชูใจเรา เช่น เที่ยวป่า ดนตรีหรือไปหาเพื่อน
  • เรียนรู้  เราเพิ่งได้รับประสบการณ์ล้ำค่า ตอนนี้เราเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการทำงานของระบบที่เรากำลังต่อสู้  เราได้ลิ้มรสชาติเล็กๆ น้อย ๆ ของความรุนแรงและการกดขี่ที่คนจนและชนกลุ่มน้อยต้องเผชิญทุกวัน คนที่ต้องลงเอยในคุกโดยไม่มีฝ่ายกฎหมายและฝ่ายสื่อสารมวลชนคอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง  หลังจากนี้เราจะไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป
  • เคารพตัวเองและเคารพพวกเราทุกคน สำหรับความกล้าหาญ เข้มแข็งและปวารณาตนที่พวกเราแสดงออกในปฏิบัติการ สำหรับขบวนการที่พวกเราร่วมกันสร้างขึ้น สำหรับการที่เรารับฟังซึ่งกันและกันและต่อสู้เพื่อก้าวข้ามความแตกต่างในหมู่พวกเราเอง พวกเราช่วยกันเปลี่ยนแปลงโลกแล้ว เราควรรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการนี้และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่กอปรด้วยผู้คนที่กล้าหาญ มุ่งมั่นและใส่ใจกัน
  • เดินหน้าต่อไปความโกรธแค้นเป็นพลังผลักดันได้  ความรักก็เช่นกัน  ประสบการณ์ในคุกอาจแสนสาหัส แต่มันก็สร้างความเข้มแข็งให้เราด้วย เราสามารถก้าวออกจากคุกและเข้มแข็งกว่าตอนที่เราก้าวเข้าไป  สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากปฏิบัติการนี้อาจผลักดันเราให้ก้าวไปสู่ขั้นตอนถัดไปพร้อมกับการสร้างขบวนการเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก