ภัควดี วีระภาสพงษ์
เรียบเรียงจาก A Civilian’s Guide to Direct Action,
https://theanarchistlibrary.org/library/crimethinc-a-civilian-s-guide-to-direct-action
ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า ไม่ใช่การยืนยันอำนาจตามอำเภอใจของปัจเจกบุคคล แต่มันเป็นการจัดตั้งในแนวระนาบ และใช้กระบวนการแสวงหาฉันทามติ เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมหรือพยายามสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าเดิม
ความหมายของ “ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า”
“ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า” หรือ Direct Action หมายถึง การแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งพาอาศัยคนกลาง ไม่พึ่งการอ้อนวอนรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ ไม่พึ่งพิงสถาบันภายนอกใดๆ ปฏิบัติการใดๆ ที่ก้าวอ้อมกฎเกณฑ์ข้อบังคับและระบบตัวแทนเพื่อบรรลุเป้าหมายโดยตรงคือปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า ในสังคมที่อำนาจการเมือง อำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทุนและการควบคุมสังคมถูกรวมศูนย์อยู่ในมือชนชั้นนำ ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้ามักถูกขัดขวางหรือบั่นทอน ผู้ที่สนใจในปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้ามักเป็นกลุ่มคนที่ต่อสู้กับอำนาจบังคับบัญชาตามลำดับชั้นและการกดขี่
มีสภาพการณ์นับไม่ถ้วนที่ทำให้เราอยากใช้ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า เช่น ตัวแทนจากบรรษัทข้ามชาติที่น่ารังเกียจมาจัดประชุมในเมืองของเรา เราจึงอยากมีส่วนร่วมในการประท้วงมากกว่าแค่ไปยืนถือป้าย หรือมีบรรษัทข้ามชาติเข้ามาเปิดสาขา ขูดรีดแรงงานและทำลายสิ่งแวดล้อม เราจึงอยากประท้วงหรือขัดขวางพฤติกรรมแย่ๆ ของบรรษัทเหล่านี้ หรือเราอยากจัดกิจกรรมด้านชุมชน เช่นสตรีทปาร์ตี้ ฯลฯ ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าอาจรวมถึงการทำสวนสาธารณะบนที่ดินรกร้างหรือปกป้องสวนสาธารณะด้วยการทำให้รถไถใช้การไม่ได้ การยึดตึกร้างมาทำเป็นบ้านพักคนไร้บ้าน หรือปิดล้อมสำนักงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการลับที่ลงมือร่วมกับเพื่อนฝูงสนิทๆ ไม่กี่คนหรือเป็นปฏิบัติการพร้อมมวลชนเรือนพันเรือนหมื่น องค์ประกอบพื้นฐานของปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าก็เหมือนกันหมด
เริ่มต้น
เลือกว่าจะทำอะไรและวางแผน ถ้าปฏิบัติการของเราเตรียมการได้อย่างเปิดเผย เราก็ควรเริ่มต้นด้วยการจัดประชุมสภาวาจก (Spokescouncil) เพื่อวางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ออกจดหมายเชิญเพื่อนๆ มา หรือออกใบปลิว หรือเดินเคาะประตูบ้านเพื่อบอกกล่าวให้ชุมชนรับรู้ คิดข้อเสนอล่วงหน้าไว้ในใจก่อนเผื่อว่าไม่มีใครเตรียมข้อเสนอมาเลย
ส่วนปฏิบัติการที่จำเป็นต้องปิดลับ ควรระดมสมองในสถานที่ที่ปลอดภัยกับเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้สัก 2-3 คนก็พอ
การระดมสมองอาจเริ่มต้นด้วยประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขหรือกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมที่ต้องการกระทำ ควรรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ กำหนดว่าปฏิบัติการแบบไหนที่เราปรารถนา ใครที่เราต้องการทำงานด้วย เราอาจวางแผนปฏิบัติการระยะสั้นหรือการรณรงค์ระยะยาวก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วการระดมสมองที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดมักไม่ได้จงใจทำให้มันเกิดขึ้น แต่มักเกิดขึ้นระหว่างการคุยกันอย่างไม่เป็นทางการและการคิดอะไรบ้าๆ บอๆ จงเชื่อว่า บางครั้งความคิดที่บ้าบอคอแตกที่สุดอาจกลายเป็นความจริงได้และลองทำดู
ถ้าหากเรากำลังจะเข้าร่วมกิจกรรมมวลชนที่ผู้อื่นเป็นผู้จัดขึ้น เราก็ควรวางแผนไว้ด้วยว่าเราจะเข้าร่วมอย่างไรและจะทำกิจกรรมอะไรเป็นของตัวเอง
ตั้งเป้าหมายและวางลำดับความสำคัญก่อนหลังของเป้าหมายต่างๆ ในปฏิบัติการ ปฏิบัติการของเรามีขึ้น “เพื่อ” ใคร? เราตั้งใจจะพูดกับใคร กับผู้คนที่ผ่านไปมา กับประชาชนที่รับรู้ข่าวสารจากสื่อกระแสหลัก กับเจ้าของบรรษัท กับผู้ถือหุ้น กับตำรวจและรัฐบาล กับสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มผู้มีความคิดก้าวหน้า หรือกับเพื่อนๆ ผู้ร่วมปฏิบัติการด้วยกันเอง?
ปฏิบัติการนี้ตั้งใจจะให้สัมฤทธิผลในเรื่องอะไร? ตั้งใจจะสื่อสารความคิด เรียกร้องให้ประชาชนสนใจความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ให้แรงบันดาลใจแก่คนอื่น รักษาสมบัติส่วนรวม ขัดขวางอะไรบางอย่าง ทำเป็นตัวอย่างให้คนอื่นนำไปประยุกต์ใช้ สร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ร่วมกัน ฯลฯ
การตั้งเป้าหมายของปฏิบัติการไว้ตั้งแต่แรกเริ่มจะช่วยให้ไม่ต้องปวดหัวทีหลัง หากแผนการเกิดเปลี่ยนไปหรือเกิดขัดแย้งกันขึ้นมา
โครงสร้าง
ทำงานใกล้ชิดกับเพื่อนที่เรารู้จัก รูปแบบของปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า ที่ปลอดภัยที่สุดอย่างหนึ่งคือการทำงานเป็นกลุ่มเครือสหาย (affinity group) กลุ่มเครือสหายคือกลุ่มเพื่อนที่ไว้วางใจกันและมีเป้าหมายร่วมกัน การทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลานานจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพอย่างไม่น่าเชื่อ
ในปฏิบัติการขนาดเล็ก สมาชิกของกลุ่มเครือสหายอาจแบ่งหน้าที่กันทำ ส่วนในปฏิบัติการขนาดใหญ่ กลุ่มเครือสหายหลายๆ กลุ่มสามารถร่วมมือกันทำงานเป็น “รวงเถา” (cluster) โดยแต่ละกลุ่มแบ่งหน้าที่กันไป ในกรณีที่มวลชนมีจำนวนมาก กระบวนการแสวงหาฉันทามติจะทำได้ง่ายขึ้น โดยแต่ละกลุ่มเครือสหายส่งตัวแทนมาประชุม กลุ่มเครือสหายที่เกาะกันเป็นรวงเถาสามารถทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลานาน สร้างความไว้วางใจกันและสร้างประสิทธิภาพได้เช่นกัน
ควรใช้ความระมัดระวังในการดึงบุคคลและกลุ่มต่างๆ เข้ามา เมื่อมีแผนการที่จะนำเสนอ ลองนึกดูว่าเราต้องการใช้มวลชนจำนวนเท่าไร เชิญเฉพาะคนที่ไว้ใจว่าจะรักษาความลับได้และเราเต็มใจที่จะทำงานด้วย ใครก็ตามที่เราเชิญมาแต่ลงท้ายไม่ร่วมปฏิบัติการกับเราเท่ากับเพิ่มความเสี่ยงให้เราโดยไม่จำเป็น ดังนั้นเราควรชักชวนทีละคน หรือทีละกลุ่มเครือสหาย เพื่อว่าใครหรือกลุ่มใดที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมกับเรา จะได้ไม่รู้ว่ามีใครอื่นบ้างที่เกี่ยวข้องและไม่รู้ว่าแผนการสุดท้ายคืออะไร
ในการชักชวนนั้น ตอนแรกลองตั้งคำถามทั่วๆ ไปก่อน และอย่าเปิดเผยรายละเอียดของแผนการที่สำคัญมากๆ เช่น เป้าที่เราจะประท้วงหรือวันที่ที่จะจัดกิจกรรม จนกว่าคนที่เราชักชวนพร้อมที่จะผูกมัดตัวเอง เราจึงจะเปิดเผยให้รู้ เนื่องจากพอเราเชิญใครเข้ามาร่วมในแผนการ คนคนนั้นก็มักจะดึงคนอื่นๆ เข้ามาเป็นทอดๆ เราจึงต้องเช็กให้แน่ใจว่าคนที่เราเชิญมามีความระมัดระวังในการไปชวนคนอื่นๆ มาเช่นกัน
ยิ่งมีคนมาร่วมปฏิบัติการกับเรามากเท่าไร เรื่องที่สำคัญมากก็คือ ทุกคนต้องเข้าใจว่ามีข้อผูกมัดมากแค่ไหน มีบางครั้งที่กลุ่มที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการวางแผนปฏิบัติการมักทุ่มเทให้กับแผนการมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ หากกลุ่มตัวตั้งตัวตีนี้อุตส่าห์เตรียมการมาหลายเดือน แล้วอยู่ดีๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่จะมาเข้าร่วมถอนตัวออกไปในนาทีสุดท้าย การลงทุนลงแรงทั้งหมดก็กลายเป็นสูญเปล่า ทุกคนจึงต้องมีความรับผิดชอบและเปิดเผยตรงไปตรงมาตั้งแต่ต้นว่าคนอื่นคาดหวังจากพวกเขาได้มากน้อยแค่ไหน ในขณะเดียวกันกลุ่มที่เป็นตัวตั้งตัวตีก็ควรระมัดระวังในการทำให้กลุ่มอื่นที่มาเข้าร่วมรู้สึกมีส่วนเป็นเจ้าของแผนการนี้ด้วย
ควรมีการกระจายอำนาจภายในกลุ่มอย่างเท่าเทียม การตัดสินใจทุกครั้งควรเป็นฉันทามติที่ทุกคนมีส่วนร่วม ถ้ากลุ่มใหญ่พอก็ควรใช้กระบวนการประชุมแบบแสวงหาฉันทามติอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เพื่อให้มีการรับฟังทุกความคิดเห็นจริงๆ
ในการประชุม เราต้องกำหนดวาระการประชุม เลือกผู้อำนวยการประชุมขึ้นมา 1 คน เพื่อให้การประชุมดำเนินไปตามวาระ และคัดเลือกอีกคนหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่จัดเรียงลำดับผู้นำเสนอและผู้แสดงความคิดเห็น
ยิ่งวางโครงสร้างกระบวนการประชุมได้ดีเพียงใด ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน เราต้องระวังไม่ปล่อยให้พลวัตของการประชุมดำเนินไปอย่างไม่สมดุล เช่น อย่าให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างคนที่มีอภิสิทธิ์มากกว่ากับน้อยกว่า หรือระหว่างผู้จัดงานเจ้าถิ่นกับผู้มาเข้าร่วมจากต่างเมือง ยิ่งทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผนและจัดเตรียมปฏิบัติการ ความทุ่มเทที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จก็ยิ่งมีมากขึ้น กลุ่มที่มีพลวัตภายในที่ดีจะมีประสิทธิภาพมากกว่าปัจเจกบุคคล เมื่อร่วมมือกัน กลุ่มก็จะร่วมกันคิดหาหนทางที่ดีที่สุดในการประยุกต์ใช้ความคิดที่ปัจเจกบุคคลเสนอเข้ามา ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนและสบายใจตลอดโครงการ เราควรปรับความเข้าใจกันทั้งในและนอกโครงสร้างการประชุมที่เป็นทางการ การให้กำลังใจกันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าที่ประสบความสำเร็จ แต่กลับเป็นเรื่องที่มักถูกมองข้าม ประเด็นสุดท้ายคือตั้งสติให้ดีเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเรื่องไม่คาดคิดและความไม่แน่นอน
วางพื้นฐาน
ควรระมัดระวังในการกระจายข้อมูลข่าวสาร วัฒนธรรมการรักษาความปลอดภัยเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยหลีกเลี่ยงความหวาดระแวงกันเองและลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ถ้าเราและเพื่อนๆ มีความรอบคอบก็ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะถูกแทรกซึมหรือถูกเจ้าหน้าที่จับตาดู
หัวใจของวัฒนธรรมการรักษาความปลอดภัยก็คือ กระจายข้อมูลบนพื้นฐานของสิ่งที่จำเป็นต้องรู้เท่านั้น ในบางกรณีคนทั้งเมืองอาจจำเป็นต้องรับรู้ปฏิบัติการของเราล่วงหน้า มันจึงจะประสบความสำเร็จ ส่วนในกรณีอื่นๆ กุญแจความสำเร็จอยู่ที่อย่าให้คนนอกรู้เรื่องปฏิบัติการนี้ ให้รู้เฉพาะในแวดวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าความปลอดภัยระดับไหนที่เหมาะสม รวมทั้งเคารพในความจำเป็นด้านความปลอดภัยของคนอื่นๆ ในแง่ของความปลอดภัยนั้น การตกลงร่วมกันมีความสำคัญไม่ต่างจากการมีความสัมพันธ์ทางเพศ การละเมิดเงื่อนไขของคนอื่นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เราต้องระบุเงื่อนไขด้านความปลอดภัยของเราให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น
ในโครงการที่ต้องการความปลอดภัยระดับสูง อาจต้องใช้การสาบานว่าจะเก็บความลับ อย่าละเมิดข้อตกลงเกี่ยวกับความปลอดภัยเด็ดขาดไม่ว่าปฏิบัติการนั้นจะผ่านไปนานแค่ไหน เมื่อกลุ่มร่วมกันทำงานในโครงการใด ตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนที่มาเข้าร่วมมีคนอื่นในกลุ่มรับประกันว่าเป็นคนที่ไว้ใจได้ และเป็นคนที่เต็มใจให้การเท็จยิ่งกว่าจะส่งเพื่อนในกลุ่มเข้าคุก
ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเราควรดำเนินการตามระดับความปลอดภัยสูงสุดที่กำหนดตกลงกันไว้ เราอาจลดระดับความระมัดระวังลงมาได้บ้างในภายหลัง แต่ถ้าเริ่มต้นก็ขาดความระมัดระวังเสียแล้วก็อาจทำให้พลาดทางเลือกอื่นๆ ไปจำนวนมาก ตรวจสอบดูว่าปฏิบัติการอาจถูกตรวจสอบหรือติดตามด้วยวิธีการใดบ้าง เช่น กล้องวงจรปิด การใช้โทรศัพท์ (ทั้งเบอร์ที่โทรและสิ่งที่พูด) รอยนิ้วมือที่ทิ้งไว้ (เช่นบนถ่านไฟฉายและบนไฟฉาย) สถานที่ที่ไปและคนที่พบเจอ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับสถานที่ประชุม สิ่งที่ทิ้งลงถังขยะและไฟล์ในคอมพิวเตอร์ สร้างรหัสขึ้นมาและเตรียมพยานสำหรับอ้างที่อยู่ไว้ในกรณีที่จำเป็น
เตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับทั้งในระหว่างและหลังจากปฏิบัติการ ทุกคนที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการควรรับรู้และเตรียมตัวสำหรับความเสี่ยง รวมทั้งข้อหาอาญาที่อาจโดนถึงตัวด้วย เรื่องสำคัญคือ รู้สึกพร้อมแค่ไหนก็ทำแค่นั้นอย่าทำเกินกว่านั้นเพราะถ้าเกิดบาดเจ็บหรือถูกจับหรือมีเรื่องเดือดร้อนอื่นๆ ในการร่วมปฏิบัติการในระดับความเสี่ยงที่ไม่ได้เตรียมใจไว้ผลกระทบที่ตามมาอาจเลวร้ายมาก วิธีที่ดีกว่าคือเริ่มต้นทีละน้อย สะสมประสบการณ์การเข้าร่วมในปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าอย่างยั่งยืน ทำกิจกรรมที่ต่อเนื่องไปได้ชั่วชีวิต ดีกว่ากระโจนเข้าไปทำกิจกรรมแบบบุ่มบ่าม เจอประสบการณ์แย่ๆ แล้วก็เลิกทำกิจกรรมไปเลย
ถ้าปฏิบัติการนั้นอาจทำให้ถูกตำรวจจับ เราควรเตรียมการสนับสนุนด้านกฎหมายไว้สำหรับผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย
- หมายเลขโทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย
- ผู้สังเกตการณ์ด้านกฎหมายที่คอยตรวจสอบติดตามและบันทึกการทำงานของตำรวจ
- เงินประกันตัว
- ทนายความที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกจับกุมทันทีและว่าความให้ในศาล
- รวมทั้งกลุ่มคนที่พร้อมจะให้การสนับสนุนด้านกำลังใจ การเงิน และการเดินทางระหว่างการดำเนินคดีในศาล
ผู้ที่จะให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายควรเปิดสายรับโทรศัพท์ตลอดเวลาที่มีปฏิบัติการ อย่าลืมว่าบ่อยครั้งที่เราไม่อาจใช้มือถือโทรออกมาจากคุก ถ้ากลัวจะลืมหมายเลข ควรใช้ปากกาแบบลบออกไม่ได้เขียนหมายเลขไว้บนร่างกาย คนที่รับโทรศัพท์ตามหมายเลขความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ควรรู้จักชื่อเต็มของผู้ร่วมกิจกรรมที่อาจถูกจับเพื่อจะได้ตรวจสอบสถานะของพวกเขาได้
ควรศึกษากระบวนการและเอกสารที่ต้องใช้ในการประกันตัว จำนวนเงินที่ต้องใช้ ฯลฯ ใครก็ตามที่มีโรคประจำตัวและต้องกินยาเป็นประจำ ควรพกยาติดตัวไว้หรือเตรียมใบรับรองแพทย์ที่ระบุยาที่ต้องใช้ติดตัวไว้ด้วย
หาทนายความที่เข้าใจและไว้ใจได้เอาไว้ เราอาจต้องติดต่อเตรียมไว้หลายคนสำหรับปฏิบัติการใหญ่ๆ ควรสืบดูว่าทนายความคนไหนบ้างที่เคยทำคดีคล้ายๆ กันนี้มาก่อน เราอาจติดต่อทนายความไว้ล่วงหน้า ระบุวันเวลาที่อาจต้องขอความช่วยเหลือ แต่อย่าบอกรายละเอียดของปฏิบัติการให้ทนายความรับรู้ เพราะอาจทำให้ทนายความมีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิด เพื่อให้ทนายความทำงานได้ง่าย จงอย่าดึงทนายความเข้ามาพัวพันกับอะไรก็ตามที่ขัดต่อตัวบทกฎหมาย
ชุมชนหรือกลุ่มใดที่สมาชิกมีโอกาสเสี่ยงจะถูกจับสูง ควรเตรียมเงินประกันตัวไว้ล่วงหน้า นี่จะช่วยประหยัดเวลาและพลังงานได้มากในยามฉุกเฉิน เราอาจเปิดการแสดงเพื่อเรี่ยไรเงิน กันเงินกำไรจากร้านอินโฟช็อป (ร้านค้าของนักกิจกรรม) เอาไว้ ขอเงินบริจาคจากผู้มีกำลังทรัพย์ที่เห็นด้วยกับปฏิบัติการ ฯลฯ เรื่องสำคัญคือเงินทุนสำหรับประกันตัวนี้ต้องเก็บไว้กับคนที่รอบคอบ ไว้ใจได้และตามตัวได้ง่าย นอกจากนี้อย่าลืมคิดไว้ล่วงหน้าว่า ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นนั้นเราควรใช้สื่อมวลชนอย่างไร ในบางคดีเราควรเรียกร้องความสนใจจากสื่อมากๆ ส่วนในบางคดีเราควรดำเนินการเงียบๆ เราต้องคิดให้ดีว่าในแต่ละกรณีนั้นวิธีไหนจึงจะให้ประโยชน์สูงสุด
ตั้งเป้าให้แน่ชัดว่าเราต้องการเป็นข่าวมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ควรตกลงกันไว้แต่เนิ่นๆ ก่อนปฏิบัติการ ระหว่างที่อยู่ในช่วงกำหนดและจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย เราควรคิดดูให้ดีว่าเราต้องการเป็นข่าวมากน้อยแค่ไหน ต้องการเป็นข่าวในสื่อประเภทไหน และจะเป็นข่าวหรือหลีกเลี่ยงการเป็นข่าวอย่างไร วิธีการอาจหมายถึงการส่งข่าวออกไปตามสื่อต่างๆ (ใคร อะไร เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม) หรือเขียนแถลงการณ์ เลือกโฆษกที่จะเป็นตัวแทนในการแถลงข่าวโครงการต่อสื่อ เชิญนักข่าวจากสำนักข่าวกระแสหลักหรือนักข่าวอิสระมาทำข่าวปฏิบัติการหรือมางานประชุมแถลงข่าว โทรสารรายละเอียดหรือโทรศัพท์ไปที่สำนักข่าว เสนอตัวว่าจะให้สัมภาษณ์ (อาจพบนักข่าวอย่างเปิดเผยหรือให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยไม่เปิดเผยตัว) หรือให้สมาชิกในกลุ่มเป็นคนถ่ายทำข่าวเอง ในกรณีที่ไม่ต้องการเป็นข่าว มันอาจหมายถึงมอบหมายให้ผู้ร่วมปฏิบัติการคนใดคนหนึ่งมีหน้าที่สอดส่องและคอยห้ามไม่ให้ช่างภาพถ่ายภาพผู้ที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการ
ถ้าต้องสื่อสารกับสื่อมวลชน จงเรียบเรียง “ประเด็นในการพูด” เอาไว้ล่วงหน้า รวมถึงเตรียมคำคมและวลีเด็ดต่างๆ ไว้ให้โฆษก โฆษกต้องพูดย้ำประเด็นจนแน่ใจว่ามันจะกลายเป็นข่าว ควรให้เอกสารแก่ผู้สื่อข่าวน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจะได้ควบคุมเอกสารที่ผู้สื่อข่าวจะนำไปใช้ได้เต็มที่ คอยตรวจสอบดูว่าผู้สื่อข่าวคนใดมีแนวโน้มจะเขียนข่าวในแง่บวกให้เราแล้วเข้าหาให้ถึงตัวเขาโดยตรง ตั้งเว็บไซต์หรือใช้เว็บไซต์ที่มีอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้พยายามแทรก url ของเว็บไซต์ให้เข้าไปอยู่ในเนื้อข่าว เพื่อว่าผู้ชมหรือผู้อ่านข่าวจะได้ตามมาที่เว็บไซต์ของเรา เราอาจให้ข้อมูลแก่สาธารณชนโดยตรง โดยอาศัยโปสเตอร์ สถานีวิทยุแบบลักลอบ ส่งจดหมายทางไปรษณีย์ หรือออกไปคุยตามบ้าน
ถ้าปฏิบัติการนั้นต้องการความปลอดภัยสูง จงส่งแถลงการณ์ออกไปด้วยคอมพิวเตอร์สาธารณะที่ไม่ทิ้งหลักฐานว่าใครเป็นคนใช้ จงระวังว่าอุปกรณ์ที่เราใช้อาจชี้ตัวเราให้ตำรวจได้ ยกตัวอย่างเช่นกล้องถ่ายรูปดิจิตอลอาจฝังรหัสไว้ในภาพถ่ายจนระบุได้ว่ากล้องตัวไหนที่ถูกใช้ถ่ายภาพ
เตรียมตัว
การวางแผนอย่างรอบคอบคือหัวใจของปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย มุ่งมั่นที่เป้าหมายและความสำคัญก่อนหลัง พร้อมกับคำนึงถึงทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ ลองวางแผนและเปรียบเทียบยุทธศาสตร์แบบต่างๆ ชั่งน้ำหนักความเสี่ยงและข้อดีของยุทธศาสตร์แต่ละแบบ เลือกหนทางที่ปลอดภัยที่สุดที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และไตร่ตรองให้แน่ใจว่าตัวเองพร้อมกับความเสี่ยงในหนทางที่เลือก มักปรากฏว่าขณะที่กระบวนการวางแผนดำเนินไป โครงการนั้นๆ มักมีความทะเยอทะยานและเสี่ยงอันตรายมากขึ้นๆ จนกระทั่งผู้เข้าร่วมบางคนเริ่มตั้งข้อสงสัย ถ้ามาถึงจุดนี้เราควรลดระดับแผนการลงมา ทำให้มันรอบคอบปลอดภัยมากขึ้นหรือลดขนาดให้เล็กลงเพื่อให้ปฏิบัติการเกิดขึ้นได้จริง
มีปัจจัยมากมายนับไม่ถ้วนที่ควรพิจารณาระหว่างวางแผน เราต้องเลือกยุทธวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในบริบทของสถานการณ์สังคมและการเมืองในขณะนั้นๆ เราต้องเลือกสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปฏิบัติการและคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ ทั้งหมด รวมทั้งต้องเลือกวันเวลาที่เหมาะสมที่สุด เราต้องคำนึงถึงประชาชนคนอื่นๆ ที่อาจอยู่ในบริเวณนั้น พวกเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร พวกเขาอาจเห็นด้วยกับปฏิบัติการของเรา หรืออาจไม่พอใจจนเข้ามาห้ามปรามแทรกแซงกิจกรรมของเรา เราต้องประสานเวลาของกิจกรรมส่วนต่างๆ คำนวณว่าแต่ละกิจกรรมใช้เวลานานเท่าไร และคิดไว้ล่วงหน้าว่าผู้เข้าร่วมปฏิบัติการจะสื่อสารกันอย่างไร
เมื่อต้องคาดการณ์ถึงปฏิกิริยาของผู้อื่น เช่นตำรวจ เราต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อพวกเขาด้วย เช่น ตำรวจเดาแผนที่เราวางไว้ได้หรือเปล่า หรือเรามีอะไรที่ทำให้พวกเขาประหลาดใจ ถ้าเราถือไพ่เหนือกว่าบางอย่างที่พวกเขาคาดไม่ถึง มันจะทำได้นานแค่ไหน กิจกรรมนี้จะได้รับความสนใจมากหรือเปล่า คนอื่นจะเข้าใจได้ทันทีหรือเปล่าว่าพวกเรากำลังทำอะไร มีประชาชนชนชั้นกลางหรือนักข่าวอยู่ในบริเวณนั้นบ้างไหม และถ้ามีคนเหล่านี้อยู่ด้วยจะทำให้การตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจลดความรุนแรงลงหรือไม่ ยุทธศาสตร์ของตำรวจน่าจะเป็นอย่างไร ผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้ไม้แข็งกับเราหรือหลีกเลี่ยงการปะทะ พวกตำรวจสื่อสารกันได้ดีแค่ไหน เคลื่อนที่เร็วแค่ไหน ตั้งกำลังอยู่ตรงไหนและจะใช้เส้นทางไหน อย่ามองข้ามปัญหาพื้นฐานของการเดินทาง เช่นการขนส่งผู้คนหรือการสื่อสารกันในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน อย่าลืมหาทางหนีทีไล่เพื่อเอาตัวรอดไว้ด้วย
เนื่องจากการปฏิบัติจริงมักไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้เป๊ะๆ เรื่องสำคัญคือเราต้องมีแผนสำรองเผื่อไว้สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป เช่น “ถ้ามันเป็นอย่างนี้ๆ เราจะทำอย่างนี้ๆ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นๆ เราจะทำอย่างนั้นๆ” ลองตั้งเป้าหมายไว้ในใจสักสองสามอย่าง ในกรณีที่เป้าหมายแรกที่วางไว้เกิดเป็นไปไม่ได้ขึ้นมา การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการสื่อสารและการตัดสินใจไว้ล่วงหน้าจะช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นแตกต่างจากที่เราคิดไว้ตอนแรก
เราต้องระวังไม่ทำให้ใครก็ตามตกอยู่ในความเสี่ยงเนื่องจากปฏิบัติการของคนอื่น คนที่ถูกตำรวจจับอาจโดนตั้งข้อหาที่รุนแรงที่สุด ดังนั้นเรื่องสำคัญคือเราต้องพาผู้ร่วมปฏิบัติการที่เสี่ยงออกมาจากพื้นที่อย่างปลอดภัย รวมทั้งไม่ปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งโดนตั้งข้อหาร้ายแรงตามลำพัง ในบางกรณีเราอาจประสานกลุ่มปฏิบัติการที่มีส่วนร่วมหลากหลายระดับ กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติการทุกคนรับรู้เป้าหมายใหญ่ร่วมกัน แต่มีเพียงไม่กี่คนที่รู้รายละเอียดที่สำคัญที่สุด เช่นใครคือคนที่ลงมือปฏิบัติการที่เสี่ยงที่สุด เป็นต้น
เราต้องเตรียมตัวสำหรับผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าๆ กับผลลัพธ์ที่แย่ที่สุด ไอเดียใหม่ๆ ดีๆ มักล้มเหลวเพราะเรามักไม่ผลักดันมันมากพอ ส่วนไอเดียเก่าๆ เดิมๆ มักล้มเหลวเพราะทุกคนคุ้นเคยกับมันมากเกินไป โดยเฉพาะพวกตำรวจ บางครั้งผลลัพธ์ที่ดีที่สุดมาจากการประยุกต์ยุทธวิธีเดิมๆ ในสิ่งแวดล้อมที่แปลกออกไป ลองค้นดูกิจกรรมต่างๆ ในอดีต กิจกรรมที่มีปฏิบัติการคล้ายๆ กัน ในบริบทคล้ายๆ กัน การศึกษาค้นคว้าจะช่วยชี้แนะให้เราได้มาก ยิ่งเราสั่งสมประสบการณ์นานปีขึ้น รวมทั้งเรียนรู้จากความสำเร็จและล้มเหลวของคนอื่น เราก็จะยิ่งพัฒนาความเชี่ยวชาญในการคาดการณ์และเตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ร้อยแปดได้ดีขึ้น
พอวางแผนเรียบร้อยแล้วเราควรเขียนแผนผังกำหนดการไว้จนถึงวันที่ลงมือปฏิบัติการ โดยนับย้อนหลังจากวันปฏิบัติการใหญ่เพื่อกำหนดเส้นตายว่าจะต้องทำอะไรเตรียมอะไรให้เสร็จเรียบร้อยบ้าง
ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผน เราต้องคำนวณว่าต้องใช้ทุนรอน วัตถุดิบและทรัพยากรอื่นๆ เท่าไรและจะหามาได้อย่างไร ถ้าความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด เราก็ต้องหาสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้มาในลักษณะที่สืบสาวกลับไปถึงตัวเราไม่ได้
ทุกคนควรเตรียมเสื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับปฏิบัติการ รวมทั้งใส่เสื้อผ้าที่แตกต่างกันซ้อนทับไว้หลายๆ ชั้น ในกรณีที่จำเป็น เช่น ถ้าปฏิบัติการต้องสวมชุดดำก็ควรใส่เสื้อผ้าสีอื่นซ้อนไว้ข้างใน เผื่อกรณีที่จำเป็นต้องถอดเสื้อดำออกเพื่อไม่ให้ตำรวจจำได้ หรือถ้ารู้ว่าตำรวจจะใช้แก๊สน้ำตาก็ควรเตรียมเสื้อผ้าไปเปลี่ยนด้วย ในกรณีที่ทุกคนต้องสวมเสื้อผ้าสีดำเพื่อไม่ให้ตำรวจจำได้ว่าใครเป็นใคร จงตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีเสื้อผ้าของคนไหนมีลักษณะสะดุดตาจนบ่งชี้ตัวตนได้
ถ้าเวลามีความสำคัญควรตรวจสอบให้ดีว่านาฬิกาของทุกคนตั้งเวลาตรงกัน ตรวจสอบทุกอย่างซ้ำสองเพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยก่อนเส้นตาย ถ้าทำได้ก็ลองซักซ้อมดูก่อน อาจซ้อมจริงหรือซ้อมด้วยการทำความเข้าใจปากเปล่าก็ได้ ถ้าผู้ร่วมปฏิบัติการไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ อย่าลืมแจกแผนที่ ถ้าทำได้ก็ควรนำอุปกรณ์และข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปไว้ในพื้นที่ก่อนปฏิบัติการจริง แต่ถ้าทำเช่นนั้นก็ต้องระวังอย่าให้ความลับรั่วไหลออกไป
ก่อนลงมือปฏิบัติการควรศึกษาพื้นที่อย่างละเอียด วาดแผนผังเส้นทางเข้าออก มองหาที่ซ่อนตัว อุปสรรคสิ่งกีดขวาง เป้าหมายและกล้องวงจรปิด (รวมทั้งกล้องวงจรปิดตามตู้เอทีเอ็มและไฟจราจรด้วย) คำนวณว่าต้องใช้เวลาเดินทางนานเท่าไรจึงจะไปถึงจุดหมายที่วางไว้ สถานีตำรวจอยู่ใกล้ไกลแค่ไหน ตำรวจต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะไปถึงที่นั่น เราจะถ่วงเวลาตำรวจได้นานแค่ไหน มีใครอื่นอีกบ้างที่อยู่ในพื้นที่นั้น
ระหว่างออกไปสำรวจพื้นที่ เราต้องระวังอย่าให้ตัวเองเป็นจุดสนใจหรือทิ้งหลักฐานที่ชัดเจนไว้ว่าเราไปที่นั่น เราควรออกไปสำรวจพื้นที่ในเวลาเดียวกับที่วางแผนปฏิบัติการไว้ และถ้าทำได้ก็ควรตรวจสอบอย่างรวดเร็วอีกครั้งก่อนปฏิบัติการจริงว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถ้าปฏิบัติการของเราเป็นภารกิจที่ค่อนข้างเสี่ยง เช่น ปีนหลังคาชันๆ เราก็ควรซ้อมจริงก่อนปฏิบัติการ
เราสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากรูปถ่าย แผนที่และโบรชัวร์ต่างๆ แผนที่ทางอากาศหาได้ทางอินเทอร์เน็ต ในบางกรณีเราอาจหาข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลบริการนักท่องเที่ยว หรือหาข้ออ้างไปสอบถาม (เช่นอ้างว่าเป็นนักศึกษามาทำรายงานเป็นต้น) หรืออาจให้ไกด์พาทัวร์ เมื่อรวบรวมข้อมูลได้มากพอแล้วมันจะมีประโยชน์มากถ้าเราสังเคราะห์พื้นที่ส่วนต่างๆ ที่สำคัญ แล้วร่างเป็นแผนที่สำหรับใช้ในปฏิบัติการ หลังจากนั้นควรระมัดระวังในการกำจัดเอกสารต่างๆ ให้มิดชิดปลอดภัย
กำหนดบทบาทต่างๆ ที่จำเป็นในการปฏิบัติตามแผน และจัดคนรับผิดชอบในตำแหน่งต่างๆ ให้ครบถ้วน หน้าที่ต่างๆ มีตั้งแต่ กองเฝ้าระวัง กองสอดแนม ฝ่ายประสานงานกับตำรวจ โฆษกคอยตอบคำถามสื่อมวลชน สื่อนอกกระแสที่อยู่ภายในกลุ่มของพวกเราเอง ฝ่ายประสานงานและช่วยเหลือด้านกฎหมาย ผู้สังเกตการณ์ด้านกฎหมาย ทีมแพทย์พยาบาล ฝ่ายสันทนาการ ฝ่าย “เบี่ยงเบนความสนใจ” เช่นกลุ่มที่ปลอมตัวเป็นคนสัญจรไปมาและพร้อมที่จะเข้ามาแทรกแซงเมื่อจำเป็น เป็นต้น คนขับรถ ฝ่ายส่งกำลังบำรุง แนวหลังที่คอยรับข้อมูลและช่วยตัดสินใจในเชิงยุทธวิธี และแนวหน้าที่ทำหน้าที่ปฏิบัติการจริง
ในบางกรณีควรมีกำลังสำรองเตรียมไว้สำหรับตำแหน่งที่สำคัญๆ เผื่อว่าในนาทีสุดท้ายอาจมีบางคนที่มาเข้าร่วมไม่ได้ เรื่องนี้ยิ่งจำเป็นถ้าเราไม่รู้ล่วงหน้าว่าปฏิบัติการจะเกิดขึ้นวันไหนแน่ๆ เช่น การเตรียมตัวประท้วงการก่อสงครามที่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ เป็นต้น
ถ้าปฏิบัติการของเราเกิดขึ้นระหว่างหรือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ใหญ่กว่า มันก็อาจมีการประชุมใหญ่ที่กลุ่มต่างๆ มาประสานงานและประสานความเข้าใจกัน แต่การประชุมแบบนี้มักกินเวลาและพลังงานมาก ดังนั้นก่อนไปร่วมประชุม เราต้องคิดให้ชัดเจนก่อนว่าเราจะทำอะไรและมีเป้าหมายอะไร เราจะลงมือปฏิบัติการท่ามกลางนักกิจกรรมจำนวนมากหรือแยกโดดเดี่ยวไปจากคนอื่น เราต้องคำนึงว่ามันมีผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไรบ้าง ทำให้นักกิจกรรมคนอื่นเป็นอันตรายหรือเปล่า ยั่วยุตำรวจให้เข้ามาปราบหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้นนักกิจกรรมคนอื่นจะยอมรับได้ไหม กิจกรรมของเราจะทำให้นักกิจกรรมคนอื่นทำงานยากขึ้นในบางชุมชนหรือเปล่า เราควรเจรจาต่อรองหรือสร้างความมั่นใจแก่คนอื่นก่อน ระหว่าง หรือหลังปฏิบัติการไหม
เราต้องยึดมั่นในข้อตกลงที่ทำกับกลุ่มอื่น นักกิจกรรมคนอื่นเต็มใจที่จะช่วยเราโดยที่เขาอาจรู้หรือไม่รู้รายละเอียดของสิ่งที่เรากำลังจะทำ ถ้าเราพิสูจน์ตัวว่าน่าเชื่อถือและรู้จักคิดถึงคนอื่น เราก็จะสร้างพันธมิตรและความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มได้
ระหว่างและหลังปฏิบัติการ
ตื่นตัว
เราควรตื่นตัวตลอดการปฏิบัติการ ความตื่นตัวเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ปฏิบัติการประสบความสำเร็จ บ่อยครั้งที่บรรยากาศและเงื่อนไขต่างๆ แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องเท่าทันกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัว และคิดไว้ล่วงหน้าว่าจะจัดการต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีรถตำรวจแล่นมาสักคัน มันเป็นเรื่องใหญ่หรือเปล่า? แล้วถ้ามาสิบคันล่ะ? การที่ตำรวจในเมืองนี้เดินตามขบวนประท้วงไปทั่วเมืองเป็นเรื่องปรกติธรรมดาหรือเปล่า? แม้ว่าเราไม่มีทางรู้แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่การสมมติเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเป็นไปได้ในทุกกรณีไว้ล่วงหน้า และคิดไว้ก่อนว่ากลุ่มของเราจะจัดการกับมันอย่างไร ก็จะช่วยให้ทุกคนมีความคิดชัดเจนว่า เมื่อสถานการณ์นั้นเกิดขึ้นเราควรรับมืออย่างไรและไม่ควรตื่นตูมอย่างไรด้วย
เวลาที่เราแจ้งข้อมูลแก่คนอื่นๆ ว่าสถานการณ์พลิกผันไปอย่างไร จงบอกแต่ข้อมูลดิบ ไม่ใช่บอกข้อสรุปที่ตัวเองคิดเองเออเอง เช่น เราควรบอกว่า “ตำรวจกำลังใส่หน้ากากกันแก๊สน้ำตา” ไม่ใช่บอกว่า “ตำรวจกำลังจะยิงแก๊สน้ำตาใส่เรา!” เพื่อที่ว่าคนอื่นจะได้คิดหาข้อสรุปด้วยตัวเอง พยายามอย่าตื่นตกใจและอย่าสูญเสียการควบคุมตัวเอง
การสื่อสาร
สื่อสารให้คนอื่นรับรู้ข้อมูลเสมอ ระหว่างปฏิบัติการ กองสอดแนมอาจติดตามความเคลื่อนไหวในพื้นที่ เช่น การมาถึงของตำรวจ ความเคลื่อนไหวของฝูงชน กิจกรรมของคนอื่นในบริเวณใกล้เคียงและพื้นที่ปลอดภัย พวกเขาอาจใช้ระบบสื่อสารต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ การส่งเมสเสจ วิทยุติดต่อ หรือนกหวีด การใช้สัญญาณเสียงหรือภาพ เช่นแตรรถยนต์หรือพลุ ก็มีประโยชน์เช่นกัน การใช้เครื่องดักฟังวิทยุตำรวจมีประโยชน์ในการติดตามการสื่อสารของฝ่ายตำรวจ เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกองสอดแนมอาจรายงานใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มย่อยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในศูนย์บัญชาการ ในกิจกรรมขนาดใหญ่ กองสอดแนมโทรศัพท์เข้ามารายงานที่ศูนย์ข้อมูลของกองบัญชาการ และนักกิจกรรมคนอื่นก็โทรศัพท์เข้ามาสอบถามข้อมูลได้
ถึงแม้อุปกรณ์สื่อสารช่วยเพิ่มประสิทธิภาพก็จริง แต่มันก็เพิ่มความเสี่ยงของการถูกดักฟังมากขึ้น เราอาจใช้รหัสและนามแฝง แต่เราต้องเลือกรหัสให้ดี รหัสที่ซับซ้อนเกินไปทำให้ลืมง่าย และหากต้องขึ้นโรงขึ้นศาล อัยการอาจอ้างว่ารหัสของเราหมายถึงปฏิบัติการที่ร้ายแรงกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้มันจะมีประโยชน์อย่างยิ่งถ้าเราเตรียมสัญญาณ “ยกเลิก” กิจกรรมไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินด้วย
การสลายตัว
เราควรสลายตัวขณะได้เปรียบ การสลายตัวอย่างปลอดภัยมักเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามมากที่สุดในการวางแผนปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า เราควรเตรียมยุทธศาสตร์การสลายตัวไว้ล่วงหน้า ถ้าเราอยู่ในกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะเมื่ออยู่รวมกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการวางแผน เราต้องคำนึงถึงการหลีกเลี่ยงจิตวิทยาฝูงชนที่ทำให้ผู้ชุมนุมยังดันทุรังชุมนุมต่อไปทั้งๆ ที่ควรสลายตัวได้แล้ว เราควรรู้ว่าเมื่อไรที่เราอยู่ในฐานะได้เปรียบและเมื่อไรควรเลิก เมื่อไรที่ควรวิ่งเอาตัวรอดและเมื่อไรควรเดินอย่างไม่อนาทรร้อนใจ ควรโยนทิ้งหลักฐานทุกอย่างที่ตำรวจจะนำมาใช้เอาผิดเราได้ ถ้าทิ้งในที่ที่ไม่มีใครหามันเจอได้ยิ่งดี ควรรอจนแน่ใจว่าไม่มีใครจับตาดูแล้วจึงค่อยเปลี่ยนเสื้อผ้า
ถ้าทำได้ หลังเลิกปฏิบัติการแล้วควรมารวมตัวกันในสถานที่ปลอดภัยสักแห่งเพื่อดูว่าทุกคนยังอยู่กันครบหน้า มีใครบ้างที่ต้องการความช่วยเหลือ รวบรวมเงินประกันตัว ติดต่อขอความช่วยเหลือจากภายนอก เขียนแถลงการณ์ส่งให้สื่อมวลชน รวบรวมข้อมูลและเอกสารเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกจับกุม เป็นต้น
สรุปงานปิดท้าย
หลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการ เราควรกลับมารวมกลุ่มกันใหม่อีกครั้งเพื่อพูดคุยถกเถียงกันว่า มีอะไรบ้างที่ได้ผลดีและมีบทเรียนอะไรบ้างที่ต้องเรียนรู้ หลังปฏิบัติการควรทำลายหลักฐานทุกอย่างที่อาจถูกตำรวจนำมาใช้ตั้งข้อหา ควรเก็บเครื่องมือที่เกี่ยวพันกับปฏิบัติการไว้ในที่ซ่อนนอกบ้าน พบปะกันในสถานที่ปลอดภัยและทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ติดตามควันหลงต่างๆ เช่น การช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีในศาล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่สาธารณชนว่าเรามีเป้าหมายและความคิดอะไรเบื้องหลังปฏิบัติการ รวมทั้งหาทางแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ฉลองชัยชนะ วิจารณ์กันและกันอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้จากความผิดพลาดและวางแผนสำหรับโครงการครั้งต่อไป